ธัญญา ชุนชฎาธาร และเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 | วิทยากร เชียงกูล

ธัญญา ชุนชฎาธาร และเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 | วิทยากร เชียงกูล

ธัญญา ชุนชฎาธาร (2493-2565) 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ ที่นำไปสู่เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย “14 ตุลาคม 2516” จากไปเมื่อเร็วๆ นี้

ธัญญาและเพื่อนๆ รุ่นเขาเป็นคนมีอุดมคติและกล้าแสดงบทบาทในการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมที่ควรแก่การระลึกถึง และศึกษาบทเรียนจากพวกเขา (พวกเขาในที่นี้เป็นคำรวมๆ ที่หมายถึงผู้หญิงด้วย)

นักศึกษากลุ่มที่มีบทบาทในเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 เป็นกลุ่มคนพิเศษที่แตกต่างจากคนอื่น คนแบบธัญญา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ธีรยุทธ บุญมี ฯลฯ ส่วนใหญ่เริ่มทำกิจกรรมจากการเป็นนักอ่าน นักเขียน นักทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ความคิด

พวกเขาเติบโตมาจากการรักการอ่าน การตั้งคำถาม การอยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ นอกเหนือจากในตำรา (เพียงเพื่อสอบเอาคะแนน เพื่อให้จบได้ปริญญา) และมีจิตสำนึกอยากมีส่วนทำให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้า เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรม

ในยุคเผด็จการทหารจอมพลถนอม-ประภาส (2506-2516) ที่สืบอำนาจต่อมาจากจอมพลสฤษดิ์ (2500-2506) การเขียนและพิมพ์หนังสือแนวเสรีประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม และการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการถูกเพ่งเล็งและจับกุมโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร

แต่นักทำกิจกรรมที่เป็นนักศึกษา (รวมทั้งนักเขียน) ช่วงปี 2511-2516 ก็หาช่องทางทำกัน (แบบอ้อมบ้าง อย่างมีศิลปะบ้าง อย่างซ่อนเร้นบ้าง) อย่างต่อเนื่อง

ธัญญา ชุนชฎาธาร และเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 | วิทยากร เชียงกูล

กลุ่มนักศึกษาหลายกลุ่มทำนิตยสารรายสะดวกและไปยืนขายกันเองแบบจรยุทธ บางเล่มอาจจะถูกสั่งปิด ถูกสั่งเก็บ ถูกสอบสวน หรือลงโทษบ้าง แต่ก็ยังมีคนที่พยายามทำออกมาได้เสมอๆ นี่คือการเผยแพร่ความคิด การชวนให้คนคิดถึงเรื่องต่างๆ ในสังคมที่สำคัญ

ธัญญาเป็นนักกิจกรรม นักทำหนังสือ นอกจากเขาจะทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ความคิดรักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมแล้ว เขายังมีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมและนำการประท้วงกรณีที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงสั่งลบชื่อนักศึกษา 9 คน ที่ร่วมทำหนังสือวิจารณ์รัฐบาล (กรณีอภิสิทธิ์ชนกลุ่มหนึ่งไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่) ในช่วงเดือนมิถุนายน 2516 ด้วย

การชุมนุมประท้วงที่เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปลุกให้มีนักศึกษาจากหลายสถาบันที่มีความคิดคล้ายกันทยอยมาเข้าร่วมด้วยนับหมื่นคน นั่นคือการชุมนุมแบบต่างคนต่างได้ข่าวก็ชักชวนกันมาร่วมด้วยใจโดยไม่มีศูนย์กลางหรือองค์การจัดตั้ง

การที่มีคนมาชุมนุมกันมากเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีของยุคเผด็จการ ทำให้รัฐบาลจอมพลถนอมต้องยอมอ่อนข้อให้นักศึกษารามคำแหงทั้ง 9 คน กลับไปมีสถานภาพนักศึกษาตามเดิมได้

ธัญญา ชุนชฎาธาร และเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 | วิทยากร เชียงกูล

