"คนเดือนตุลา" จาก "นักศึกษา" สู่นักการเมือง-รมต. กำลังถูกคนรุ่นใหม่ก้าวข้าม?

"คนเดือนตุลา" จาก "นักศึกษา" สู่นักการเมือง-รมต. กำลังถูกคนรุ่นใหม่ก้าวข้าม?

เปิดปูมหลังแกนนำ "คนเดือนตุลา" จาก "นักศึกษา" สู่นักการเมือง-รัฐมนตรี กำลังถูกคนรุ่นใหม่ก้าวข้าม บนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

วาระการรำลึก 6 ตุลาคม 2519 ในปีที่ 45 กำลังเปลี่ยนรูปแบบและเนื้อหา จากพิธีกรรมรำลึกประจำปีของ "คนเดือนตุลา" สู่สายธารการเคลื่อนไหวของเยาวชนนิสิตนักศึกษายุคปัจจุบัน

45 ปี 6 ตุลา มาพร้อมกับกระแสความตื่นตัวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะทำให้ 6 ตุลา เปลี่ยนจากโศกนาฏกรรม เรื่องต้องห้าม เป็นเครื่องมือปลุกเร้าจิตใจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ดังนั้น กลุ่มนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ ผู้จัดชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร หรือกลุ่มอื่นๆในช่วงปลายปี 2563 จึงเข้ามาเป็นจัดงาน 45 ปี 6 ตุลา ในหลายรูปแบบ

แกนนำนักศึกษารุ่นใหม่มองว่า กระแสการเคลื่อนไหวของเยาวชนนักศึกษาปี 2563-2564 กับขบวนการนักศึกษาเมื่อ 45 ปีที่แล้ว มีจุดเชื่อมโยงกัน และเป็นสายธารเดียวกัน คือมีศัตรูเป็นคนเดิม (นายทุน ขุนศึก ศักดินา)

ในทัศนะคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ได้มองข้าม "คนเดือนตุลา" ที่อยู่ในภาคการเมือง เพราะคนเหล่านั้นยังเวียนว่ายอยู่กับการเมืองแบบเก่า 

อย่างไรก็ตาม คนเดือนตุลากลุ่มหนึ่งยังมีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย ไม่ว่าจะอยู่ในฝั่งรัฐบาล และฝ่ายค้าน

'สหายจรัส-หมอมิ้ง'

นับแต่มีการจัดตั้งกลุ่มแคร์ "หมอมิ้ง" นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้กลับมาเล่นบทนักกลยุทธ์อีกครั้ง

\"คนเดือนตุลา\" จาก \"นักศึกษา\" สู่นักการเมือง-รมต. กำลังถูกคนรุ่นใหม่ก้าวข้าม?

สมัยเป็นนักเรียนสวนกุหลาบ หมอมิ้งเป็นสมาชิกกลุ่มยุวชนสยาม กระทั่งเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขาได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล พรรคนักศึกษาหัวก้าวหน้า และเป็นหนึ่งในแกนนำม่วง-เหลือง ร่วมกับตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ 

แกนนำม่วง-เหลือง เปรียบเสมือนคณะเสนาธิการขบวนการนักศึกษาช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 หลังการล้อมปราบในธรรมศาสตร์ หมอมิ้งตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้อาวุธในเขตงานอีสานใต้ มีชื่อจัดตั้งว่า "สหายจรัส"
 

'สหายใหญ่-ภูมิธรรม'

ยุคไทยรักไทย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และ ภูมิธรรม เวชยชัย เปรียบดังมือกระบี่คู่กายทักษิณ ชินวัตร หลังรัฐประหาร 2549 หมอมิ้งหายหน้าไปจากการเมือง แต่ภูมิธรรมยังขลุกอยู่กับพรรคเพื่อไทยมาจนถึงทุกวันนี้

ปี 2517 "อ้วน" ภูมิธรรม เวชยชัย นิสิตคณะรัฐศาสตร์ และเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ ได้จัดตั้ง "พรรคจุฬา-ประชาชน" ถือว่าเป็นพรรคปีกซ้ายในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

\"คนเดือนตุลา\" จาก \"นักศึกษา\" สู่นักการเมือง-รมต. กำลังถูกคนรุ่นใหม่ก้าวข้าม?

ปี 2518 พรรคจุฬา-ประชาชน ส่งภูมิธรรม เข้าชิงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ (นายก สจม.) แต่พ่ายแพ้แก่ วีระกร คำประกอบ ตัวแทนนิสิตวิศวะฯ (ปัจจุบัน วีระกรเป็น ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ)

ปีเดียวกันนั้น ภูมิธรรมล้อบบี้วีระกร คำประกอบ นายก สจม. เสนอชื่อเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)

ปี 2519 พรรคจุฬา-ประชาชน ส่ง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้าชิงนายก สจม. คราวนี้ฝ่ายซ้ายจุฬาฯ ได้รับชัยชนะ และเอนก นายก สจม. ดันสุธรรม แสงปทุม ตัวแทนจุฬาฯ เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯยุค 6 ตุลา 

 

ปี 2520 ภูมิธรรมในชื่อจัดตั้ง "สหายใหญ่" อยู่ที่เขตงานอีสานใต้ ก่อนจะถูกส่งตัวไปอยู่สำนักเอ 30 แขวงหลวงน้ำ สปป.ลาว

สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ภูมิธรรมเป็นเลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทย (ปุระชัย เปี่ยมสมบรูณ์)และ รมช.คมนาคม
 

'สหายสุภาพ-จาตุรนต์'

จาตุรนต์ ฉายแสง พรรคเส้นทางใหม่ เติบโตในตระกูลการเมืองดังแห่งแปดริ้ว หลัง 14 ตุลา 2516 "อ๋อย" จาตุรนต์ เข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

\"คนเดือนตุลา\" จาก \"นักศึกษา\" สู่นักการเมือง-รมต. กำลังถูกคนรุ่นใหม่ก้าวข้าม?

