เปิดกรุสมบัติ “นายกฯ-5 รมต.คสช.” เผือกร้อน ป.ป.ช.เปิดเผยรอบใหม่หรือไม่
เปิดกรุสมบัติ “นายกฯ-5 รมต.” ยุค คสช. แจ้งทรัพย์สินช่วง คสช. เผือกร้อน ป.ป.ช. ถกประเด็นต้อง “เปิดเผย” รอบใหม่หรือไม่ หลังศาล รธน.วินิจฉัยชี้ “บิ๊กตู่” สถานะ “นายกฯขาดตอน” เริ่มนับตั้งแต่ รธน.60 บังคับใช้
กลายเป็น “เผือกร้อน” ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องรับไปดำเนินการโดยด่วน
พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ต่อ เนื่องจากเห็นว่า ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 170 ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ โดยให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับคือวันที่ 6 เม.ย. 2560
เป็นไปตามคำชี้แจงของ “บิ๊กตู่” ที่ระบุว่าเป็น “นายกฯขาดตอน” แล้ว ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้
แต่คำว่า “นายกฯขาดตอน” กลายเป็น “วันพันหลัก” เมื่อถูกนำไปเทียบกรณีเข้ารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2562 โดย “ประยุทธ์” แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกับ ป.ป.ช. ทว่ากลับไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยอ้างว่าเป็นไปตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ปี 2561 มาตรา 105 ที่กำหนดข้อยกเว้นว่า หากเข้ามารับตำแหน่งเดิมต่อเนื่องกันในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินซ้ำ
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า “บิ๊กตู่” มีสถานะ “นายกฯขาดตอน” ให้เริ่มนับเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ แต่ ป.ป.ช.เห็นว่า “บิ๊กตู่” เป็น “นายกฯต่อเนื่อง” จึงใช้ช่องตามมาตรา 105 ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นหลักฐานไว้ได้ แต่ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา “นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นการตีความกฎหมายคนละฉบับ และ ป.ป.ช.ดำเนินการตีความก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย อย่างไรก็ดีเมื่อมีประเด็นขึ้นมา ต้องให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.สังเคราะห์เรื่อง ก่อนจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกครั้ง เพื่อชี้ขาดว่า ตกลงแล้วต้อง “เปิดเผย” บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่
นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ยังมีรองนายกฯ-รัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล คสช. อีกอย่างน้อย 5 ราย ที่ดำรงตำแหน่ง “ต่อเนื่องกัน” และมิได้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2562 ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม
โดย “บิ๊กตู่-บิ๊กป๊อก-วิษณุ” เคยชี้แจงอธิบายในศึกซักฟอกเมื่อต้นปี 2564 ยืนยันว่า ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแก่ ป.ป.ช. เพื่อเป็นหลักฐานไว้ตรวจสอบแล้ว ส่วนเรื่องการเปิดเผยเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.
ส่วนอีก 3 รายคือ “บิ๊กป้อม-ดอน-พล.อ.ชัยชาญ” ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการว่า ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อเป็นหลักฐานไว้หรือไม่
ลองย้อนดูกรุสมบัติของ “นายกฯ-5 รมต.” ยุค คสช.กันดูบ้างว่าแต่ละคน “อู้ฟู่” กันเท่าไหร่
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แจ้ง ป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกเมื่อปี 2557 ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 128,664,535 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 654,745 บาท
- เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ 102,317,152 บาท ได้แก่
- เงินฝาก 6 บัญชี 58,967,022 บาท
- เงินลงทุน 9 แห่ง 23,072,380 บาท
- ที่ดิน 2 แปลง 2,284,750 บาท
- โรงเรือนฯ 2 ล้านบาท
- ยานพาหนะ 4 คัน 11.8 ล้านบาท
- ทรัพย์สินอื่นฯ 4 รายการ 4,193,000 บาท
- นางนราพร จันทร์โอชา คู่สมรส มีทรัพย์สิน 26,347,382 บาท ได้แก่
- เงินฝาก 6 บัญชี 7,977,382 บาท
- ที่ดิน 3 แปลง (1 แปลงร่วมกรรมสิทธิ์กับผู้อื่น) 5,350,000 บาท
- โรงเรือนฯ 2 ล้านบาท
- ยานพาหนะ 1 คัน 3.5 ล้านบาท
- ทรัพย์สินอื่นฯ 1 รายการ 7,520,000 บาท
โดยที่เป็นประเด็นฮือฮากันคือ พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งว่า พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา (บิดา) อายุ 89 ปี มอบเงินจำนวน 540 ล้านบาทในการขายที่ดิน (จากยอดการขาย 600 ล้านบาท) ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นบุตรชาย มีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการดูแลเงินจำนวนนี้ ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องของผู้รับ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้แบ่งเงินก้อนนี้ให้กับบุตรสาว 2 ราย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม รวมถึงพี่น้องรายอื่น ๆ (นายประคัลภ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ต.ประกายเพชร จันทร์โอชา)
