การเมืองไทย ต้องการตัวเลือกใหม่
เมื่อการประชุมผู้นำเอเปคสิ้นสุดลง การเมืองจะเริ่มร้อนระอุขึ้น คาดการณ์กันว่าจะเกิดได้หลายทาง ทั้งการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งสุดท้าย การโยกย้ายพรรค รวมไปถึงการควบรวมพรรค หรืออาจยุบสภา แต่ที่น่าสนใจคือแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีที่จะชัดเจนยิ่งขึ้น
ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ระดับภูมิภาคในวันที่ 16-19 พ.ย.2565 ด้วยการเป็นเจ้าภาพผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ถือเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 3 ของประเทศไทยนับจากปี 2535 และปี 2546 ซึ่งอาจจะเป็นงานใหญ่ชิ้นสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หากไม่มีการยุบสภาก็จะสิ้นสุดวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566 และจัดการเลือกตั้งในวันที่ 30 เม.ย.2566 ดังนั้นนับจากวันนี้จึงเหลือเวลาอีก 6 เดือน หรือเร็วกว่านั้นหากมีการยุบสภา ก็จะถึงวันเลือกตั้งทั่วไป
ช่วงก่อนประชุมผู้นำเอเปคดูเหมือนว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองค่อนข้างนิ่ง แต่แน่นอนว่าเมื่อการประชุมผู้นำเอเปคสิ้นสุดลง อุณหภูมิทางการเมืองจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งมีหลายสมมติฐานที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งสุดท้าย การโยกย้ายพรรค รวมไปถึงการควบรวมพรรค การเปิดตัวแคนดิเดตผู้สมัครนายกรัฐมนตรี หรืออาจมีการยุบสภาตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งทุกเหตุการณ์สามารถเกิดขึ้นได้บนเงื่อนไขการเจรจาส่วนได้ส่วนเสียของนักการเมือง
ตำแหน่งสำคัญที่ต้องกล่าวถึงลำดับแรก คือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน ในรอบ 90 ปี ค่าเฉลี่ยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยอยู่ที่คนละ 3 ปี เศษ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานที่สุดในรอบ 34 ปี นับจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ก็มีโอกาสไม่น้อยที่จะแซง พล.อ.เปรม เพราะอยู่ในตำแหน่งตามหลังไม่ถึง 100 วัน และหากแซงไปได้จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในรอบ 65 ปี เลยทีเดียว
หลายประเทศกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลไว้แตกต่างกัน โดยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นได้ 2 สมัย รวม 8 ปี ตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เป็นได้ 1 วาระ 6 ปี ในขณะที่ประเทศไทยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ซึ่งแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยได้ แต่การมีตัวเลือกใหม่เข้ามาให้คนไทยได้เลือกในการเลือกตั้งทั่วไปกำลังใกล้เข้ามาย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกเพิ่มมากขึ้น
ชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหลายรายชื่อถูกเปิดเผยมาก่อนหน้านี้และจะมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความคาดหวังต่อนายกรัฐมนตรีควรบริหารประเทศเพื่อยกระดับการพัฒนา หลังจากที่ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมามากกว่า 30 ปี โดยเศรษฐกิจไทยในช่วง 15 ปี ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3% เศษ อยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับอาเซียน ดังนั้นการเมืองไทยจึงจำเป็นต้องมีตัวเลือกใหม่ทั้งระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.เข้ามาเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้สูงก่อนที่ไทยจะทิ้งท้ายในอาเซียนมากกว่านี้