เช็คสถานะสวน “คลองช่องนนทรี” 5 เฟส 980 ล้านถึงไหน? วัดใจ “ชัชชาติ” พอหรือไปต่อ
เช็คสถานะโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ “คลองช่องนนทรี” 5 เฟส 980 ล้านบาท จ้างเอกชนไปแล้ว 3 เฟส เสร็จแล้ว 1 เฟส พบ “วิวัฒน์พลฯ-กิจการร่วมค้า DW” กวาดงานรัฐรวม 2.6 พันล้านบาท อีก 2 เฟสที่เหลือทำโครงการช่วง “รอยต่อ” หลัง “อัศวิน” พ้น “ผู้ว่าฯ กทม.” วัดใจ “ชัชชาติ” ไปต่อหรือพอแค่นี้
ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในยุคการบริหารของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม. ที่ชงให้ที่ประชุมสภา กทม.เพื่อพิจารณา วาระที่ 1 วงเงิน 79,000 ล้านบาท ยังคงไม่สะเด็ดน้ำ เพราะต้องรอการแปรญัตติการใช้งบประมาณต่าง ๆ ในช่วงวาระที่ 2-3 ก่อนถึงจะมีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาวาระ 1 ในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้
อ่านข่าว: ผ่าร่างงบฯ กทม.ปี 66 ยุค "ชัชชาติ" 7.9 หมื่นล้าน หน่วยงานใดได้จัดสรรมากที่สุด
ประเด็นที่น่าสนใจงบประมาณมหาศาลเหล่านี้ นอกเหนือจะถูกใช้ไปกับนโยบายของ “ชัชชาติ” ตามที่หาเสียงเอาไว้แล้ว งบส่วนหนึ่งจะต้องถูกกันไว้เป็น “งบผูกพัน” จากโครงการต่าง ๆ ของผู้ว่าฯ กทม.คนก่อน ๆ
โดยเฉพาะโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี งบประมาณรวม 980 ล้านบาท ในสมัย “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ที่ถูกแบ่งออกเป็น 5 เฟส ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วแค่เพียง 1 เฟสเท่านั้น
“ชัชชาติ” เคยให้สัมภาษณ์ว่า กทม.มีงบผูกพันค่อนข้างมาก โดยมีโครงการผูกพันกว่า 126 โครงการ วงเงินรวมทั้งหมด 98,710 ล้านบาท โดยปี 2566 มีงบผูกพันจำนวน 14,722 ล้านบาท และปี 2567 จำนวน 24,854 ล้านบาท ดังนั้นงบลงทุนใหม่สำหรับปี 2566 มีจำนวน 1,695 ล้านบาท
- ลงนามจัดจ้างเอกชนแล้ว 3 เฟส 524.1 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้กรุงเทพธุรกิจ เคยรายงานแล้วว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี งบประมาณรวม 980 ล้านบาท ถูกแบ่งเป็น 5 เฟส โดยดำเนินการไปแล้ว 3 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 2
1.โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 1 จากถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) หรือปรับปรุงคลองช่องนนทรี เฟส 1 วงเงินงบประมาณ 80 ล้านบาท ตั้งราคากลาง 79.9 ล้านบาท ดำเนินการภายหลังทำโครงการเฟส 2 ไปแล้วกว่า 3 เดือน โดยเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ดำเนินการเปิดให้เอกชนเข้ามาซื้อเอกสาร (ซื้อซอง) มีจำนวนเบื้องต้น 6 ราย แต่ไม่มีเอกชนรายใดยื่นเสนอราคา ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2564 ได้ยกเลิกประกาศเชิญชวน
อย่างไรก็ดี กทม.ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนมาประกวดราคาโครงการดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 11 มี.ค. 2565 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 กทม.ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ บริษัท วิวัฒน์พล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ยื่นเสนอราคารายเดียว และเสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 79 ล้านบาทถ้วน
2.โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 2 จากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) หรือปรับปรุงคลองช่องนนทรี เฟส 2 ประกาศราคากลางเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2564 วงเงิน 79.7 ล้านบาท โดยมีบริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด เป็นผู้เสนอราคารายเดียว ชนะไปด้วยวงเงิน 79 ล้านบาทถ้วน ต่ำกว่าราคากลาง 7 แสนบาท ประกาศผู้ชนะเสนอราคาเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 และทำสัญญาเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564
