"ทวิดา กมลเวชช" ผ่าแนวคิดบริหาร "ความหลากหลายทางเพศ" สร้างกรุงเทพฯ สู่สมดุล

"ทวิดา กมลเวชช" ผ่าแนวคิดบริหาร "ความหลากหลายทางเพศ" สร้างกรุงเทพฯ สู่สมดุล

คุยเรื่องการบริหารเมือง “กรุงเทพฯ” บน “ความหลากหลาย” กับ “ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าฯ กทม. ทำอย่างไรให้เกิดวิถีความเข้าใจทั่วถึงทุกกลุ่ม พร้อมอัปเดตการบริการคลินิกสุขภาพของ LGBTQ+ ตอนนี้คืบหน้าแค่ไหนแล้ว?

ก่อนจะหมดเดือน Pride Month ช่วงเวลาของการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง อีกแง่หนึ่ง “ความหลากหลาย” ก็นับว่าเป็นกลไกลสำคัญในการสร้างเมืองให้น่าอยู่ ซึ่งวิถี-แนวทางปฏิบัติ-นโยบายแบบใด ที่จะขับเคลื่อนให้ “กรุงเทพมหานคร” เกิดสมดุลที่ดี และมีความเท่าเทียมได้?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนอ่านสัมภาษณ์พิเศษกับ รองผู้ว่าฯ กทม.ทวิดา กมลเวชช” หญิงเก่งผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมบริหารของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" 

ณ วันนี้ทาง กทม. ได้สร้างความเข้าใจเรื่อง "ความหลากหลาย" ในหน่วยงานข้าราชการไปถึงไหนแล้ว?  นโยบายเพื่อความเท่าเทียม ทั้งด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยในสวัสดิภาพ และภารกิจอะไรที่กำลังดำเนินการอยู่?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

1. ทีมกรุงเทพฯ มีนโยบายสนับสนุน LGBTQ+ อย่างไร?

เริ่มจากสิ่งที่เพิ่งเห็นในช่วงที่ผ่านมา มีงานพาเหรดเฉลิมฉลอง Pride Month มีการส่งเสริม เปิดพื้นที่ในการแสดงออก การรณรงค์ การจัดงาน ซึ่งทางกรุงเทพฯก็สนับสนุนเต็มที่ พูดง่ายๆ ว่า เวลาจัดกิจกรรมแบบนี้ ตามที่เราเห็น ผู้ว่าฯ กทม. ก็ลงไปร่วมงานเองด้วย 

จุดประสงค์ที่ลงไปร่วมงานด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่า “สนับสนุนให้เห็นว่าเรายอมรับหรือเราเข้าใจ” แต่เกิดจากความคิดตั้งต้นที่ว่า เขาทุกคนเป็น “กลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม” ดังนั้นกรณีเรื่องแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่ทีมบริหารของเราสนับสนุน 

ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง การพบเห็นเรื่องแบบนี้ เจตนาหลักคือ ต้องการทำให้ไม่ใช่แค่ทำ “เพื่อประชาชนและสังคม” ของกทมฯให้ได้ “รับทราบถึงความแตกต่างและการยอมรับ” แต่นั่นหมายถึงว่า “ข้าราชการของกทม.” ที่ให้บริการภาคประชาชนเองก็ “ต้องเข้าใจเรื่องนี้” เช่นกัน

แม้ว่าเรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เรื่องนี้ก็พูดไม่ได้เพราะเราเองมาจากมหาวิทยาลัย เราจึงเข้าใจเรื่องความหลากหลาย พวกนี้ได้มากกว่าหน่อย ทั้งเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี การแต่งกาย รสสนิยม การแสดงออก คำนำหน้าชื่อ หรือแม้แต่พิธีการบางอย่าง ก็ต้องค่อยๆ สร้างความเข้าใจกันไป

