ฉากจบ“สมัคร"บททดสอบ“เศรษฐา ทวีสิน” บทเรียน“นายกฯ”นอกตระกูลชินวัตร
ฉากจบ “สมัคร สุนทรเวร” บททดสอบ “เศรษฐา ทวีสิน” บทเรียน“นายกฯ”นอกตระกูลชินวัตร “เพื่อไทย”เปิดชื่อ 3 แคนดิเดตนายกฯ หลังสัญญาณยุบสภาชัด
“หากรัฐบาลมีสัญญาณยุบสภาเมื่อไหร่ เราจะประกาศแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยทันที 3 คน ตามหลักเกณฑ์ของพรรค ขอให้ประชาชนรอรายชื่อที่เราจะประกาศ รับรองเป็นที่ยอมรับของประชาชนแน่นอน” เป็นความชัดเจนจาก หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่เลือกจังหวะประกาศต่อสังคม ในห้วงนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้ง
ท่ามกลางกระแส "เศรษฐา ทวีสิน" ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ถูกขานชื่อ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในการสู้ศึกเลือกตั้งรอบหน้า เพื่อชิงอำนาจการบริหารประเทศกลับมาจาก “ขั้วอนุรักษ์นิยม”
แม้จะต้องรอความชัดเจน แต่แนวโน้มที่เศรษฐา จะเป็นตัวเลือกลำดับแรก ก็เป็นไปได้สูง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคอนเนคชั่นอันดีกับรุ่นน้องอย่าง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วยเป็นแรงส่งหนุนให้ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึง “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ดามาพงศ์ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ไว้วางใจ ไฟเขียวให้เข้าช่วยมาสานฝันกลับมาเหยียบแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน
ภาพลักษณ์นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ภาพจำและแนวคิดทันยุค ที่ไม่ห่างเหินกับ “คนรุ่นใหม่” มากเกินไป ทำให้ “เศรษฐา” พอมีโอกาสจะสร้างฐานคะแนนนิยมเป็นของตัวเองได้ ที่สำคัญในยามวิกฤติเศรษฐกิจโลก ประชาชนย่อมยากเห็น “ผู้นำ” ที่จะพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้
ขณะเดียวกันชื่อ “เศรษฐา” ไม่ใช่ของแสลงของ “ขั้วอนุรักษ์” ในทางตรงกันข้าม พอจะมีตัวเชื่อมทอดสะพานให้เจรจาพูดคุยกันได้ จุดนี้จึงได้เปรียบ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หากต้องทำงานใหญ่ย่อมเป็นที่ไว้วางใจมากกว่า
อย่างไรก็ตาม หาก “เศรษฐา” ไปถึงฝัน ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จะเป็นคนที่สองต่อจาก “สมัคร สุนทรเวช” ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายใต้ร่มเงาของ “พรรคตระกูลชินวัตร” แม้บุคลิกของทั้งสองคนจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่บทเรียนของ “สมัคร” จะเป็นบทเรียนที่ “เศรษฐา” ต้องศึกษา
ภายหลังการรัฐประหาร 2549 โค่น “ทักษิณ” ลงจากอำนาจ ต่อด้วยการยุบพรรคไทยรักไทย ในปี 2550 ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 111 คน ตัดทอนกำลังพลของ “ทักษิณ” ให้เหลือน้อยลง คีย์แมนหลักติดโทษแบนทางการเมือง 5 ปี ทำให้ต้องยกเครื่องขุมกำลังกันใหม่
เมื่อฤดูเลือกตั้งปี 2550 มาถึง มีการถ่ายเทกำลังจากพรรคไทยรักไทยไปสู่ “พรรคพลังประชาชน” โดยเทียบเชิญ “สมัคร สุนทรเวช” มานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค เดินสายหาเสียงจนสามารถกวาด 233 ส.ส. เข้าสภา ชนะการเลือกตั้งขาดลอย “ทักษิณ” เชิด “สมัคร” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ของประเทศไทย
โดยหวังใช้เครือข่าย “อนุรักษ์นิยม” ซึ่งมีหัวขบวนในขณะนั้น หลายคนสนิทชิดเชื้อกับ “สมัคร” เปิดโต๊ะเจรจาเปิดทางให้เดินทางกลับไทย
หลังจากนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้เพียง 1 เดือน “สมัคร” เปิดดีลเครือข่ายทุกสาย เพื่อปูทางให้ “ทักษิณ” ได้กลับมากราบแผ่นดินไทยในวันที่ 28 ก.พ. 2551 แต่ในที่สุด ทักษิณก็ต้องเดินทางออกไปในเวลาต่อมา และไม่เคยกลับมายังประเทศไทยอีกเลย เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนั้นมี “ทักษิณ” เป็นศูนย์กลาง
จากนั้น จึงตามมาด้วยปัญหา การบริหารอำนาจภายในพรรคพลังประชาชน เริ่มเกิดแรงต้านจากคนตระกูล “ชินวัตร” มีการแย่งชิงอำนาจภายในพรรค เคลื่อนไหวรวมกลุ่มยุแยงหวังล้ม “สมัคร” ให้พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนคนของตัวเองขึ้นมาแทน
ฝ่ายของ “สมัคร” ขับเคลื่อนภายใต้ “แก๊งออฟโฟร์” ประกอบด้วย สมัคร - ธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกฯ - เนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน - สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ทำให้ “ทักษิณ-คนตระกูลชินวัตร” หวาดระแวง และใช้เป็นข้ออ้างโค่น “แก๊งออฟโฟร์” เพื่อรีเซ็ตการเมืองภายในพรรคพลังประชาชนเสียใหม่
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “สมัคร สุนทรเวช” สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เนื่องจากรับงานเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า" ทำให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
“แก๊งออฟโฟร์” พยายามต่อรองกับ “ทักษิณ-คนตระกูลชินวัตร” ผลักดันให้ “สมัคร” ได้กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่เกิดแรงต้านขึ้นภายในพรรคพลังประชาชน จนท้ายที่สุด “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ขอโอกาสพี่ชายให้ดันสามี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
ทว่า “สมชาย” กลับเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง 75 วัน ระหว่างวันที่ 18 ก.ย. 2551 – 2 ธ.ค. 2551 และไม่เคยได้เข้าไปปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาลแม้แต่วันเดียว เนื่องจาก ม็อบเสื้อเหลือง “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ชุมนุมกดดันต่อเนื่อง จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้เขยตระกูลชินวัตร “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที
เมื่อเข้าสู่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ “เนวิน ชิดชอบ” นำกลุ่มเพื่อนเนวิน พลิกขั้วโหวตเลือก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แก้แค้น “คนตระกูลชินวิตร” ที่หักเหลี่ยมล้ม “สมัคร”
ท้ายที่สุด “เนวิน” จากคนที่ “ทักษิณ” ไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง กลับพลิกขั้ว กลายมาเป็นศัตรูทางการเมือง ตั้งพรรคภูมิใจไทยขึ้นมาขับเคี่ยวแย่งชิงพื้นที่ภาคอีสานมาจนถึงทุกวันนี้
บทสรุปของ “นายกฯนอกตระกูลชินวัตร” สะท้อนสภาพปัญหาความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจของนักเลือกตั้งภายในพรรคพลังประชาชนได้อย่างชัดเจน จะเป็นบทเรียนให้กับ “เศรษฐา ทวีสิน” ได้เป็นอย่างดี ในวันที่อาจได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย