"เจษฎ์" แนะ "ประยุทธ์" พักร้อน ก่อนตีความ8ปี ชี้ยุติปัญหาขัดแย้ง-ชุมนุม
"เจษฎ์" มองมี3นัยตีความ 8 ปีนายกฯประยุทธ์ เชื่อก่อนครบเวลามีปัญหาขัดแย้ง-ชุมนุม แนะ "ประยุทธ์" พักร้อน เพื่อยุติปัญหา พร้อมให้จับตา วาระ รมต.-นายกฯรักษาการ
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และ กลุ่มสภาที่สาม ร่วมจัดเวทีเสวนา เรื่อง "วาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ”
โดย นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าวโดยขอให้ความเห็นฐานะส่วนตัว ไม่ใช่ในนามอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า การตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบวาระ 8 ปี เมื่อใด ยอมรับว่าสามารถตีความได้ 3 นัย 1.ตีความตามกฎหมายแบบตรงไปตรงมา โดยใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 และมาตรา 264 ที่กำหนดให้เป็นบทต่อเนื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้เป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งหมายรวมถึงตำแหน่งนายกฯ ด้วยเท่ากับว่า จะเร่ิมนับวันที่ 24 สิงหาคม 2557
นายเจษฎ์ กล่าวว่า 2.การตีความว่า มาตรา158 และ มาตรา 264 เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2560 และก่อนหน้านั้นยังไม่เคยมีบทบัญญัติดังกล่าว และมีคนมองว่าต้องเริ่มตีความวันที่ 6 เมษายน 2560 อาจทำให้เกิดปัญหาเนื่องจากคำอธิบายว่าช่วงที่เป็นนายกฯก่อนหน้านั้นเพราะเป็นรัฎฐาธิปัตย์ เพราะยึดอำนาจจากเจ้าของอำนาจและผู้ใช้อำนาจคือประชาชน ซึ่งพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจผ่านรัฐสภา คณะรัฐมตรี และศาล เท่ากับการยึดอำนาจนั้นยึดจากประชาชนและ พระมหากษัตริย์ อาจตีความได้ว่าเป็นกบฎได้
นายเจษฎ์ กล่าวด้วยว่า 3.ตีความโดยใช้กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ มาตรา 158 และมาตรา 159 โดยไม่นำบทเฉพาะกาลมาตรา 264มาเกี่ยวข้อง เพราะอ้างว่าเป็นเงื่อนไขเพื่อสร้างความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เกี่ยวข้องกัน จะทำให้มีปัญหาคือ หากนับอายุนายกฯ เมื่อปี 2562 คำถามคือ การดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 ถึงปี 2560 ก่อนจะโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 ในปี 2562 เป็นอะไรต้องอธิบาย
"การตีความแบบแรกง่ายสุด เพราะตามบญญญัติ หากไม่ชัดต้องดูตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ ผ่านเจตนาของผู้ร่าง ตามจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าป้องกันการผูกขาดอำนาจ แม้กรธ. บอกว่าข้อถกเถียงนั้น เป็นข้อถกเถียงว่าใช่หรือไม่ใช่ และไม่ใช่มติ ผมเชื่อว่ากรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญต้องแสวงหาเจตนารมณ์และรับเป็นเอกสารวินิจฉัย เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นของกฎหมาย” นายเจษฎ์ กล่าว
นายเจษฎ์ กล่าวถึงข้อเสนอที่ให้พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาวาระของตนเอง ว่า ตนมองว่าหลังของพล.อ.ประยุทธ์พิงกับรัฐธรรมนูญที่เป็นบทว่าด้วยกลไกดำรงำแหต่งและพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้นเมื่อเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน หากวันที่ 17 สิงหาคมนี้ พรรคฝ่ายค้านยื่นให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ตนเชื่อว่านายชวนจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญทันที และศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 24 สิงหาคม เพราะหากทำชักช้าจะมีปัญหาต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
นายเจษฎ์ กล่าวด้วยว่าเช่น วันที่ 25 สิงหาคม ที่พล.อ.ประยุทธ์ จะพิจารณากำหนดตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทร., ผบ.ทอ. และปลัดกลาโหมรวมถึง ผบ.ตร. ดังนั้นหากพล.อ.ประยุทธ์ พ้นตำแหน่งอาจมีปัญหาว่าการดำเนินการดังกล่าวววชอบหรือไม่ ดังนั้นเมื่อไม่ให้เกิดปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ ควรลาพักร้อน หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง ป้องกันไม่ให้มีปัญหาลุกลามบานนปลาย จนนำไปสู่การชุมนุมที่อาจลามไปประเด็นอื่น เช่น การปฏิรูปสถาบัน ที่ทำให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวและฟางเส้นสุดท้ายได้
นายเจษฎ์ กล่าวด้วยว่ากรณีที่เกี่ยวเนื่องกันกับวาระดำรงตำแหน่งของนายกฯ คือ การพ้นไปของ ครม. เพราะเมื่อนายกฯพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีต้องพ้นไปทั้งคณะ แต่นายกฯ ไม่สามารถรักษาได้ แต่รัฐมนตรีรักษาการได้ จากนั้นต้องเลือกคนทำหน้าที่รักษาการนายกฯ เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ , นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข และอาจมีคำถามว่าจะรักษาการเมื่อไร หากรักษาการยาวถึงการประชุมเอเปคอาจเป็นเรื่องตลก และคนไม่ยอม อีกทั้งตามกลไกสามารถหาบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกฯได้
“คนที่มีรายชื่อในพรรคการเมืองที่เสนอให้เป็นนายกฯ จะยอมหรือไม่ หากเป็นอนุทินจะยอมรักษาการหรือไม่ อาจมมีคำถามว่า หนูกินหญ้าหรือกินแกลบ หากลงมติในสภา หนูเป็นนายกฯได้ตั้งรัฐบาลได้ ทำไมต้องรักษาการ หากนายจุรินทร์รักษาการ อยู่ในยังพรรคง่อนแง่น รักษาการไปได้ไกลแค่ไหน หากพล.อ.ประวิตรรักษาการ อาจนั่งเวรยาว” นายเจษฎ์ กล่าว
ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส. อดีตผู้ว่า สตง. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเสียสละด้วยการทำหนังสือถึงนายชวน ว่า ครบวาระ 8 ปีแล้ว ทำหน้าที่ไม่ได้ ให้ประธานรัฐสภาดำเนินการหานายกฯ ซึ่งกรณีดังกล่าวต่างจากการลาออก แต่คือการเปลี่ยนนายกฯ ขณะที่ตำแหน่งรมว.กลาโหม นั้นไม่ได้บอกให้พ้น
“บ้านเมืองจะไปได้ ต้องเสียสละ นอย่าคิดวิธีการยืดเยื้อยาวนาน เสียเวลาตีความ ให้ท่านทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา ให้กระสุนไปตกที่ประธานรัฐสภา ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ” นายพิศิษฐ์ กล่าว
ส่วนนายวันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีดังกล่าวหากทำงานช้าอาจมีผลกระทบต่อองค์กรได้ ทั้งนี้ การอยู่นานของพล.อ.ประยุทธ์ มีผลกระทบต่อสถาบันกองทัพ เพราะถูกมองว่าเชื่อมโยงกัน และจะกระทบต่อการพัฒนาองค์กร การจัดซื้อต่างๆ ที่ถูกมมองโดยตั้งอคติ เพราะ การผูกขาดทางอำนาจ เมื่อมีอคติกับการเมือง กองทัพที่ไม่มีเจตนาการรเมือง เสียโอกาสพัฒนาไปด้วย.