"อดิศร" เผย "ชลน่าน" จ่อเสนอชื่อ นักนิติศาสตร์ ให้ความเห็นต่อศาลรธน. ปม8ปี

"อดิศร" เผย "ชลน่าน" จ่อเสนอชื่อ นักนิติศาสตร์ ให้ความเห็นต่อศาลรธน. ปม8ปี

โฆษกผู้นำฝ่ายค้าน ไม่วางใจ "มีชัย-ปกรณ์" จ่อทำเรื่องถึงศาลรธน. ขอเพิ่มชื่อนักนิติศาสตร์-ปชช.-สื่อ ให้ความเห็นต่อศาลรธน.เพิ่มเติม คดีนายกฯ8ปี มั่นใจศาลรธน.ตัดสินในกรอบ1เดือน

        นายอดิศร เพียงเกษ โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่านพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เตรียมทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านนายชวน หลีกภั ประธานสภาฯ เพื่อให้พิจารณาเพิ่มบุคคลที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีที่พรรคฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ครบกำหนด 8ปี เมื่อ 24 สิงหาคม หลังจากที่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญเตรียมรับฟังความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฎีกา และอดีต เลขานุการกรธ. เบื้องต้นผู้นำฝ่ายค้านเตรียมเสนอชื่อนักวิชาการด้านนิติศาสตร์, ภาคประชาชน และสื่อมวลชน แนบหนังสือดังกล่าวด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน ทั้งนี้คาดว่าจะมีข้อสรุปเร็วๆนี้

 

 

        “ที่ฝ่ายค้านคุยกัน นั้นมองว่านายมีชัยและนายปกรณ์นั้นทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนคนอื่นนั้นทำหน้าที่ติดตามการทำงานของท่าน จึงอยากให้มีหลากหลายความเห็นไม่เอนเอียง ดังนั้นควรรับฟังบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นกลาง ไม่เอนเอียง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี อย่างไรก็ดีผมยังเชื่อมั่นและเคารพศาลรัฐธรรมนูญ” นายอดิศรกล่าว

        เมื่อถามว่ามองว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน1 เดือนหรือไม่ นายอดิศร กล่าวว่า ตนเชื่อว่าในระยะเวลา 1 เดือนจะมีความชัดเจน เพราะข้อเท็จจริงนั้นมีข้อยุติแล้วว่า ใครทำอะไร อย่างไร ที่ไหน เมื่อไร ส่วนกรณีที่คณะหลอมรวมประชาชนมองว่าจะมีกระบวนการยื้อการพิจารณาจนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นวาระและทำให้มีปัญหาในการออกเสียงชี้ขาดนั้น ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น ยืนยันว่ามั่นใจและเคารพศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

        โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ ใช้อำนาจนายกฯรักษาการอย่างจำกัด โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายก.ตร. และ กตช. อย่าใช้อำนาจอย่างที่เนติบริกรระบุว่าสามารถยุบสภาได้ หรือแต่งตั้งโยกย้ายได้.