ครบรอบ 2 ปี “วันเฉลิม” กับชีวิตที่ถูก “บังคับให้สูญหาย”
วันนี้เมื่อสองปีที่แล้วคงไม่มีใครไม่รู้จักนักกิจกรรมชื่อ “วันเฉลิม” ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศกัมพูชา หลังจากหายออกไปจากที่พักในช่วงเย็นของวันที่ 4 มิ.ย. 2563 จนกลายเป็นบุคคลที่ถูก “บังคับสูญให้หาย” มาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. วันที่ 4 มิ.ย. 2563 หรือเมื่อสองปีที่แล้ว “วันเฉลิม” หรือ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ชื่อเล่นว่า "ต้าร์" นักกิจกรรมและนักวิชาการชาวไทย ที่ลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศกัมพูชา ได้หายไปจากคอนโดแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่พักของเขา
ก่อนหน้านี้ทางครอบครัวของวันเฉลิมที่ยังอยู่ในเมืองไทยระบุว่า มีตำรวจไปตรวจสอบบริเวณบ้านแม่ของเขาอยู่หลายรอบ นอกจากนั้นยังมีคนท้องถิ่นในกัมพูชาเข้ามาพูดกับเขาว่า “อันตรายนะ มีคนตามหาตลอดเวลา”
หลังจากนั้นวันเฉลิมได้หายตัวไปขณะที่กำลังคุยโทรศัพท์กับพี่สาว โดยประโยคสุดท้ายที่พี่สาวได้ยินคือ “โอ๊ย หายใจไม่ออก” ต่อมาก็ไม่มีใครสามารถติดต่อเขาได้อีกเลย
ก่อนหน้านั้นวันเฉลิม มีหมายจับตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2561 กรณีแชร์และโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย
หลังจากวันเฉลิมหายตัวไป ต่อมาในวันที่ 7 มิ.ย.2563 นางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ออกแถลงการณ์ในนามของครอบครัวเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมทั้งองค์กรนานาชาติเข้ามีส่วนร่วมในการสืบสวนกรณีของ "วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์" โดยมีใจความในภาพรวมว่า
“มีความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่วันเฉลิม หรือต้าร์ ได้ถูกลักพาตัวโดยการถูกบังคับให้สูญหาย (EnforcedDisappearance) ในประเทศกัมพูชาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2563 เวลา 17.00 น. โดยประมาณ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างอุกอาจท่ามกลางประชาชนจํานวนมาก บริเวณหน้าที่พักของวันเฉลิม จนถึงนาทีนี้เป็นเวลากว่า 65 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมที่กําลังเกิดขึ้นกับเขา และขอให้ผู้ที่ก่อเหตุได้โปรดปล่อยตัววันเฉลิมกลับคืนมาเถิด พวกเราจะตั้งตารอคอยอย่างไม่คิดที่จะสิ้นหวัง ขอเพียงเขากลับมาได้อย่างปลอดภัย พวกเราหวังว่าการอุ้มหายหรือการถูกบังคับให้สูญหายในครั้งนี้จะเป็นกรณีสุดท้ายที่เกิดขึ้น”
แต่แล้วยังไม่มีการเคลื่อนไหวจากภาครัฐ หรือการขอความช่วยเหลือจากประเทศเพื่อนบ้าน จนเกิดความเคลื่อนไหวในประเทศไทยเพื่อ "ตามหาวันเฉลิม"
สำหรับเหตุผลที่ทำให้ "วันเฉลิม" จำต้องลี้ภัยไปยังประเทศต่างๆ เป็นเวลา 6 ปี เนื่องจากเขาแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร การปกครองภายใต้ทหาร และการยึดอํานาจ ทําให้เขาต้องถูกไล่ล่าและกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมด้วยการออกหมายจับและยกเลิกหนังสือเดินทาง รวมถึงการคุกคามอื่นๆ
จนเวลาล่วงเลยไปถึง 5 เดือน ที่วันเฉลิมหายตัวไป ในวันที่ 4 พ.ย. 2563 มีการแถลงจากครอบครัวอีกครั้งใจความว่า สมาชิกในครอบครัวรวมไปถึงเพื่อนของวันเฉลิม ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากคนร้ายที่ลักพาตัววันเฉลิมไป และไม่ทราบว่าเขามีชะตากรรมอย่างไร จึงทำให้เชื่อว่าการถูกลักพาตัวครั้งนี้ไม่ใช่การเรียกค่าไถ่
