สภาองค์กรผู้บริโภคผิดหวัง “ชัชชาติ”! ค้านขึ้นค่าโดยสาร รฟฟ. จี้คงเพดาน 44 บ.
สภาองค์กรผู้บริโภคแถลงด่วน คัดค้าน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ประกาศขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว 59 บาทตลอดสาย “สารี” เผยทำผิดหวัง เหตุเคยเห็นด้วยกันยังไม่ต่อสัมปทาน แต่กลับขึ้นราคา ชี้ควรคงเพดานไว้ที่ 44 บาท ให้ใกล้เคียงกับทุกสาย ไล่บี้ ครม.-มท.ควรทำให้เป็น "ขนส่งสาธารณะ"
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 เวลา 14.00 น. ที่ห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรม รามา การ์เด้นส์ สภาองค์กรของผู้บริโภค นำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ อนุรรมการด้านการขนส่ง และยานพาหนะ และ น.ส.วรวรรณ ทัพกระจาย ตัวแทนผู้บริโภค กทม. แถลงถึงการคัดค้านกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 59 บาทตลอดสาย นโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) โดยมองว่าเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภค
น.ส.สารี กล่าวว่า มีหลายเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเพดานราคา 59 บาท เมื่อเรามีผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ หลายคนพูดว่าเราคาดหวัง อย่างน้อยผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันเป็นหนึ่งในบุคคลที่มาร่วมงานกับสภาองค์กรผู้บริโภค จุดยืนตรงกันคือการไม่ต่อสัญญาสัมปทาน เราเห็นด้วยกับการให้เก็บเงินส่วนขยายคูคต แต่สิ่งเห็นต่างกันคือกำหนดเพดานราคาที่ 59 บาท เพราะในปัจจุบันมันทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายถึง 118 บาท/วัน นั่นหมายความว่าถ้าใครมีค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาทใน กทม. จะต้องใช้เงินขึ้นรถไฟฟ้าอย่างเดียวเกือบ 36% แล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ทำให้ทุกคนขึ้นรถไฟฟ้าได้
น.ส.สารี กล่าวอีกว่า ประเด็นแรก สิ่งที่อยากเห็นคือ ราคาที่ถูกลง ไม่ได้หมายความว่า เราจะไปรอนสิทธิของสัญญาสัมปทาน ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวยังอยู่ในสัญญาสัมปทาน สิ่งที่เป็นข้อเสนอของเราเสนอไปยัง ครม.โดยในช่วงยังไม่ต่อสัมปทาน ผู้บริโภคควรจ่ายราคาสูงสุด 44 บาท ให้ใกล้เคียงกับสายสีอื่น ๆ นั่นจะสะท้อนว่า กทม.ใช้เพดานราคากำหนดราคาสูงสุดที่ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสีอื่น ๆ สายสีเขียวไม่ควรมีอภิสิทธิ์มีราคาสูงสุดที่ 59 บาท
ประเด็นที่สอง ดูตัวเลขของกระทรวงคมนาคม ถ้าต่อสัมปทานตัวเลขแรกที่กระทรวงคมนาคมเสนออยู่ที่ 49.83 บาท ผู้บริโภคอย่างเรา อย่างน้อยถ้าไม่ต่อสัมปทานขณะนี้ ราคาควรถูกลงกว่า 49 บาท ถูกหรือไม่ นั่นคือ 44 บาทที่ใกล้เคียงกับสายอื่น ไม่ใช่ราคา 59 บาท เราเรียกร้องไม่ให้ต่อสัมปทาน แต่เราเสียหายมากกว่า อย่างนี้ไม่ถูกต้อง
ประเด็นที่สาม วิกฤติน้ำมัน วิกฤติพลังงาน คนใช้รถส่วนตัว มีแนวโน้มที่อาจลดลง การที่ กทม.จะมีนโยบายให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ทำการเชื่อมต่ออย่างที่ผู้ว่าฯ กทม.มีนโยบาย ทำให้คนเอารถส่วนตัวไว้ที่บ้าน ใช้การเชื่อมต่อที่กำลังดำเนินการ และใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น เมื่อคุ้มครองสิทธิสัญญาสัมปทานที่ยังไม่หมด สถานีแรก 15 บาท แต่โดยเพดานไม่ควรเกิน 44 บาท และขอให้เก็บทั้ง 2 ด้าน ขณะนี้เก็บด้านเดียว เรียกว่าแบริ่งไปสมุทรปราการ ส่วนหมอชิต คูคต หรือลาดพร้าว คูคต ยังไม่ได้เก็บเงิน เราก็ขอให้เก็บเงิน