สำหรับบริษัทรับซื้อที่ดินของบิดา พล.อ.ประยุทธ์ วงเงิน 600 ล้านบาท คือ บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัวเจ้าของธุรกิจเครือ “ช้าง”
- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แจ้ง ป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ครั้งแรกปี 2557 ระบุสถานะว่าโสด มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 87,373,757 บาท ไม่มีหนี้สิน ได้แก่
- เงินฝาก 53,197,562.62 บาท
- เงินลงทุน 7,076,195.00 บาท
- ที่ดิน 17,000,000 บาท
- โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 10,000,000 บาท
- ยานพาหนะ (รถยนต์ 1 คัน) 100,000 บาท
- ไม่มีทรัพย์สินอื่น
พล.อ.ประวิตร ถูกร้องเรียนเรื่องสวมใส่นาฬิกาหรูอย่างน้อย 21 เรือน ในช่วงดำรงตำแหน่ง โดย พล.อ.ประวิตร ชี้แจงต่อสังคมมาโดยตลอดว่าเป็นนาฬิกาที่ยืมจากเพื่อน จนนำไปสู่การไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ท้ายที่สุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกข้อกล่าวหา กรณีร่ำรวยผิดปกติ และกรณีรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาท
- นายวิษณุ เครืองาม
แจ้ง ป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกเมื่อปี 2557 ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมคู่สมรส 117,947,795 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 1,100,450 บาท
- เป็นของ นายวิษณุ 78,975,643 บาท ได้แก่
- เงินฝาก 36,931,529 บาท
- เงินลงทุน 13,563,313 บาท
- ที่ดิน 21,450,000 บาท
- โรงเรือนฯ 7,030,800 บาท
- นางวัชราภรณ์ เครืองาม คู่สมรส มีทรัพย์สิน 38,972,152 บาท ได้แก่
- เงินฝาก 15,305,802 บาท
- เงินลงทุน 12,566,349 บาท
- ที่ดิน 6.6 ล้านบาท
- โรงเรือนฯ 1.5 ล้านบาท
- ยานพาหนะ 3 ล้านบาท
- พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
แจ้ง ป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ครั้งแรกเมื่อปี 2557 มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 37,790,130 บาท ไม่มีหนี้สิน
- เป็นของ พล.อ.อนุพงษ์ 27,423,570 บาท ได้แก่
- เงินฝาก 8,385,570 บาท, ที่ดิน 7,728,000 บาท
- โรงเรือนฯ 5 ล้านบาท
- ยานพาหนะ 3.6 ล้านบาท (รถโตโยต้า CELSIOR 8 แสนบาท ได้มา 15 ส.ค. 57-รถเบนซ์ S350 1.9 ล้านบาท ได้มา 22 ส.ค. 57)
- สิทธิและสัมปทาน 2,110,000 บาท
- ทรัพย์สินอื่นฯ 6 แสนบาท
- นางกุลยา เผ่าจินดา คู่สมรส มีทรัพย์สิน 10,366,560 บาท ได้แก่
- เงินฝาก 1,066,560 บาท
- ทรัพย์สินอื่นฯ 9.3 ล้านบาท
- นายดอน ปรมัตถ์วินัย
แจ้งบัญชีทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช. สมัยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) อย่างน้อย 4 ครั้ง ได้แก่ ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมช.ต่างประเทศ ช่วงพ้นตำแหน่ง รมช.ต่างประเทศ ช่วงพ้นตำแหน่ง รมช.ต่างประเทศครบ 1 ปี ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ
โดยครั้งหลังสุดแจ้งเมื่อปี 2559 ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสประมาณ 138 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน
นายดอน เคยถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยว่าอาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี กรณีนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย คู่สมรส ถือครองหุ้นบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด เกิน 5% และมีการโอนหุ้นเกิน 30 วัน ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ โดยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อย่างไรก็ดีนายดอน ได้ชี้แจงยืนยันว่า นางนรีรัตน์ได้โอนหุ้น 2 บริษัทดังกล่าวให้บุตรชายไปแล้วภายในกำหนด แต่ขั้นตอนทางธุรการล่าช้า ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากว่า นายดอน ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี
- พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล
แจ้ง ป.ป.ช. ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมช.กลาโหม เมื่อปี 2560 มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 28,673,379 บาท มีหนี้สิน 2,001,231 บาท
- เป็นของ พล.อ.ชัยชาญ 17,768,309 บาท
- ส่วนนางวิภาพร ช้างมงคล คู่สมรส มีทรัพย์สิน 10,596,694 บาท โดยทรัพย์สินที่น่าสนใจ ได้แก่
- พระบูชา 27 องค์
- พระเครื่อง/ของขลัง พร้อมสร้อยทอง 23 องค์/2 เส้น
- ทองคำแท่งหนักรวม 75 บาท (9 แท่ง)
- ทองรูปพรรณ หนัก รวม 20.5 บาท ( 21 ชิ้น)
- เครื่องประดับเพชรพลอยรวม 43 ชิ้น
- อาวุธปืนสั้น 1 กระบอก (รวมทองคำประมาณ 95 บาท)
ทั้งหมดคือขุมสมบัติของ “นายกฯ-5 รมต.” ที่ยื่นกรณีเข้ารับตำแหน่งยุค คสช.เรืองอำนาจ (ยกเว้น พล.อ.ชัยชาญ ยื่นเมื่อปี 2560) ปัจจุบันผ่านมา 8 ปีแล้ว ใครจะเพิ่มขึ้น-ลดลงแค่ไหน ต้องจับตาที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถกกันในอีกไม่นานนี้