“สติธร” ชี้ผลเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.” ฝ่ายอนุรักษ์นิยมแพ้ภัยตัวเอง
“สติธร” ชำแหละผลเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.” ฝ่ายอนุรักษ์นิยมแตกพรรค ส่งผู้สมัครตัดกันเอง แคมเปญ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ย้อนเกร็ดทำพ่าย ชี้ต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวยังมีโอกาสกลับมาชนะ
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนายการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ถึงผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และเลือกตั้ง ส.ก.ที่มีปรากฎการณ์เลือกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้มาจากคะแนนความนิยมในตัวนายชัชชาติเป็นหลัก โดยก่อนหน้านี้เคยระบุไปแล้วว่า ฐานคะแนนของนายชัชชาติมาจาก 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเลือกพรรคเพื่อไทยเดิม 2.กลุ่มเลือกพรรคอนาคตใหม่เดิม (ปัจจุบันคือฐานเสียงพรรคก้าวไกล) 3.กลุ่มเคยเลือกพรรคอื่นที่ไม่ใช่พรรคใหญ่ 4.กลุ่มเคยเลือกพรรคใหญ่ฝ่ายตรงข้าม เช่น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
ดร.สติธร กล่าวว่า ทีนี้คะแนนความนิยมของนายชัชชาติ มาจากกลุ่ม 1-2 เป็นหลัก แม้ว่าบางช่วงคะแนนอาจถูกแชร์จากนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคก้าวไกล อยู่บ้าง เนื่องจากฐานเสียงพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เป็นฐานเดียวกัน แต่ปรากฏว่าถึงช่วงสุดท้ายคะแนนถูกแบ่งแชร์ไปน้อยกว่าที่คิด
เมื่อถามว่า เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า แฟนคลับเลือก ส.ก.ก้าวไกล แต่กลับโหวตเลือกผู้ว่าฯ กทม.เป็นนายชัชชาติ สะท้อนอะไร ดร.สติธร กล่าวว่า หากมองเบื้องต้นเป็นอย่างนั้น แต่ข้อมูลเชิงละเอียด ต้องไล่ดูคะแนน ส.ก.ของพรรคก้าวไกล คือ ถ้าเอาคะแนน ส.ก.พรรคก้าวไกล 50 เขต มากหรือน้อยกว่านายวิโรจน์หรือไม่ หากมากกว่า คะแนนส่วนที่เกินคือ คนที่เลือก ส.ก.ก้าวไกล แต่เลือกนายชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องรอดูผลคะแนนสุดท้ายถึงยืนยันเชิงประจักษ์ได้
“แต่ย้ำอีกทีคือ รอบนี้เป็นเพราะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ชื่อนายชัชชาติ ดังนั้นฐานเสียงของพรรคก้าวไกลมองว่า เมื่อเทียบกับผู้สมัครของเขา คงอยากให้นายชัชชาติเป็นมากกว่า เลยเลือกนายชัชชาติแทนที่จะเลือกนายวิโรจน์ ส่วนการเลือก ส.ก.ก็เป็นไปตามพรรคที่เชียร์ คือ ก้าวไกล” ดร.สติธร กล่าว
เมื่อถามว่า เป็นเพราะกระแสของนายวิโรจน์สู้นายชัชชาติไม่ได้ใช่หรือไม่ ดร.สติธร กล่าวว่า กระแสของนายวิโรจน์ก็พอได้ แต่มีประเด็นทางการเมืองซับซ้อนขึ้นมาอีกนิด คือฐานเสียงกลุ่มนี้จะเลือกนายชัชชาติ หรือนายวิโรจน์อยู่แล้ว แต่หลัก ๆ จะเทไปยังนายชัชชาติมากกว่า ส่วนหนึ่งต้องบอกว่า นายวิโรจน์เปิดตัวมาแล้วสู้ไม่ได้ ก็นิดหน่อยเท่านั้นในแง่คุณสมบัติ หรือพรรษาทางการเมือง แต่การโชว์ฟอร์มบนเวทีดีเบตนายวิโรจน์ทำได้ดีกว่า
ดร.สติธร กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่คะแนนเทไปยังนายชัชชาติ เชื่อว่ามาจากยุทธศาสตร์ “ไม่เราเขามาแน่” ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางกลุ่ม แคมเปญนี้ไปกระตุกต่อมคนเลือกนายชัชชาติ และนายวิโรจน์ ที่มองว่าอีกฝั่งเขาแพ็คกันมา หากเขารวมกันได้จริง ๆ จะลำบาก จึงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใครดี สุดท้ายจึงแห่เทคะแนนไปยังนายชัชชาติ