\"ทวิดา กมลเวชช\" ผ่าแนวคิดบริหาร \"ความหลากหลายทางเพศ\" สร้างกรุงเทพฯ สู่สมดุล

2. วิถีแบบไหน สร้างหน่วยงานราชการ ให้ยอมรับ “ความเท่าเทียม

พอได้เข้ามาทำงานในระบบ “ราชการ” ณ ตอนนี้ เจตนาแรกคือการเดินเรื่อง “การแต่งกาย” อยู่ ซึ่งท่านผู้ว่าฯ กทม. เองก็พยามปลดล็อค ให้เวลาที่มีประชุม ภายในเวลาทำงาน เอา “ตามสบาย” ได้ จะได้ไม่ต้องไป “สิ้นเปลืองกับอะไรที่มันมากเกินกว่าเหตุ

อีกหน่อยจะขยับไปเรื่องของ “การแต่งตัวให้ตรงกับเพศวิถี” หรือแม้แต่ “เครื่องแบบของข้าราชการ” เอง เข้าใจว่าเราก็กำลังพูดคุยกันอยู่ มีการใส่ใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น

แต่การทำอะไรที่ไปกระทบกับระบบ กฎเกณฑ์ ระเบียบ กติกาเดิม อาจจะขออนุญาตใช้เวลาหน่อย เพราะนอกจากความเข้าใจแล้ว ต้องไป “จัดการให้มันไม่ผิด” ทำแล้วมั่นใจที่จะทำ จะได้ไม่ต้องกังวลมาก (ในแง่ของข้าราชการเอง)

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพูดถึงเรื่องพวกนี้มากขึ้น เราต้องเข้าใจมันจริงๆ ความหมายคือ เวลาเราพบเจอและให้บริการภาคประชาชน เวลาที่เขามาด้วยเรื่องเงื่อนไข ปัญหาบางอย่าง ข้าราชการเองก็เข้าใจว่า “วิธีคิด” มันก็จะไม่เหมือนกันแล้ว วิธีการตอบสนองมันก็จะไม่เหมือนกัน

\"ทวิดา กมลเวชช\" ผ่าแนวคิดบริหาร \"ความหลากหลายทางเพศ\" สร้างกรุงเทพฯ สู่สมดุล

3. ทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าใจ “ความหลากหลาย” แบบไม่มีอะไรกั้น?

เรื่องพวกนี้ทางกรุงเทพฯ ทั้งหมดจะต้อง “รีคอนเซ็ปท์” ทำความเข้าใจกับเรื่องพวกนี้ใหม่ ตั้งหลักให้เข้าใจแล้วแสดงออกผ่านทางวิถีของข้าราชการเองด้วย ในขณะเดียวกัน ระเบียบ กฎ กติกาหลายๆ อย่างก็ต้องปรับตามให้สามารถทำได้ด้วย

ในแง่ของการสนับสนุน-การโปรโมต สังคมอาจจะเห็นเด่นชัดในช่วงหลังๆ รวมไปถึงการดูแลภาคประชาชน ถ้าหากมีข้อร้องเรียนว่าให้บริการแล้วไม่ได้รับความเท่าเทียม ความเท่าเทียมมันจะเริ่มแปลงสภาพจากแค่ “คนนี้มีคนรู้จักหรือเปล่า?” สิ่งนี้ต้องหายไป บางครั้งวิธีการแต่ละครั้งที่เราทำให้อาจจะไม่เหมือนกัน

คนกลุ่มแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน ที่สุดถ้ามีเหตุให้ถูกกระทำ ทางอารมณ์ ความรุนแรงทางจิตใจ แนวปฏิบัติเรื่องความเท่าเทียมจะถูกทำให้มีกลไกในการประสาน “ความเข้มงวดในการดำเนินการ” จริงจังกับประเด็นเหล่านี้ ดูแลเทคแคร์ผู้เสียหายให้มากขึ้น ถ้าทำได้เราก็อยากทำให้กลไกเหล่านี้เกิดขึ้น

\"ทวิดา กมลเวชช\" ผ่าแนวคิดบริหาร \"ความหลากหลายทางเพศ\" สร้างกรุงเทพฯ สู่สมดุล

4. คลินิกสุขภาพเพื่อ LGBTQ+ บริการครบวงจรแค่ไหน?

