เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน. ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี "ประยุทธ์”

เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน.  ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี "ประยุทธ์”

ก่อนที่ได้ฟัง คำวินิจฉัยของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ในคดี8ปีนายกฯ ช่วง45วันที่นับตั้งแต่ "ฝ่ายค้าน" ตั้งต้นยื่นคำร้อง มาถึงวันนี้ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง และอาจเป็นเค้าลางของการชี้ชะตา "ประยุทธ์" วันนี้ ว่าได้ไปต่อหรือไม่

          วันที่ 30 กันยายน เป็นวันชี้ชะตา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าจะนั่งในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ได้ต่อไปหรือไม่ ซึ่งวันดังกล่าว “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ในฐานะองค์กรสูงสุดที่มีหน้าที่วินิจฉัย ทั้ง 9 คน จะนัดลงมติและอ่านคำวินิจฉัย

 

          ย้อนรอยเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 17 สิงหาคม ที่ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” 171 คน นำโดย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องต่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด ให้ชี้ว่า

 

          “พล.อ.ประยุทธ์ ที่เริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ติดต่อกันมาถึงปัจจุบัน รวมแล้วครบ 8 ปี นับตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2565 หรือไม่”

 

          พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ “พล.อ.ประยุทธ์” หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่ง เพราะมองว่า “ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดิน"

 

          ซึ่งกรณีที่ พรรคฝ่ายค้านอธิบายความในคำร้อง ได้ยกเคสที่คาดว่าน่าจะเป็น “แนวทาง” ที่นำไปสู่คำชี้ขาดที่จะทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องพ้นตำแหน่งนายกฯ ด้วยความที่คุณสมบัตินั้นสิ้นสุด ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ อาทิ ข้อสั่งการและนโยบาย ตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกฯ ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557

เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน.  ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี \"ประยุทธ์”

          กรณีที่ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน” เมื่อครั้งได้รับโปรดเกล้าตำแหน่งนายกฯ 9 มิถุนายน 2562 เพราะไม่ใช่การเข้ารับตำแหน่งใหม่ และความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นต้น

 

          หลังจากที่ ชวน หลีกภัย ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว 2 วัน จึงลงนามคำร้องเพื่อส่งต่อ ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 22 สิงหาคม

          ต่อมา ในวันที่ 24 สิงหาคม “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาเรื่องที่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและมีมติเอกฉันท์รับไว้พิจารณา พร้อมระบุให้ พล.อ.ประยุทธ์ แก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน พร้อมกับมีมติข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่ 24 สิงหาคม จนกว่าศาลจะวินิจฉัย

 

          โดยภายหลังมติดังกล่าวมีการเปิดเผยเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญข้างมาก 5 เสียง ที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ นครินทร์​ เมฆไตรรัตน์ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ วิรุฬห์ แสงเทียน นภดล เทพพิทักษ์ และจิรนิติ หะวานนท์ ส่วนเสียงข้างน้อย 4 เสียง ได้แก่ วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปัญญา อุดชาชน อุดม สิทธิวิรัชธรรม และ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

 

          สำหรับ “บุคคล” ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุให้คำชี้แจง นอกจากพล.อ.ประยุทธ์แล้ว ยังมี “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ “ปกรณ์ นิลประพันธุ์” เลขาธิการกฤษฎีกา ฐานะเลขาฯ กรธ.

เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน.  ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี \"ประยุทธ์”

          ทำให้ “ฝ่ายค้าน” หวาดหวั่นว่า จะเป็นการฟังความข้างเดียว จึงได้ยื่นเอกสารพยานเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งประกอบด้วย ความเห็นนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ 51 คน พร้อมคลิปสัมภาษณ์ “พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย” นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ "สมลักษณ์ จัดกระบวนพล” อดีตกรรมการ ป.ป.ช.