ชัยชนะของขบวนการนักศึกษาครั้งนี้คือจุดที่เริ่มรวมพลังนักศึกษาที่สำคัญ การชุมนุมครั้งนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในพลังของคนที่กล้าชุมนุมประท้วงที่จะนำไปสู่เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ขึ้นในอีก 3-4 เดือนต่อมา คือ 14 ตุลาคม 2516

ธัญญาคือ 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญที่ถูกจับกุมวันที่ 5 ตุลาคม 2516 13 คนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา รวมทั้งธีรยุทธ บุญมี ซึ่งอยู่ปีท้ายหรือเพิ่งจะเรียนจบ มีผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว (เป็นอาจารย์ นักเขียน อดีตนักการเมืองฝ่ายก้าวหน้า วิศวกร) 4 คน

พวกเขาถูกจับกุมขณะที่พวกเขาไปเดินแจกเอกสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ส.ส. ในย่านชุมชนในกรุงเทพฯ การทำเช่นนั้นในยุคเผด็จการทหารคือ ความกล้า เชื่อมั่น ในพลังประชาธิปไตยจริงๆ ทั้งๆ ที่เป็นกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการถูกตำรวจจับกลุ่ม ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏ เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐบาลเขียนกฎหมายให้มีบทลงโทษที่รุนแรง

กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นกลุ่มคนที่มารวมตัวกันแบบหลวมๆ น่าจะมีสัก 20-30 คน แม้จะมีชื่อปัญญาชนที่เป็นผู้ใหญ่ที่พวกเขาไปขอให้เซ็นชื่อและตีพิมพ์ในเอกสารแจกด้วย 100 คน ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนอิสระที่ต่างคนต่างทำงานหรือสังกัดอย่างกระจัดกระจาย

นั่นก็คือโดยรวมแล้ว พวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองที่เหนียวแน่นใหญ่โต เพียงแต่เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีเจตนารมณ์เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแน่วแน่และใจถึง

องค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยในตอนนั้นก็มีเฉพาะบางแห่งและกล่าวโดยรวมแล้วยังไม่ได้เข้มแข็งนัก ถนัดเรื่องการจัดกิจกรรมกีฬา งานวัฒนธรรมประจำปีมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อ อมธ. - องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ ลงมติจัดชุมนุมประท้วงที่ธรรมศาสตร์ (ตอนนั้นมีแค่ท่าพระจันทร์) ทุกเย็นตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ภายใน 5 วัน นักศึกษาและประชาชนที่ได้ข้าวไปร่วมชุมนุมมากขึ้น

มีการนัดเดินขบวนครั้งใหญ่ที่มีคนร่วมหลายแสนคน (ในยุคนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต มีหนังสือพิมพ์รายงานข่าวบ้าง แต่วิทยุโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลไม่กล้าเสนอข่าวหรือเสนอข่าวแบบโจมตีนักศึกษา)

ตั้งแต่เที่ยงวัน เดินจากธรรมศาสตร์ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปลานพระบรมรูปทรงม้า และกลุ่มที่เหลือตอนดึกเดินต่อไปที่วังสวนจิตรลดา ด้วยหวังว่าจะป้องกันไม่ให้รัฐบาลส่งตำรวจ ทหาร มาปราบปรามตามที่มีข่าวได้

แต่ช่วงเช้ามืดวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผู้ชุมนุมจะสลายตัวกลับบ้านเพราะรัฐบาลยอมปล่อย 13 กบฏแล้ว (ตั้งแต่เย็นวันที่ 13 ตุลาคม) ตำรวจทุบตีนักศึกษา และเกิดการตอบโต้ เกิดจลาจลและเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จบลงในวันที่ 15 ตุลาคม ด้วยการที่กลุ่มการเมืองอื่นผลักดันให้จอมถนอม ประภาส และ พอ.ณรงค์ กิตติขจร ลาออกและบินไปอยู่ต่างประเทศ

พระเจ้าอยู่หัวทรงประกาศตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีและอธิการบดีธรรมศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรี แม้การเปลี่ยนแปลงจริงจะมาจากชนชั้นสูง แต่เพราะนักศึกษาประชาชนต่อสู้ไม่ยอมจำนนจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

แม้ขบวนการ 14 ตุลา จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เป็นระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้เพียง 3 ปี ก็ถูกตำรวจของรัฐบาลที่กลัวนักศึกษาอย่างเกินความจริงปราบปรามอย่างรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