การดูแลเขาในฐานะของคนที่ต้องมี “ความปลอดภัยที่เหมาะสม” กับความหลากหลาย เรื่องสุขอนามัยก็จะแบ่งดังนี้

ใน “กลุ่มความหลากหลายทางเพศ” การมี “คลินิก” ที่ทำให้เขาใช้บริการได้อย่างสบายใจ สามารถปรึกษาปัญหาทางการรักษา ควรทำให้เขารู้สึกพึ่งพาได้ เพราะเป็นวิถีชีวิตของเขา บางคนอาจมีภาวะทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อ หรือปรึกษาเรื่องอารมณ์-ฮอร์โมน อันนี้เป็นภาคส่วนของโรงพยาบาล แต่หากเราจะเจาะไปทุกกลุ่ม บางกลุ่มอาจไม่ได้สะดวกไปแบบนั้น รวมถึงเงื่อนไขของเวลาด้วย

มีบริการของทางสธ.อีกรูปแบบหนึ่งของกทม. คือ “ศูนย์บริการสาธารณสุข” ที่มีอยู่ 69 ศูนย์ ทั่วกทมฯ แต่ถามว่าทุกศูนย์ ทุกวันนี้สามารถให้บริการ มีผู้เชี่ยวชาญที่จะแตะเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งหมายถึงเรื่องลึกๆ เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของบุคคลแต่ละประเภท ณ ตอนนี้ยังไม่ครบทั้ง 69 ศูนย์

ศูนย์บริการที่ครบวงจรนำร่อง มีทั้งบริการ รักษาในแง่ของสุขภาพ การให้คำปรึกษาในเรื่องของเพศสภาพ เพศวิถี เรื่องความหลากหลายทางเพศ ตอนนี้นำร่องอยู่ 2 ที่ ที่ครบวงจรเลย มีที่ วัดธาตุทอง (ศูนย์บริการสธ. 21) กับกรุงธนบุรี (ศูนย์บริการสธ. 28) ทั้ง 2 ที่นี้จะมีเวลาเปิดที่ทุกคนรู้กัน 

แม้ว่าอาจจะยังไม่เพียงพอ แต่ ณ ขณะนี้ก็กำลังขยายในเรื่องของการให้ยาฆ่าเชื้อ หรือการให้คำปรึกษาต่างๆ เบื้องต้นกำลังพยายามขยายให้ได้ 16 ศูนย์เป็นแบบครบวงจร

เราทราบดีว่า ควรจะต้องทำให้ได้ทั้ง 69 ศูนย์ เพียงแต่ตอนนี้ใช้หลักการที่ว่า ศูนย์ตรงไหนมีความพร้อม กับมีคนที่มีความหลากหลายมากหน่อย ก็จะพยามใช้ตรงนั้นไปทำให้ครอบคลุมที่สุด ทางกรุงเทพฯก็คาดหวังว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ท่านผู้ว่าฯ กทม. พูดบ่อยๆ ว่า อย่าแตกแยกกัน เราอยากดูแลสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ในขณะเดียวกัน ทำอย่างไรให้บ้านเขาสามารถดูแลตัวเองได้ด้วย แล้วก็ไปคลินิกข้างบ้าน ไปศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งพึ่งได้ หรือหากต้องการพึ่งมากกว่านั้น อนาคตอาจมีระบบส่งให้จนกระทั่งถึงโรงพยาบาล 

\"ทวิดา กมลเวชช\" ผ่าแนวคิดบริหาร \"ความหลากหลายทางเพศ\" สร้างกรุงเทพฯ สู่สมดุล

5. ทำไมข้าราชการต้องเข้าใจ “ความหลากหลาย” อย่างแท้จริง?