ปี 2518 จาตุรนต์ เป็นรองเลขาธิการ ศนท.ฝ่ายเศรษฐกิจ ร่วมกับสวาย อุดมเจริญชัยกิจ รองเลขาธิการฯ ฝ่ายการเมือง ยุคที่เกรียงกมล เป็นเลขาธิการ ศนท.
ปลายปี 2519 จาตุรนต์หรือ "สหายสุภาพ" เข้าประจำการที่สำนัก 61 ฐานที่มั่นภูพยัคฆ์ น่านเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในสถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ 

เนื่องจากจาตุรนต์ เป็นทายาทอนันต์ ฉายแสง อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขาจึงได้เป็น ส.ส.สมัยแรกตั้งแต่ปี 2529 ขณะที่เพื่อนคนเดือนตุลาหลายคน ลงสมัคร ส.ส.เหมือนกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

พ.ศ.นี้ จาตุรนต์กำลังก่อร่างสร้างพรรคเส้นทางใหม่ พรรคทางเลือกของฝ่ายประชาธิปไตย คาดว่าจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้

'สหายประยูร-เอนก'

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เข้าศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา จึงได้ร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับเพื่อนนิสิตจุฬาฯ และก่อตั้งพรรคจุฬา-ประชาชน

ปี 2519 เอนกได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ และหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา อเนกเดินทางไปร่วมการต่อสู้ในเขตป่าที่เขตงานพัทลุง ตรัง และสตูล (เทือกเขาบรรทัด) มีชื่อจัดตั้งว่า "สหายประยูร"

\"คนเดือนตุลา\" จาก \"นักศึกษา\" สู่นักการเมือง-รมต. กำลังถูกคนรุ่นใหม่ก้าวข้าม?

ปี 2520 สหายประยูร เดินทางไกลจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ โดยจัดตั้งส่งให้ไปอยู่สำนัก 61 ภูพยัคฆ์ น่านเหนือ ร่วมกับเพื่อนผู้นำนักศึกษาอีกหลายสิบชีวิต

เอนกเข้าสู่ถนนการเมือง โดยเริ่มต้นที่พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะลาออกตาม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ มาก่อตั้งพรรคมหาชน และเป็นหัวหน้าพรรคมหาชน

ปี 2561 เอนกเป็นกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)

'สหายแสง-ศุภชัย'

เนื่องจาก ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นนักศึกษาครูตัวเล็กๆ อยู่ภาคอีสาน ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยใน จ.สกลนคร ช่วงปี 2517-2519 จึงไม่ค่อยมีใครรู้จักปูมชีวิตเขามากนัก

สมัยที่ศุภชัยได้เป็น รมช.เกษตรฯ ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ โควตาพรรคภูมิใจไทย เขาได้ร่วมเลี้ยงฉลองเล็กๆกับมิตรสหายที่ร้านครกไม้ไทยลาว จึงพอมีคนรู้บ้างว่า เขาเป็นอดีตนักรบภูพาน

\"คนเดือนตุลา\" จาก \"นักศึกษา\" สู่นักการเมือง-รมต. กำลังถูกคนรุ่นใหม่ก้าวข้าม?

ศุภชัย เป็นลูกชาวนาบ้านแค ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม หลังจบ มศ.3 เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูสกลนคร หลักสูตร ปกศ. หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 เพื่อนสนิทชาวนครพนมได้พาหลบหนีเข้าป่าแถว อ.นาแก จ.นครพนม ก่อนถูกส่งตัวขึ้นไปเข้าโรงเรียนการเมือง-การทหารที่ฐานที่มั่นภูพาน มีชื่อจัดตั้งว่า "สหายแสง" 

ปี 2520-2524 ศูนย์การนำอีสานเหนือ ส่งสหายแสง ไปทำงานงานมวลชนในพื้นที่ทุ่งหนองขาม อยู่เขตรอยต่อ 3 อำเภอคือ อ.เรณูนคร อ.ปลาปาก และ อ.นาแก สหายแสงมีชื่อเสียงในละแวกหมู่บ้านแถวนั้น เพราะเป็นสหายสายบู๊ มีฉายาว่า "แสง ปืนเค" (ปืนเค-ปืนพกดาวแดง) ทำนองคิดอะไรไม่ออก บอกสหายแสง

ปี 2525 ศุภชัย หรือ "ครูแก้ว" กลับไปเรียนครูจนได้ปริญญาตรี และยึดครูบ้านนอกมาโดยตลอด กระทั่งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ครูแก้วเป็นแกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย จ.นครพนม ก่อนจะเบนเข็มเข้าสู่การเมืองท้องถิ่น และระดับชาติ

นี่คือ "คนเดือนตุลา" ที่ยังอยู่หน้าฉากการเมืองในขณะนี้ ท่ามกลางกระแสเยาวชน นิสิตนักศึกษา คนรุ่นใหม่ก้าวข้าม?