 

          ต่อมา วันที่ 1 กันยายน ฝ่ายกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ “พล.ต.วิระ โรจนวาศ” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายกฎหมายผู้รับผิดชอบทำคำชี้แจง ส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน.  ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี \"ประยุทธ์”

          ถัดมา วันที่ 6 กันยายน พบการเผยแพร่เอกสารคำชี้แจงของ “มีชัย”​ ต่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งสรุปความได้ว่า “การเริ่มนับวาระนายกรัฐมนตรีขอฃพล.อ.ประยุทธ์ คือ “วันที่ 6 เมษายน 2560” พร้อมโยงถึงบทบัญญัตติในรัฐธรรมนูญ ทั้งมาตรา 264 มาตรา 160 มาตรา 158 มาตรา 159 เป็นต้น ขณะเดียวกันยังชี้แจงความเห็นที่เคยให้ไว้ ตามบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 เมื่อ 7 กันยายน 2561 ว่า เป็นความคลาดเคลื่อนและไม่ถูกรับรอง

 

          แต่เอกสารที่หลุดออกมานั้น ไม่พบการปฏิเสธว่า "ไม่ใช่ของจริง” แม้เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ จะแถลงถึงความห่วงใยของประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุให้ตรวจสอบที่มาก็ตาม

 

          อนึ่ง บันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 นั้น ถูกเผยแพร่ทางโซเชียล เมื่อ 9 สิงหาคม โดยมีสาระสำคัญ ที่โยงถึง การนับวาระ 8 ปี ที่ “มีชัย ฤชุพันธ์ุ” และ “สุพจน์ ไข่มุกด์” อดีตรองประธาน กรธ. ระบุความเห็นตรงกันว่า “ระยะ 8 ปีนั้น ให้นับรวมก่อนปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับ”

เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน.  ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี \"ประยุทธ์”

          ในวันเดียวกันนั้น มีการเผยแพร่บันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 501 วันที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งระบุเนื้อหาว่า ได้รับรองรายงานการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 โดยไม่มีการแก้ไข ถือว่าเป็นหลักฐานที่ค้านคำชี้แจงของ “มีชัย” อย่างชัดเจน

 

          ในวันที่ 7 กันยายน คำชี้แจงของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ฝ่ายกฎหมายดำเนินการทำคำแก้ข้อกล่าวหา ถูกเปิดเผยเช่นเดียวกันโดยสรุปว่า การนับวาระนายกฯ ปี 2557 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก “ขาดตอน” จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้

 

          ขณะที่การนั่งตำแหน่งนายกฯ หลัง 6 เมษายน 2560 นั้น เป็นไปตามบทเฉพาะกาล ที่กำหนดว่าจนกว่าจะมี คณะรัฐมนตรีที่ตั้งใหม่ หลังการเลือกตั้งปี 2562

 

          พร้อมอ้างถึงการตั้งกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ นำโดย “มีชัย ฤชุพันธุ์" เพื่อพิจารณาวาระ 8 ปี ที่สรุปความว่า วาระ 8 ปี หมายถึงนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น

เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน.  ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี \"ประยุทธ์”

          ทำให้ต่อมาวันที่ 8 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ก่อนออกคำสั่งให้ “เลขาธิการสภาฯ” ส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมของ กรธ. ครั้งที่ 501 ซึ่งรับรองการประชุมครั้งที่ 500 ให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 13 กันยายน ก่อนกำหนดนัดพิจารณาคดี ในวันที่ 14 กันยายน

 

          ทั้งนี้ เลขาธิการสภาฯ ได้ส่งสำเนาตามคำของของศาลรัฐธรรมนูญไปทันที เมื่อ 9 กันยายน

เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน.  ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี \"ประยุทธ์”

          ต่อมาในการประชุมศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 14 กันยายน จึงมีเอกสารข่าว แจ้งว่า “ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันที่ 30 กันยายน เวลา 15.00 น.”