อาจารย์ไม่ได้มองเรื่องความหลากหลายนอกจากแค่ LGBTQ+ แต่เรามองถึงความหลากหลายทางเพศ และความหลากหลายกลุ่มอื่นๆ ด้วย 

ตรงนี้เราต้องการทำให้ข้าราชการเข้าใจ เรื่องความหลากหลายจริงๆ ว่า มันไม่ได้มีแค่เพียงคุณเรื่องเดียว เพราะฉะนั้นคุณต้อง “ปรับวิธีคิด” ให้ความหลากหลายนี้เป็นไปด้วย “ความเข้าใจ” ว่าเขาจะหลากหลายนะ หรือถ้าในอนาคตมีหลากหลายกลุ่มมากขึ้น มีแบบอื่นอีก ก็จะสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

ส่วนข้อปฏิบัติในแง่ที่ว่า เราปฏิบัติตนอย่างไร ทั้งเพื่อนข้าราชการกันเอง ผู้ใต้บังคับบัญชา ประชาชนที่มาติดต่อ ตรงนี้มีนโยบายออกมาชัดเจนว่า เราต้องการให้เป็นอย่างไร

อย่างเรื่องเครื่องแต่งกาย กำลังดำเนินการอยู่ ทำให้สามารถจัดการแบบนี้ได้ พอทำให้การตอบสนองมันออกมาเป็นรูปธรรม ว่าการยอมรับหมายถึงอะไร คิดว่าอันนี้เป็นการสื่อสารที่ดี ท่านผู้ว่าฯกทม. ติดตามเสมอ ท่านไม่ชอบพูดแล้วหาย สังคมชอบพูดว่า เรารับรู้ความหลากหลาย แต่ไม่ได้ทำออกมาให้เห็น 

วันก่อนตอนปฐมนิเทศน้องฝึกงาน ท่านก็ยังพูดถึงเรื่องนิยายวาย ท่านก็บอกว่าอ่านไปเลย ยอมรับ เปิดกว้าง ผมก็ดู อันนี้เป็นผู้ชาย-ผู้ชาย ใช่ไหม

การพูดออกมาดังและพูดว่าเราเข้าใจ แล้วก็เวลาน้องๆ นักศึกษาพูดมา อาจารย์คิดว่าปฏิกิริยาแบบนี้ จะทำให้ข้าราชการที่อยู่ด้วยทั้งหมดจะเข้าใจได้ว่าเราไม่ได้แค่พูดให้เราเข้าใจ แต่เราให้เขาเป็นฝ่ายพูดออกมา อาจารย์ว่าตรงนี้สำคัญ

ในอีกมุมหนึ่ง คนที่เขาไม่รู้จริงๆ ว่าต้องทำยังไง ยังมีอยู่นะ เวลามี LGBTQ+ ออกมาในจอโทรทัศน์ คนรอบข้างมีปฏิกิริยามันไม่ได้เกิดจากความรังเกียจหรอก แต่เขาไม่เข้าใจว่าต้องแสดงออกอย่างไร หากว่าไปจ้องมองหรือต้องไปขำหรือหัวเราะ อันนี้ต้องให้ความรู้ ต้องคุยกันให้เข้าใจว่าเราจะต้องปฏิบัติตนแบบไหนถึงเหมาะสม

สิ่งนี้เป็นใหม่ที่นอกเหนือจากความคุ้นชินที่เคยทำมา คนทำงานอาจจะรู้สึกกลัว ทั้งที่จะทำและก็เป็นฝ่ายที่กระทำ เดี๋ยวนโยบายจะตามมา

\"ทวิดา กมลเวชช\" ผ่าแนวคิดบริหาร \"ความหลากหลายทางเพศ\" สร้างกรุงเทพฯ สู่สมดุล

6. มาตรการอะไรที่จะช่วยเหลือ "เหยื่อ" ถูกคุกคามทางเพศ?