3.ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 3 จากซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) หรือปรับปรุงคลองช่องนนทรี เฟส 3 วงเงินงบประมาณ 370 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 กทม.ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า DW จากผู้ยื่นเสนอราคา 4 ราย โดยให้เหตุผลว่า กิจการร่วมค้า DW เป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ชนะการเสนอราคา เป็นเงินทั้งสิ้น 366.1 ล้านบาท
เท่ากับว่า ณ ขณะนี้ (เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2565) มีเอกชน 3 รายเข้าปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีแล้ว 3 เฟส รวมวงเงิน 524.1 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด (เฟส 2) วงเงิน 79 ล้านบาท, บริษัท วิวัฒน์พล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (เฟส 1) วงเงิน 79 ล้านบาท, กิจการร่วมค้า DW ที่เป็นธุรกิจ SMEs (เฟส 3) วงเงิน 366.1 ล้านบาท
- ประกาศจัดจ้างช่วง “รอยต่อ” หลัง “อัศวิน” ลาออก
อีก 2 เฟส ได้เริ่มประกาศเชิญชวนเอกชนมาเสนอราคาแล้ว ได้แก่
4.ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 4 จากถนนจันทร์ถึงถนนรัชดาภิเษก ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) หรือปรับปรุงคลองช่องนนทรี เฟส 4 วงเงินงบประมาณ 250 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 มีการประกาศร่างเอกสารประกวดราคา ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 ประกาศราคากลาง และออกประกาศเชิญชวน
5.ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 5 จากถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระรามที่ 3 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) หรือปรับปรุงคลองช่องนนทรี เฟส 5 วงเงินงบประมาณ 200 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 มีการประกาศร่างเอกสารประกวดราคา ต่อมาเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2565 ประกาศราคากลาง และออกประกาศเชิญชวน
ที่น่าสนใจคือในโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี 2 เฟสที่เหลือ คือเฟส 4-5 ถูกดำเนินการในช่วง “รอยต่อ” ภายหลัง “พล.ต.อ.อัศวิน” ลาออกจากตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.” เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2565 และมีปลัด กทม.รักษาราชการแทน
สำหรับข้อมูลของบริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด กรุงเทพธุรกิจเคยนำเสนอไปแล้วว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2542 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 111/96-97 ถนนรัชดา-รามอินทรา คันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด รับเหมาก่อสร้าง ปรากฏชื่อ นางสาวอัมพวรรน์ โอบอ้อม นายวัชรพงษ์ อำนวยรักษ์สกุล นายพจนารถ สุทธิชัยมงคล
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2565 มี นางสาวอัมพวรรน์ โอบอ้อม ถือหุ้นใหญ่สุด 67% นายวัชรพงษ์ อำนวยรักษ์สกุล ถือ 14% นางสาวนนทพร โอบอ้อม ถือ 9.5% นายวุฒิพงษ์ สุขเย็น ถือ 9.5%
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564 มีรายได้รวม 561,627,518 บาท รายจ่ายรวม 524,210,775 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 4,855,403 บาท เสียภาษีเงินได้ 8,320,293 บาท กำไรสุทธิ 24,241,045 บาท
บริษัทแห่งนี้ เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ระหว่างปี 2544-2564 กว่า 93 สัญญา รวมวงเงินอย่างน้อย 1.7 พันล้านบาท หากนับเฉพาะที่เป็นคู่สัญญากับ “กทม.” พบว่า ระหว่างปี 2544-2564 อย่างน้อย 74 สัญญา รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 1.6 พันล้านบาท
บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด มีเครือข่ายอยู่อีกอย่างน้อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เค.จิรกิตต์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับ กทม. วงเงินกว่า 351 ล้านบาท ส่วนบริษัท วรัตถ์ เจริญพานิช จำกัด เป็นคู่สัญญากับ กทม. กว่า 502 ล้านบาท
รวมทั้ง 3 แห่ง เป็นคู่สัญญางานรับเหมาก่อสร้าง และปรับปรุงต่าง ๆ ของ “กทม.” ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2.4 พันล้านบาท
- “วิวัฒน์พลฯ-กิจการร่วมค้า DW” กวาดงานรัฐ 2,618.6 ล้านบาท
ส่วนบริษัท วิวัฒน์พล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2544 ทุนปัจจุบัน 40 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 92/8 ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด รับเหมาก่อสร้าง อาคาร สะพาน ถนน ปรากฏชื่อ นายวีระพล มงคลพูนเกษม เป็นกรรมการรายเดียว
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2565 นายวีระพล มงคลพูนเกษม ถือหุ้นใหญ่สุด 95% นางเบญจรัตน์ มงคลพูนเกษม ถือ 4.75% นางสาวพูนทิพย์ มงคลพูนเกษม ถือ 0.25%
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 522,190,283 บาท รายจ่ายรวม 498,020,983 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 2,505,315 บาท เสียภาษีเงินได้ 5,431,859 บาท กำไรสุทธิ 21,232,125 บาท
ฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า บริษัท วิวัฒน์พล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และกิจการร่วมค้า DW เป็นคู่สัญญาภาครัฐรวมกัน 1,570 สัญญา รวมวงเงิน 2,618.6 ล้านบาท ดังนี้
บริษัท วิวัฒน์พล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในช่วง 8 ปีหลังสุด (ระหว่างปีงบประมาณ 2558-2565) เป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐ 1,566 สัญญา ส่วนใหญ่เป็นคู่สัญญากับ กทม. รวมวงเงิน 2,191.26 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 69 โครงการ รวมวงเงิน 148.11 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 171 โครงการ รวมวงเงิน 267.74 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 197 โครงการ รวมวงเงิน 475.77 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 188 โครงการ รวมวงเงิน 478.22 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2561 จำนวน 204 โครงการ รวมวงเงิน 269.35 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 284 โครงการ รวมวงเงิน 233.06 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 150 โครงการ รวมวงเงิน 89.63 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2558 จำนวน 303 โครงการ รวมวงเงิน 229.38 ล้านบาท
ส่วนกิจการร่วมค้า DW ยังตรวจสอบไม่พบข้อมูลว่าเป็นบริษัทอะไรรวมกับบริษัทอะไร แต่ในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐพบว่า ในช่วง 2 ปีหลังสุด (ระหว่างปีงบประมาณ 2564-2565) เป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐ 4 สัญญา รวมวงเงิน 427.34 ล้านบาท ได้แก่
- ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3 โครงการ รวมวงเงิน 406.48 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1 โครงการ รวมวงเงิน 20.86 ล้านบาท
ทั้งหมดคือข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เงินงบประมาณไปกับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ที่ริเริ่มสมัย "ผู้ว่าฯอัศวิน" ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการใช้งบกลางไปดำเนินโครงการในเฟส 2 รวมถึงถูกตรวจสอบเรื่องความคุ้มค่าในการใช้เม็ดเงินงบประมาณดังกล่าว
ปัจจุบันโครงการนี้ยังเหลือเฟส 4-5 ที่ประกาศจัดจ้างไปแล้ว ดังนั้นต้องวัดใจ "ผู้ว่าฯชัชชาติ" ว่าจะดำเนินการโครงการต่อ หรือยุติไว้เพียงแค่ 3 เฟสแรก เอาเงินงบผูกพันที่เหลือไปทำโครงการอื่น รอดูกันต่อไป