“ดร.ยุ้ย” ติวเข้ม ขรก.กทม.ปูพื้น “งบประมาณฐานศูนย์” เริ่มใช้งบปี 68
“ดร.ยุ้ย” ประเดิมเวทีแรก ติวเข้มราชการ กทม. นำร่องทำ “งบประมาณฐานศูนย์” ปักธงลุยใช้ตัวชี้วัดรูปแบบใหม่ OKRs แทน KPI หวังเริ่มใช้ในงบปี 2568 มุ่งใช้งบประมาณจำกัดแต่ได้ผลลัพธ์คุ้มค่า หนุนกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรุงเทพมหานครจัดการอบรมเรื่อง “การจัดทำแผนและงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based Budgeting) เพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจร่วมกับราชการ และ ตัวแทนเจ้าหน้าที่เขต 50 เขต และ สำนักต่างๆ ซึ่งเป็นครั้งแรก ที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในการปรับเป้าหมายและทิศทางของแผนงบประมาณในการพัฒนากรุงเทพมหานคร ให้สอดรับกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนพัฒนาเส้นเลือดฝอย ให้กรุงเทพเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนซึ่งจะเป็นฐานไปสู่มหานครแห่งเอเชียคาดว่าจะจัดทำได้ในปีงบประมาณ 2568
“แนวทางการทำงานของ กทม.มียุทธศาสตร์ 7 ข้อที่เป็นแกนหลัก แล้วแตกแกนหลักมาเป็นยุทธศาสตร์ย่อย ซึ่งครั้งนี้ได้มุ่งเน้นเรื่องการทำ OKRs-Objective and key results หรือ การตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด และ Zero-based budgeting หรือ งบประมาณฐานศูนย์ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งจะเป็นฐานไปสู่มหานครแห่งเอเชีย ซึ่งจากการหารือโรดแมพของกทม.แผนปี 2566 จะเป็นการล้อยุทธศาสตร์ทั้ง 7 ด้านและมีบางโครงการได้ทำ OKRS ไว้แล้ว ส่วนแผนปี 2567 จะทำ Key results ใหม่ และ ปี 2568 งบประมาณจะต้องถูกเขียนใหม่ด้วยซีโร่เบสทั้งหมด” ดร.เกษรา กล่าว
สำหรับ OKRs จะเป็นตัวชี้วัดรูปแบบใหม่ที่ต่างจากดัชนีชี้วัดความสำเร็จหรือ KPI (Key Performance Indicato) ที่วัดคนทำงานเพียงแค่กระบวนการที่ได้ทำ แต่ OKRs เป็นแนวคิดการบริหารที่เน้นการตั้งเป้าหมาย และติดตามผล ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งในด้านคุณค่า และสัมฤทธิ์ผลจริง แม้จะไม่ได้ตามเป้าหมายทั้งหมด
“กรณี กทม.มีเป้าหมายให้เด็กในกทม.ได้เรียนว่ายน้ำทุกปี สิ่งที่เป็นเป้าหมายหลัก คือเด็กต้องว่ายน้ำได้ และ ไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่หากเป็น KPI กระบวนการ คือ จ้างครูมาสอนเด็กว่ายน้ำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม OKRs จะทำให้สามารถประเมินได้ว่าความต้องการของประชาชนมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เพื่อปรับนโยบายให้สอดรับกับนโยบายและการจัดสรรงบประมาณ” ดร.เกษรา กล่าว
ส่วนแผนการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ ปัจจบันทีมกำลังร่างยุทธศาสตร์ ในการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ใช้งบประมาณที่น้อยลง และคุ้มค่าแต่ได้ผลลัพธ์การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการจัดทำงบประมาณแบบเดิมเพราะ จะทำให้ไม่เกิดการคิดใหม่ทำใหม่ เนื่องจากคิดจากฐานงบฯเดิมแล้วตั้งงบประมาณให้ครอบคลุมหรือมากกว่า แต่ด้วยสถานการณ์โลกเปลี่ยน การทำแบบเดิมไม่สอดคล้องกับการที่จะพัฒนาของเมืองที่จะให้ไปข้างหน้า ดังนั้นการทำงบประมาณฐานศูนย์ คือ การที่เราคิดใหม่ทำใหม่ เปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานโดยการเซตความคิดเป็นซีโร่ โดยพิจารณาจากโครงการยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งบางโครงการอาจไม่สอดคล้องกับแผนการพัฒนาในขณะนี้ ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด เช่น ค่าไฟฟ้าแทนที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี เราอาจจะคิดใหม่นำเทคโนโลยีมาใช้ อาจเกิดงบลงทุนสูงในปีแรก แต่ค่าไฟฟ้าจะลดลงอย่างแน่นอน เป็นต้น
“ด้วยประสบการณ์ที่ได้ทำงานทั้งใน ระบบราชการ และ องค์กรเอกชน จึงเข้าใจการทำงานทั้งสองระบบเป็นอย่างดี สิ่งที่แตกต่างทั้งสอง คือ งานราชการจะมีกรอบระเบียบกฎเกณฑ์มาก ขณะที่เอกชนมีเป้าหมาย คือ การทำกำไร ดังนั้นหากสิ่งใดไม่มีประโยชน์ต่อการทำกำไรก็สามารถตัดออกได้เลย ขณะที่โจทย์ของกทม.ไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่กทม.ต้องการก้าวไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ ดังนั้นตรรกะง่ายๆ ก็คือ หากสิ่งที่ทำอยู่วันนี้ไม่ได้เอื้อหรือทำให้กทม.เป็นเมืองที่น่าอยู่ในมิติต่างๆ ก็แสดงว่าเรื่องนั้นไม่ควรจะทำเท่าไหร่ เนื่องจากเวลาคือสิ่งที่มีค่าที่สุด และการเดินหน้าที่จะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกชน ราชการ หรือ กทม. ต่างก็ต้องมีกรอบที่เป็นหลักกว้างๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้” ดร.เกษรา กล่าว