นอกจากนั้นการดำเนินการต่างๆ ค่อนข้างยากลำบางเนื่องจากเกิดการระบาดของโรคโควิด ทำให้การติดต่อกันระหว่างประเทศทำได้ยากขึ้น โดยทางครอบครัววันเฉลิมระบุด้วยว่า ได้ยื่นเรื่องเพื่อฟ้องศาลให้มีการสืบสวนสอบสวนผ่านทางระบบตุลาการในประเทศกัมพูชานับตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้ว
ภาพ "วันเฉลิม" จากเฟซบุ๊ก Wanchalearm Satsaksit
ต่อมากลุ่มองค์กร หรือนักกิจกรรมต่างๆ ออกมารวมตัวกันเพื่อกดดันให้รัฐบาลรีบคลี่คลายคดี "วันเฉลิม" และเร่งตามหาให้พบตัววันเฉลิมโดยเร็วที่สุด ซึ่งหลายฝ่ายต่างเห็นว่า ไม่ควรมีการอุ้มหาย หรือการบังคับให้สูญหาย เกิดขึ้นได้อีก
จนมาถึงในวันนี้เหตุการณ์ที่ “วันเฉลิม” พบเจอและจำเป็นจะต้องกลายเป็นบุคคลที่ “บังคับให้สูญหาย” ผ่านมาเป็นเวลาสองปี หลายคนอาจลืมเลือนไปบ้าง แต่ครอบครัวและเพื่อนของเขายังจดจำได้ดี
นอกจากนี้ยังจะมีการจัดงานเพื่อวันเฉลิมโดย Amnesty International Thailand ซึ่งมีการเชิญชวนให้ร่วมกันส่งเสียงในฐานะ “เพื่อน” ของวันเฉลิม ด้วยการส่งภาพถ่ายหรือภาพวาดของเขา ผ่านแฮชแท็ก #2ปีเราไม่ลืมวันเฉลิม และ #เราคือเพื่อนวันเฉลิม เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับเขาและครอบครัวอีกครั้ง และเพื่อแสดงจุดยืนในการร่วมส่งเสียงในการเป็นส่วนหนึ่งของการยุติการบังคับบุคคลให้สูญหาย
กิจกรรมดังกล่าวจะจัดแสดงในงาน “นินทาสักนิด มิตรวันเฉลิม” ที่เหล่า “เพื่อน” จะร่วมกันเล่าเรื่องวันเฉลิม ในวันอาทิตย์ 4 มิถุนายน 2565 ที่สวนครูองุ่น ทองหล่อ ในเวลา 16.00 – 21.00 น.
นอกจาก “วันเฉลิม” มีใครบ้างที่ถูก “บังคับให้สูญหาย” ?
กรณีของวันเฉลิมนั้นไม่ใช่คนแรกๆ ที่ถูกหายตัวไปอย่างไม่มีสาเหตุ ก่อนหน้านี้มีอีกหลายคนที่หายตัวไปอย่างลึกลับ และยังไม่สามารถค้นหาคำตอบได้จนถึงวันนี้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เริ่มบันทึกตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา มีบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายเท่าที่ทราบ ดังนี้
- ส.ส. เตียง ศิริขันธ์ พ.ศ. 2495
- ส.ส. พร มะลิทอง พ.ศ. 2497
- หะยีสุหรง โต๊ะมีนา พ.ศ. 2497
- ทนง โพธิ์อ่าน พ.ศ. 2534
- ทนาย สมชาย นีละไพจิตร พ.ศ. 2547
- กมล เหล่าโสภาพันธ์ พ.ศ. 2550
- บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ พ.ศ. 2557
- สุรชัย แซ่ด่าน พ.ศ. 2561
- สหายกาสะลอง พ.ศ. 2562
- สหายภูชนะ พ.ศ. 2562
- วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์ พ.ศ. 2563
ภาพจากสถาบันปรีดี พนมยงค์
บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายทั้ง 11 คนนั้น บางคนหายไปอย่างไร้ร่องรอย โดยที่ไม่มีใครทราบชะตากรรมอีกเลย บางคนถูกพบว่าเสียชีวิตอย่างปริศนาหรือในสภาพที่ผิดปกติ ตลอด 84 ปี จากการบันทึกนั้นมีผู้คนที่เป็น พ่อ แม่ ลูก เพื่อน พี่ น้อง ที่ถูกพรากไปจากครอบครัวถึง 11 คน ทำให้ในปัจจุบันผู้คนในสังคมเริ่มหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น รวมถึงไม่อยากให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีก
อ้างอิงข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ , Amnesty International Thailand , สถาบันปรีดี พนมยงค์