“ทะเลจีนใต้-เมียนมา” หยั่งเชิง “ไทย” จุดยุทธศาสตร์เดิมสหรัฐ

“ทะเลจีนใต้-เมียนมา” หยั่งเชิง “ไทย” จุดยุทธศาสตร์เดิมสหรัฐ

การแข่งขันขยายอิทธิพล “สหรัฐ-จีน” ที่พุ่งเป้าและเทน้ำหนักมาที่ “ไทย” ประเทศเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางการต่อสู้มหาอำนาจ สิ่งที่ต้องตระหนักคือ รักษาสมดุล และกำหนดท่าทีว่า “ไทย”จะไม่เป็นฐานของประเทศมหาอำนาจใดๆ

ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย สำหรับการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ของ นาย Lloyd J. Austin III ( ลอยด์ เจ ออสติน ที่สาม ) รมว.กลาโหม สหรัฐอเมริกา ในโอกาสเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะแขกของกระทรวงกลาโหม ระหว่าง 12 - 14 มิ.ย.2565

โดย กระทรวงกลาโหม จัดแถวทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ ให้การต้อนรับ รมว.กลาโหมสหรัฐ อย่างสมเกียรติ โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ภายใต้การรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ขอสงวนพื้นที่งดจอดรถ เพราะอยู่ใกล้ห้องรับรอง รมว.กลาโหม

ในขณะที่ พื้นที่ด้านหลังกระทรวงกลาโหม ม็อบต่อต้านสหรัฐฯ นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย พร้อมมวลชนจำนวนหนึ่งมายืนประท้วงคุมเชิงตั้งแต่เวลา 14.00 น. เพื่อให้การพูดคุยเป็นไปด้วยความเท่าเทียม ไม่ข่มขู่ กดดัน ต่อรอง ด้วยรูปแบบกำลังทหาร อาวุธ ขีปนาวุธ ไซเบอร์ที่เหนือกว่า

“ทะเลจีนใต้-เมียนมา” หยั่งเชิง “ไทย” จุดยุทธศาสตร์เดิมสหรัฐ

ก่อนจะอ่านแถลงการณ์สรุปใจความได้ว่า “ม็อบจตุพร-ทนายนกเขา” ขอให้“สหรัฐ”หยุดลาก“ไทย”ไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่จะนำไปสู่สงครามทุกกรณี เพื่อการขยายอิทธิพลของสหรัฐในแถบเอเชีย เช่น การปกป้องไต้หวันจากภัยคุกคามจีน การลงนาม สนธิสัญญาอินโด-แปซิฟิก

ส่วนภายในกระทรวงกลาโหม หลัง รมว.กลาโหม สหรัฐฯ และคณะ ได้ทักทายแนะนำตัวกันพอหอมปากหอมคอ ก่อนจะหารือประเด็นต่างๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ ทั้งการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โควิด-19 การฝึกร่วมทางทหาร

ก่อนจะตบท้ายด้วยประเด็น “ทะเลจีนใต้” สถานการณ์ในประเทศ “เมียนมา” หยั่งท่าที พล.อ.ประยุทธ์ และ ผบ.เหล่าทัพ ในฐานะที่ "ไทย" คือจุดยุทธศาสตร์เก่าของสหรัฐ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยมีที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ครอบคลุมปัญหาความขัดแย้งในประเทศรอบด้าน ซึ่งเป็นมิติด้านความมั่นคงที่ดี และเกราะป้องการขยายอำนาจของจีน โดยมี "อ่าวไทย” เชื่อมต่อ “มหาสมุทรแปซิฟิก” ส่วน “อันดามัน”เชื่อมต่อ “มหาสมุทรอินเดีย”

