"ผู้สมัคร ส.ก.รวมไทยยูไนเต็ด" ประสานเสียง กระจายอำนาจ ทวง กฟน.-กปน. คืน กทม.
ผู้สมัคร ส.ก.รวมไทยยูไนเต็ด ประสานเสียง ทวงคืน "กฟน.-กปน." คืน คนกรุง ชี้ กระจายการบริหาร ปลดล็อก ปชช. ติดโซล่าเซลล์ ขายไฟคืนได้ พัฒนา "น้ำประปา" ดื่มได้ ทุกพื้นที่
พรรครวมไทยยูไนเต็ด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คของพรรค ระบุว่า ทวงคืนสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุง โดยมีรายละเอียดว่า ผู้สมัครสมาชิกกรุงเทพมหานคร (ส.ก.)ในนามพรรครวมไทยยูไนเต็ด ได้แก่ นายกอบกฤต สุขสถิตย์ ผู้สมัครส.ก. เขตปทุมวันเบอร์ 7, น.ส.ภัทรพร ชุติวาลนันท์ ผู้สมัคร สก. เขตคลองสาน เบอร์ 7 และ น.ส.ริสา แซ่ฮึง ผู้สมัคร สก. เขตบางคอแหลม เบอร์ 3 ต่างตระหนักถึงความสำคัญของบทบาท ส.ก. ในฐานะกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นในการดูแลบริหารจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนมากที่สุดตาม พ.ร.บ. กระจายอำนาจ ฯ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดความมั่นคงและความสะดวกในการบริหารงาน ที่การบริหารงานแบบรวมศูนย์ไม่อาจตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชนในด้านการบริการ และการอำนวยประโยชน์ได้
โดยในปี 62 มีรายงานถึงเงินกําไรของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การประปานครหลวง (กปน.) ออกมาว่า กฟน. มีกำไร 8,400 ล้านบาท และ กปน. กำไรอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท โดยคนกรุงเทพฯ ถือเป็นผู้บริโภคใหญ่ที่สุด คำถามที่เกิดขึ้นคือ กำไรจากสาธารณูปโภคพื้นฐานเหล่านั้น กทม. ไม่สามารถนำกลับมาใช้เพื่อพัฒนาเมืองและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯได้เลย
ทั้งนี้ นายกอบกฤต ระบุว่า การกระจายการบริหารงานจากศูนย์กลางมาอยู่ที่พื้นที่ จะทำให้มีการบริหารงานต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น การที่การจัดการไฟฟ้าและประปาจะมาอยู่ในมือของกทม. จะทำให้การบริหารงานและการจัดการไฟฟ้าและประปาตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่มากขึ้น ไฟฟ้าพลังงานทดแทนสามารถดึงมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ การเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำประปาให้ดื่มได้และครอบคลุมทุกพื้นที่
ขณะที่ น.ส.ภัทรพร ระบุว่า ประชาชนทั่วไปต่างก็พร้อมที่ปรับตัวมาใช้พลังงานทางเลือก แต่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารงานของภาครัฐบางส่วนที่ส่งผลให้การตื่นตัวของประชาชนในการใช้พลังงานทางเลือกน้อยลง การขายคืนไฟจากการลงทุนของประชาชนในการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ดูจำกัดด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดังนั้น การที่จะผลักดันให้มหานครอย่างกทม. เข้ามามีอำนาจในการบริหารการไฟฟ้าด้วยตัวเอง คงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้มากที่กว่าการกำกับดูแลจากส่วนกลาง
“มหานครกรุงเทพ ต้องการอำนาจในการพัฒนาตนเองให้ครอบคลุมในทุกด้าน แต่ในปัจจุบันการที่กรุงเทพฯ จะปรับตัวให้เป็นเมืองสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังติดปัญหาอยู่หลายส่วนหนึ่งในนั้น คือ กทม.ไม่มีอำนาจในการเข้าไปดูแลสาธารณูปโภคพื้นฐานของกทม. อย่างเช่น การไฟฟ้า และ การประปา ดังนั้น การเร่งกระบวนการตามพระราชบัญญัติ การกระจายอำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2542 จะเป็นการตอบโจทย์ปลดล็อกให้กทม.พัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่” น.ส.ภัทรพร ระบุ
ขณะเดียวกัน น.ส.ริสา ระบุด้วยว่า การทวงคืนสาธารณูปโภคพื้นฐานให้กทม. จัดการดูแลการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ กทม. ในการจัดการบริหารไฟฟ้า และ ประปาเองได้ จะเป็นก้าวสำคัญในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอื่นๆ เพื่อให้มีการจัดการบริการให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น