แต่พวกนักกิจกรรมยุคนั้นที่เรามักจะเรียกกันแบบง่ายๆ ว่า พวกคนเดือนตุลา ได้สร้างผลสะเทือนทางสังคมและทางความรู้สึกนึกคิดของเยาวชนและประชาชนบางกลุ่มบางคนที่สำคัญ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะสภาพเศรษฐกิจการเมืองสังคมยุคนั้นเอื้ออำนวย และเพราะมีกลุ่มคนที่กล้าประท้วงโดยสันติวิธี

คนที่มาเข้าร่วมชุมนุมต่างคนต่างมาเพราะมีความคิดอุดมการณ์แนวเดียวกัน ไม่มีใครจัดตั้งอยู่เบื้องหลัง พวกเขาและเธอไม่ได้สนับสนุนกลุ่มการเมืองใด ไม่มีผู้นำองค์กรแบบรวมศุนย์

เป็นกิจกรรมรวมหมู่ที่นิสิตนักศึกษา ประชาชน นักเรียนชั้นมัธยม และเยาวชนคนหนุ่มสาวร่วมกันต่อสู้กับรถถังและปืนกลอย่างเด็ดเดี่ยว ความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการริเริ่ม การนำ ประสานงาน และการดำเนินงานให้มีการชุมนุม โดยคนอย่างธัญญา และเพื่อนพ้องน้องพี่ของพวกเขา

คนหนุ่มสาวหัวรุนแรงรุ่นหลังบางคน มองว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นผลงานของกลุ่มอำนาจทางการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการโค่นล้มกลุ่มถนอม-ประภาส เพื่อพวกเขาจะได้อำนาจ/ผลประโยชน์มากกว่าเป็นผลงานของขบวนการนักศึกษาประชาชน

นั่นเป็นการมองแบบขาวดำ 2 ขั้วอย่างง่ายๆ การชุมนุมประท้วงของนักศึกษาประชาชนคือปัจจัยที่สำคัญ เพราะพวกเขาลงมือเริ่มก่อนและประท้วงอย่างต่อเนื่องเด็ดเดี่ยว ไม่ยอมแพ้

จึงสร้างสถานการณ์ใหม่ให้กลุ่มอำนาจทางการเมืองกลุ่มอื่นใช้เป็นโอกาสในการผลักดันเดินเกมทางการเมืองให้จอมพลถนอม-ประกาศลาออกและเดินทางไปต่างประเทศได้

ถ้าไม่มีขบวนการนักศึกษาประชาชน พวกชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มที่ว่านี้ ก็ยังคงประนีประนอมอยู่กันไปแบบแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันกับกลุ่มถนอม-ประภาสได้

ขบวนการนักศึกษาประชาชนช่วง 14 ตุลาคม ได้รับการยอมรับจากประชาชนสูงมาก หลังจากที่นักศึกษาประชาชนต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวจนเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลได้นั้น ตำรวจทหารในกรุงเทพฯ ไม่กล้าแต่งเครื่องแบบไปทำงาน

ตำรวจจำนวนมากไม่ออกไปทำงานเลย นักศึกษาประชาชนต้องไปทำหน้าแทนที่จราจรและไปช่วยแก้ปัญหาคดี ที่ประชาชนไปแจ้งความที่สถานีตำรวจบางแห่ง (เช่น สน.ชนะสงคราม) เพราะตำรวจไม่มาทำงาน

แต่การที่ขบวนการ 14 ตุลาคม ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้มากหรือยาวนานกว่านี้ ก็เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือขีดความสามารถของขบวนการ 14 ตุลาคมในขณะนั้น

เราต้องยอมรับข้อจำกัดของปัจจัยต่างๆ ที่โครงสร้างการเมืองสังคมไทยถูกผูกขาดอำนาจโดยชนชั้นสูง ขณะเดียวก็ควรยอมรับประเด็นที่ว่าขบวนการนักศึกษาประชาชน 14 ตุลา มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคนั้นให้เป็นประชาธิปไตยในเชิงเปรียบเทียบได้ในระดับหนึ่ง.