 

          โดยรวมเวลาที่เรื่อง “ตีความ 8 ปีนายกฯ ประยุทธ์” ใช้เวลา 45 วันก่อนจะรู้ผลตัดสิน และคำวินิจฉัยชี้ขาดวันนี้.

 


          เงื่อนไขรธน.เปิดช่องนายกฯคนนอก

          ช็อตต่อไป ที่สำคัญต่อการเมืองไทย  หาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ได้ไปต่อ เพราะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  มาตรา 158  วรรคสี่ ประกอบมาตรา 170 วรรคสอง กำหนด เมื่อ 25 สิงหาคม 2565

 

          ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) กำหนดให้เป็นเหตุ “รัฐมนตรีทั้งคณะ” ต้องพ้นจากตำแหน่ง และต้องดำเนินการให้มี “คณะรัฐมนตรี” ชุดใหม่ ตามมาตรา 158 และ มาตรา 159

 

          และประกอบกับมาตรา 272 ที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ คือตั้งแต่ 24 มีนาคม 2562 ถึง 24 มีนาคม 2566 ให้ใช้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาใหัความเห็นชอบนายกฯ 

 

          โดยขั้นตอนแรกจะเร่ิมจากการขอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เนื่องจากช่วงนี้ ถึง 1 พฤศจิกายน คือช่วงปิดสมัยประชุม จากนั้น   “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ว. 250 คน และ ส.ส. 478 คน  รวม 728 คน เพื่อดำเนินการเลือกนายกฯ คนใหม่

เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน.  ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี \"ประยุทธ์”

          ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ประกอบ 159 กำหนดเงื่อนไขสำคัญ เลือกนายกฯ คือ 

          1.บุคคลที่จะถูกเสนอชื่อ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160  

          2.ต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคที่จะเสนอชื่อได้ ต้องมีส.ส.ไม่น้อยกว่า 5% ของสมาชิกสภาฯ หรือ 25 คน 

          3.ชื่อที่ถูกเสนอต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิก คือ 100 หรือ 48 คน 

          4.การลงมติต้องทำโดยเปิดเผย ซึ่งปกติที่เคยทำมา คือ การขานชื่อสมาชิกทีละคนเรียงตามลำดับ เพื่อให้สมาชิกเอ่ยชื่อบุคคลที่ถูกเสนอให้เป็นนายกฯ 

 

          สำหรับมตินั้นต้องใช้เสียงข้างมาก และต้องเกินกึ่งหนึ่ง หรือ  365 เสียงขึ้นไป

เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน.  ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี \"ประยุทธ์”

          อย่างไรก็ดีสำหรับบัญชี “แคนดิเดต” นายกฯ ที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไข จะมีทั้งสิ้น 3 พรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์  เพราะ มีส.ส.ในสภาฯ เกิน25 คน


          บุคคลที่มีสิทธิ์จะถูกเสนอชื่อรอบนี้ ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัยเกษม นิติสิริ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่นาทีนี้ “พรรคเพื่อไทย” ยืนยันว่าหากโอกาสมาถึง “ชัยเกษม” คือคนที่มีคุณสมบัติของพรรคที่จะเข้าแข่งขัน เพราะ “คุณหญิงสุดารัตน์ และ ชัชชาติ” ไม่ใช่คนของพรรค

 

          ส่วนพรรคภูมิใจไทย คือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” และ พรรคประชาธิปัตย์ คือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"

 

          อย่างไรก็ดี ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองปัจจุบัน ที่เป็นช่วงประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นปัจจัยที่จะชี้ว่า “ใคร” คือนายกฯ คนต่อไปหาก “ประยุทธ์” ไม่รอดพ้นคดี 8 ปี คือ “ส.ว.” 
 

เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน.  ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี \"ประยุทธ์”

          ดังนั้น เมื่อดูชื่อชั้นของ 3 แคนดิเดต  จึงเชื่อแน่ว่า จะไม่มีผู้ใดที่ได้รับเสียงเห็นชอบข้างมาก และเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา 

 

          เพราะ “ชัยเกษม” แม้จะเป็นตัวแทนของ “ฝ่ายค้าน” แต่เสียงเท่าที่มีในสภาฯ มีไม่ถึง 200 เสียง ขณะที่  “อนุทิน - อภิสิทธิ์” แม้จะเป็นตัวแทนของ “ฝ่ายรัฐบาล” ครองเสียงข้างมาก 278 เสียงในสภาฯ แต่หาก “ส.ว.และพรรค พลังประชารัฐ”  พ่วงกับ “พรรคเล็ก” ไม่เอาด้วย ก็ยากที่จะ “ฝ่าด่าน”ไปได้

 

          เว้นแต่ “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” จะเล่นเกม รวมพลังฝั่งประชาธิปไตย เทเสียง “ส.ส.” ให้กับคนที่ถูกวางหมากให้เกิน 365  คะแนน  ด่าน “ส.ว.” ที่ตั้งป้อมสกัด จึงจะผ่านไปได้  แต่หนทางนี้ “ยังเป็นไปได้ยาก” ในช่วงโค้งวัดใจการเลือกตั้งที่แต่ละพรรค โดยเฉพาะ “เพื่อไทย” ที่ตั้งเป้าแลนด์สไลด์ และ “ภูมิใจไทย”เดินเกมกวาดส.ส.ให้ได้เป็นขั้วใหม่การเมือง

 

          หากพรรคใดได้ ตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร อาจเข้าทางกับประโยชน์ทางการเมืองที่จะได้รับ ทั้ง การต่อแขน ต่อขา และอำนาจบารมีของ “พรรคใหญ่” และสร้างพลังดูดทางการเมืองของ “พรรคที่คิดการใหญ่"

 

          ทำให้กระแสในสภาฯ มองข้ามช็อตไปถึง “นายกฯนอกบัญชีพรรคการเมือง” และเตรียมเล่นเกมสภาฯ  เล่นแง่ทางการเมือง เพื่อไม่ให้การโหวต “นายกฯในบัญชี” เกิดขึ้นได้ 

 

          โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา272 วรรคสอง กำหนดเปิดช่องให้มี “นายกฯนอกบัญชีพรรคการเมืองได้”  และมีขั้นตอนคือ 

 

           1. สมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน ไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีของสองสภา คือ 365 เสียง  เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภา "ลงมติ” ยกเว้น  “บัญชีนายกฯของพรรคการเมือง” 

 

          2.ประธานรัฐสภาต้องเรียกประชุมโดยเร็ว

 

           3.สำหรับการลงมติต้องใช้ เสียงเห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ  243 เสียง จึงถือเป็น “มติให้ยกเว้น” ได้ ทั้งนี้เมื่อรัฐสภามีมติยกเว้นแล้ว ไม่ได้ปิดกั้น “ชื่อบัญชีนายกฯ” ที่พรรคการเมืองเสนอ 

 

          จากปัจจัยทางการเมืองในปัจจุบัน  ที่อยู่ในช่วงโหมดเลือกตั้ง อีกทั้งการพยายามอยู่ของก๊วน “3 ป.” เพื่อรักษาอำนาจเครือข่าย ยังเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึง ดังนั้นหาก “ประยุทธ์" ไม่รอดคดี 8 ปี นายกฯคนต่อไปที่ถูกวางไว้ ย่อมไม่พ้น “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

เปิดไทม์ไลน์ 45 วัน จากฝ่ายค้านถึงศาล รธน.  ชี้ชะตานายกฯ 8 ปี \"ประยุทธ์”

          ส.ว.250 เสียง ที่เป็นกองหนุน พ่วงกับ ส.ส.ในขั้วรัฐบาล ที่เกิน 200 เสียง จึงเป็นทางที่ปูไว้ให้ เครือข่าย “3 ป.” ครองอำนาจไปจนจบโรดแมพ