เรื่องการคุกคามทางเพศ มี “ช่องทางร้องเรียน” บอกอยู่ในมาตรการนี้แล้วเรียบร้อย สามารถบอกได้ แล้วอาจารย์คิดว่างานนี้มันน่าจะส่งผลกระทบได้ดี พอเราชี้ประเด็นแล้วผู้บริหารยกประเด็นนี้ขึ้น ต่อไปนี้คนทำก็จะรู้ว่า ต้องตระหนักและระมัดระวังให้มากขึ้น

ช่องทางเตือนนี้ทำให้เห็นว่า การหยุดคิดสักนิดหนึ่ง จะเห็นว่ามันความรุนแรง ควรต้องระวังก่อนกระทำ ขั้นตอนแบบนี้มันเริ่มมีผลตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มใช้ ซึ่งอาจทำให้คนคิดให้มากขึ้น อย่าปากไว ใจไว ตัดสินใจกระทำเร็วนัก 

พอช่องทางมันมีจริง เกิดขึ้นแล้ว เราก็จะเข้มงวด ในแผนพูดถึงว่า ถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเสียหายจริง ก็ต้องมีการติดตาม แล้วดูว่าถ้าเป็นเรื่องที่ผิดจริง มีมูลจริง คงจะต้องมีเรื่องของการดำเนินการ

\"ทวิดา กมลเวชช\" ผ่าแนวคิดบริหาร \"ความหลากหลายทางเพศ\" สร้างกรุงเทพฯ สู่สมดุล

7. สุดท้ายนี้ “ทัศนคติ” เรื่องความหลากหลาย สำคัญอย่างไร?

เราพยามทำให้คนเข้าใจว่าความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายของทุกสิ่งอย่างกันมาเรื่อยๆ แต่ถ้ามองดีๆ แล้ว เขาก็คือคนคนหนึ่ง “ความหลากหลายต้องไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องนั่งแยก

ในความพยายามที่เรารู้สึกว่าจะต้องไปเข้าใจทุกๆ กลุ่ม แต่ต้องไม่ทำให้ตัวเราไปรู้สึกว่า ต้องเข้าใจ เพราะว่าเขาน่ะแตกต่างไง มันแปลกและไม่ควรเป็นเช่นนั้น

มันควรจะต้องเป็นแบบนี้ เช่น เรานั่งคุยกัน หน้าตาเราไม่เหมือนกัน ฝาแฝดยังหน้าตาไม่เหมือนกันเลย แล้วมันก็คนเหมือนกันทั้งคู่หรือเปล่า? เพราะฉะนั้นอยากให้สังคมมองอย่างนี้ เพื่อนเราคนหนึ่งก็เป็นคนเหมือนกันในสังคม แล้วเขาก็เป็นกลไกหนึ่งในสังคมเท่าๆ กับเรา 

คนบนโลกเนี่ยไม่มีใครที่จะเหมือนกันไปซะทุกอย่าง เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นหากว่ายอมรับอย่างนี้ได้ทุกอย่างก็จบ เพราะเราก็มีคนในสังคม คนไทย คนกรุงเทพ ทุกคนล้วนต่างกัน อยากให้คนในสังคมเข้าใจว่า “ความหลากหลายเป็นเรื่องที่ปกติ

อย่าไปคิดอะไรให้มันมันซับซ้อน จนเรารู้สึกว่าเค้าดูแปลกแยกจากเรา เลยต้องไปเข้าใจเขา เพราะเราทุกคนแตกต่างกันอยู่แล้ว

ในมุมส่วนตัวมองว่า

ในความที่ไม่มองเขาแตกต่างกัน แล้วมองให้เห็นความสุขที่เกิดจากเพื่อนที่ไม่เหมือนเราอ่ะ อยากให้มองแบบนี้ จะได้ทำให้เราขับเคลื่อนสังคมไปด้วย ถ้าเรามองแบบนี้ได้ เราก็จะอยากทำให้มันดีขึ้นไปได้เรื่อยๆ

\"ทวิดา กมลเวชช\" ผ่าแนวคิดบริหาร \"ความหลากหลายทางเพศ\" สร้างกรุงเทพฯ สู่สมดุล

---------------------------------

หมายเหตุ: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สัมภาษณ์ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2565

สัมภาษณ์และเรียบเรียง: ศรีสิทธิ์ วงศ์วรจรรย์

ช่างภาพ: ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์