ส่วนผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.จะสะท้อนอะไรในการเมืองภาพใหญ่หรือไม่ ดร.สติธร กล่าวว่า ดูแค่คะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไม่เพียงพอ ต้องดูผลคะแนน ส.ก.ดีกว่า สมมติจะไปสู้กันต่อในสนามใหญ่ วันนี้แม้เห็นว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล ได้ ส.ก.เยอะ แต่ต้องดูด้วยว่า ปัจจัยที่ทำให้ได้เยอะ เพราะว่า ส.ก.ฝ่ายตรงข้ามมีการแตกทีม มีทั้งกลุ่มรักษ์กรุงเทพ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นต้น ถ้าเอาคะแนนดิบมาดูจริง ๆ อาจไม่แตกต่างกันมาก
ดร.สติธร กล่าวอีกว่า ต้อมยอมรับว่าสาเหตุที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ได้ ส.ก.มาเยอะ เพราะมีกระแสของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.มาสนับสนุน ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งอาจมีกระแสหนุนของผู้สมัครไม่เพียงพอ เนื่องจากแตกกันเป็นหลายกลุ่มอย่างที่บอกไปแล้ว นอกจากนี้การเลือกตั้งสนามใหญ่ นอกจากต้องมีผู้สมัครลงเขตที่ดีแล้ว ต้องมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ให้เร้าใจเหมือนกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ชื่อนายชัชชาติด้วย
“ตัวชี้วัดสำคัญคือ 1.เช็คฐานเสียงของ ส.ก.ว่าคะแนนของพรรคคุณ กับพรรคคู่แข่งแตกต่างกันแค่ไหน 2.ปัจจัยที่ทำให้ชนะได้แบบครั้งนี้ หรืออีกฝั่งจะพลิกกลับมาชนะบ้าง มีเรื่องตัวบุคคลที่เสนอในตำแหน่งแคนดิเดตผู้บริหารมาเกี่ยวข้องด้วย อยู่ที่การสร้างกระแส” ดร.สติธร กล่าว
เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พปชร. หรือ ปชป.จากผลเลือกตั้งครั้งนี้ต้องปรับตัวอะไรหรือไม่ ดร.สติธร กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเขามีฐานคะแนนอยู่ หากมองในภาพรวมอาจเห็นว่า พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ได้เยอะขึ้น ที่บอกกันว่าฝ่ายประชาธิปไตยได้ราว 60% สาเหตุที่เป็นเช่นนี้มีทั้งคนที่เปลี่ยนมาเป็นฝั่งประชาธิปไตยจริง รวมถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางกลุ่ม ตั้งใจไม่ออกมาใช้สิทธิ ถอดใจไปก่อน เพราะมองว่าเลือกไปแคนดิเดตฝั่งตัวเองก็แพ้ฝั่งตรงข้าม แต่หากวัดกันจริง ๆ คะแนนฝั่งอนุรักษ์นิยมที่เหลืออยู่ก็ราว 8-9 แสนคะแนน ไม่น้อยเหมือนกัน ดังนั้นในการเลือกตั้งสนมใหญ่อาจมีความหวังมากกว่า คะแนนคงกลับไปสูสีกว่านี้ ขึ้นอยู่กับแคนดิเดตผู้บริหารของแต่ละฝ่ายด้วย
ดร.สติธร กล่าวด้วยว่า สำหรับพรรคการเมืองกลุ่มเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียงแตกแยกกันเป็นหลายกลุ่มเหลือเกิน เห็นได้จากการลงผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. แตกเป็นหลายทีม ตัดคะแนนกันเอง ทำให้เข้าทางอีกฝั่ง ดังนั้นจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ รวมเป็นพรรคเดียว หรือจะตั้งพรรคใหม่ก็แล้วแต่ หากยังแตกพรรคอยู่แบบนี้ โอกาสชนะแทบไม่มี ต้องใช้โมเดลเก่าเมื่อปี 2562 จะชื่อพรรคอะไรก็ตั้งมา ต้องลุยแบบพรรคเดียว ถ้าแตกมา 3-4 พรรคแบบนี้อีกตายแน่