น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า สรุปถ้าคนเดินทางจากคูคต มาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่ควรเกิน 44 บาท ไม่ใช่ต้องจ่าย 59 บาท นี่เป็นข้อเรียกร้องสภาองค์กรผู้บริโภค ทำถึงนายกรัฐมนตรี อยากเห็นว่ากระทรวงคมนาคมก็ดี กรมขนส่งทางรางก็ดี ที่เคยทำตัวเลข 49.83 บาท ต้องออกมายับยั้งการกำหนดราคา 59 บาทของ กทม. เรามั่นใจว่า 25 บาทเป็นราคาที่ทำได้จริง เชื่อว่าถ้าใครมีโอกาสติดตามข้อเสนอของสภาองค์กรผู้บริโภคจะเห็นว่า เมื่อกระทรวงคมนาคมเสนอ 49.83 บาท เราใช้รายได้ลดลงครึ่งหนึ่งของกระทรวงคมนาคม โดยยังคงค่าใช้จ่ายเท่าเดิมของกระทรวงคมนาคม ก็ยังสามารถทำให้การมีกำไรของ กทม. ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่ในระดับ 2.3 หมื่นล้านบาทด้วย คิดว่าเพียงพอแล้วที่ กทม.จะมีกำไรเท่านั้น และข้อเสนอหลายข้อเสนอเลยที่อยากเห็นว่าถูกดำเนินการโดย กทม. ไม่ว่าจะเป็นการเอารายได้ล่วงหน้ามา หรือการเก็บค่าโดยสาร 15 บาท เก็บจากการเชื่อมต่อ เก็บจากอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ได้ด้วย
“แม้กระทั่งขณะนี้ สิ่งที่เราอยากเห็นคือ กทม.มีความคาดหวังมากกับ ผู้ว่าฯ กทม. โดยเฉพาะสภาองค์กรผู้บริโภค ข้อเสนอสำคัญคือขอให้ ครม.ชะลอการพิจารณาเรื่องราคารถไฟฟ้า เพื่อรอผู้ว่าฯ กทม. ดังนั้นวันนี้คิดว่าสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศเห็นชอบราคา 59 บาท พวกเราผิดหวังมาก และคัดค้าน ขอให้ใช้ราคา 44 บาท คิดว่า 44 บาทเป็นราคาสูงสุดที่ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าทุกสาย ทุกเส้นในปัจจุบัน และเราจะได้มีเพดานราคา และอยากเห็นผู้ว่าฯ กทม. เอาตั๋วเดือนของผู้บริโภคกลับมา ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้ทุกวันจริง ๆ และวิกฤติพลังงาน วิกฤติข้าวของแพง ทำให้อยากเห็นว่า กทม.ควรจะลดค่าครองชีพของผู้บริโภค คิดว่านี่เป็นสิ่งที่สภาองค์กรผู้บริโภคคาดหวัง รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่อึมครึม เช่น การคิดราคา 59 บาท มาจากไหน เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด เพราะเรามองว่ารถไฟฟ้าไม่ใช่บริการขนส่งมวลชนหรือขนส่งสาธารณะ ถ้ามองว่านี่เป็นขนส่งมวลชนใน กทม. ที่ผู้ว่าฯ กทม. มีหน้าที่สนับสนุน จะกลัดกระดุมเม็ดแรกให้อย่างน้อยก็พอใจจากฝั่งผู้บริโภค การกลัดกระดุมเม็ดแรกสำคัญ ทำให้ราคาสูงสุดของทุกสาย ใกล้เคียงกัน และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจับต้องได้ ขึ้นได้ทุกวัน” น.ส.สารี กล่าว
ผู้ดำเนินรายการถามถึง การต่อสัญญาสัมปทานที่คาดว่าจะมีการดำเนินการเร็ว ๆ นี้นั้น น.ส.สารี กล่าวว่า ข้อเสนอของสภาองค์กรผู้บริโภค ช่วงยังไม่ต่อสัญญาให้ใช้ 44 บาท ตามสัญญาของสายสีเขียว BTSC เราก็เคารพสิทธิเขา นั่นคือถึงปี 2572 ผู้บริโภคยอมทนทุกข์ราคาที่เกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำ มันเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ จะไปยกเลิกสัญญาสัมปทานมันไม่ง่าย ยืนอยู่ที่ราคานั้น เมื่อต่อสัญญาสัมปทาน หรือวางแผนต่อสัญญาสัมปทาน มันก็ต้องกลับมาเอาอำนาจมาอยู่ที่ กทม. โดยที่ข้อเสนอของสภาองค์กรผู้บริโภค หาบริษัทใหม่ เพราะขณะนี้เหลือเฉพาะการเดินรถอย่างเดียว
“สายสีเขียวไข่แดง ต้นทุนโครงสร้างเอกชนไม่มี ส่วนต่อขยายลงทุนโดยรัฐทั้งหมด ข้อเสนอคือ ขอให้รัฐบาลรวมทั้ง กทม. เรียกว่าคืนต้นทุนของตัวเองอย่างช้า ๆ และไม่คิดกำไรเพราะนี่คือบริการขนส่งสาธารณะ หรือขนส่งมวลชน คือหมายถึงว่า มวลชนคนต้องขึ้นได้เยอะ ไม่ใช่ขึ้นได้เฉพาะบางกลุ่ม คนมีรายได้สูง หรือเราคงไม่ทำให้รถไฟฟ้าเป็นรถแท็กซี่ของคนรวย เราควรทำให้ทุกคนขึ้นได้” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว
น.ส.สารี กล่าวว่า จากการศึกษาของนักวิชาการ ค่าจ้างเดินรถสายสีเขียว ต้นทุนอยู่ไม่เกิน 19 บาท เมื่อไม่เกินนี้ ทำให้เรามั่นใจว่า หลังสัญญาสัมปทานหมด ราคา 25 บาทเป็นราคาที่ทำได้จริง ผู้ว่าฯ กทม.อาจต้องหาคนมาประมูล มาร่วมลงทุนโดยแยกระหว่างการร่วมลงทุนในการให้บริการเดินรถ และหาประโยชน์จากเชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้า
“เราอยากให้ผู้ว่าฯ กทม.และทีมผู้บริหาร กทม.ได้ยิน ควรแยก 2 สัญญา สัญญาเดินรถสัญญาหนึ่ง สัญญาผลประโยชน์บนรถอีกสัญญาหนึ่ง เพื่อเอารายได้ส่วนนั้นมาลดค่าบริการเดินรถ ส่วนของ BTSC แยกกันดำเนินการ ส่วนโฆษณาเป็นของบริษัทมีกำไรทุกปี เดินรถขณะนี้ก็กำไร เชื่อว่าเราอยากเห็นแนวทางที่ทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงจนทุกคนขึ้นได้ทุกวัน หรืออย่างน้อยผู้ว่าฯ กทม. ราชการ หรือกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทยที่ดูแล กทม. ควรมีเป้าหมายระยะยาวร่วมกันที่ค่าโดยสาร เรียกว่าขนส่งมวลชนใน กทม. และทั่วประเทศ ไม่เกินร้อยละ 10 ของประชาชน ต้องมีเป้าหมายระยะยาวให้ได้ และมีความสำคัญ ภาคประชาชนต้องช่วยกันผลักดัน” น.ส.สารี กล่าว
ส่วน น.ส.กชนุช กล่าวว่า รู้สึกตกใจ ที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่พูดแบบนี้ เพราะเรื่องนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรเพื่อผู้บริโภค รวมถึงภาคประชาชน ผลักดันเรื่องนี้มานาน เมื่อต้นปี 2564 ขณะนั้นมีข่าวที่จะขึ้นราคาเป็น 104 บาท เราเชิญพรรคพวกไปทำเรื่องกันอยู่เลย ช่วงนั้นโรงเรียนจะเปิดเทอม ค่ารถไฟฟ้าก็จะปรับขึ้นเป็น 104 บาท เป็นภาระกับผู้บริโภค เลยชวนไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นจดหมายให้รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นราคาค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว และทำกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่อง จนหยุดราคา 104 บาทไว้ต่อจนถึงปัจจุบัน
น.ส.กชนุช กล่าวอีกว่า สิ่งที่ชาวบ้านเดือดร้อน เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ พอจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เราก็มองว่าเป็นความหวังจะได้ผู้ว่าฯ กทม.จากการเลือกตั้ง จึงไปเสนอข้อเสนอต่าง ๆ โดยมีเรื่องรถไฟฟ้าเกี่ยวข้องด้วย โดยระบุว่า ก่อนปรับขึ้นราคา ขอให้มีการเปิดเผยสัญญาสัมปทานก่อน ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โดยเฉพาะนายชัชชาติรับปากว่าจะมีการเปิดเผยสัญญา แล้วพอผู้ว่าฯ กทม.ได้รับการเลือกตั้งม คน กทม.กำลังอยู่ในกระแส “ผู้ว่าฯฟีเวอร์” เรายิ่งมีความหวังว่า อย่างไรผู้ว่าฯ กทม.จะต้องนึกถึงปากท้อง คุณภาพชีวิตของคน กทม. แล้วเรื่องค่ารถไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ทางผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคทำมาโดยตลอด เป็นนโยบายที่ประกาศมาเหมือนกัน
“แต่อยู่ ๆ ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันประกาศว่าจะปรับเป็น 59 บาท ช็อคเลย อย่างอื่นยังไม่ทำ แต่จะขึ้นราคาแล้ว โดยอ้างว่า ก่อนรับภาระมากไปกว่านี้ ถามหน่อยประชาชนไม่ต้องแบกรับหรือ ตอนนี้น้ำมันขึ้นลิตละเท่าไหร่แล้ว ข้าวจานละ 55 บาทแล้ว ยังมาปรับขึ้นค่ารถไฟฟ้าอีก เราว่ามันเกินไป เรามีความหวังต่อผู้ว่าฯ กทม.จะต้องทบทวน อันดับแรกอย่าเพิ่งขึ้นราคา น้ำมันแพง เราควรให้คนหันมาใช้บริการสาธารณะ ไม่ต้องเอารถออกมาวิ่ง ก่อนที่ระยะยาวจะมีการต่อสัญญา พิจารณาหารายได้เพิ่ม เบื้องต้นขออย่าเพิ่งขึ้นราคา ขอคงราคาเดิมไว้ก่อน” น.ส.กชนุช กล่าว