“ทะเลจีนใต้-เมียนมา” หยั่งเชิง “ไทย” จุดยุทธศาสตร์เดิมสหรัฐ

ในขณะ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ยังแสดงจุดยืนด้วยการวาง “ไทย”อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง โดยสนับสนุนให้ทุกประเทศที่มีข้อพิพาท“ทะเลจีนใต้”ร่วมกัน แสวงทางออกโดยสันติวิธี และการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนเรื่อง“เมียนมา”ต้องยึดหลักการ“อาเซียน”ไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิก

ดังถ้อยแถลงของ พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า  ทั้งสองฝ่าย ได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทย - สหรัฐฯ ที่มีพัฒนาการแน่นแฟ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน และขอบคุณการสนับสนุนความร่วมมือทางทหาร พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันต่อสถานการณ์ความมั่นคงของภูมิภาค อาทิ ปัญหาทะเลจีนใต้ และเมียนมา

“ไทยสนับสนุนการดำรงบทบาทที่สร้างสรรค์ และการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และยืนยันในท่าทีของอาเซียน โดยที่ผ่านมา ไทยได้ให้การช่วยเหลือผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบเมียนมาตามหลักมนุษยธรรมต่อเนื่องมา และไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขัดแย้งที่ไม่พึงประสงค์ของภูมิภาค”

“ทะเลจีนใต้-เมียนมา” หยั่งเชิง “ไทย” จุดยุทธศาสตร์เดิมสหรัฐ

พร้อมย้ำว่า สหรัฐฯ ยืนยันพร้อมผลักดันการสนับสนุนพัฒนากองทัพไทยให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งการฝึก ศึกษา ยุทโธปกรณ์และการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเฉพาะ การพัฒนาศักยภาพร่วมกันด้านไซเบอร์และอวกาศ ซึ่งในปี 2566 หลังผ่านความท้าทายของโควิด 19 จะได้มีความร่วมมือกัน จัดการฝึกร่วมผสมคอบบร้าโกล์ด เต็มรูปแบบ โดยจะมีการฝึกด้านไซเบอร์และอวกาศ เพื่อยืนยันและสะท้อนความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกัน

ก่อนที่ โฆษกกระทรวงกลาโหม ขอบคุณ “ม็อบจตุพร-ทนายนกเขา” ที่ห่วงใยประเทศ และการเคลื่อนไหวที่เป็นสิทธิตามกฎหมายเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ และกระทรวงกลาโหมพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อสังเกตดังกล่าวด้วยใจจริง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานอย่างรอบคอบ และยืนยันว่า

“การลงนาม ในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่าง ไทย - สหรัฐฯ ว่าด้วยการเป็นพันธมิตร ด้านการป้องกันประเทศ 2020 ที่ผ่านมา เป็นเพียงกรอบแนวคิดและจุดยืนที่มีร่วมกัน มิได้เป็นสนธิสัญญา หรือมีข้อผูกพันทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด ”

“ทะเลจีนใต้-เมียนมา” หยั่งเชิง “ไทย” จุดยุทธศาสตร์เดิมสหรัฐ

แต่เป็นการปรับปรุงจากแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม 2012 เดิมที่เคยมีอยู่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นย้ำ ความยึดมั่นร่วมกันของไทยและสหรัฐฯ ในการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศที่มีร่วมกันมายาวนาน ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่ ความเป็นหุ้นส่วน การดำรงบทบาท ความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน ความเป็นผู้นำ และกลไกความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อป้องปรามและตอบสนองความท้าทายร่วมกัน

ปัจจุบันสถานการณ์ความมั่นคงของภูมิภาคการแข่งขันขยายอิทธิพลระหว่าง “สหรัฐ-จีน” ที่พุ่งเป้าและเทน้ำหนักมาที่ “ไทย” ประเทศเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางการต่อสู้มหาอำนาจ สิ่งที่ต้องตระหนักคือ รักษาสมดุล ไม่เอียงซ้าย-เอียงขวา และกำหนดท่าทีว่า “ไทย”จะไม่เป็นฐานของประเทศมหาอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น