ชินวัตร รุ่น 3 ยุคก้าวข้ามรุ่นเก๋า “อุ๊งอิ๊ง-แก๊งไอติม” คุมเบ็ดเสร็จ
การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทายาทการเมืองรุ่นใหม่ จึงเป็นบททดสอบที่ท้าทายว่า “ชินวัตร รุ่น 3” ที่พยายามก้าวข้ามรุ่นเก๋า จะทำได้สำเร็จหรือไม่
เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง พรรคการเมืองขยับจัดทัพสู้ศึก เพื่อเตรียมความพร้อมส่ง “ว่าที่ผู้สมัครส.ส.” ลงพื้นที่เก็บคะแนนกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่โหมกระแสแลนด์สไลด์จนติดลมบน
ล่าสุดได้ฤกษ์เปิด “ศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย” มอบหมายให้ เลขาธิการพรรค
“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง โดยมีคณะผู้บริหารศูนย์ฯ แบ่งส่วนกันรับผิดชอบ ประกอบด้วย
ทีมที่ปรึกษา 1. ชัยเกษม นิติสิริ 2. ชลน่าน ศรีแก้ว 3. สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ 4.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ 5.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง 6. พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล 7. พานทองแท้ ชินวัตร 8.แพทองธาร ชินวัตร
โครงสร้างศูนย์ฯ แบ่ง 2 กลุ่มงาน ดังนี้
1.กลุ่มงานนโยบายและข้อมูลการเลือกตั้ง ผู้รับผิดชอบ 1.ภูมิธรรม เวชยชัย 2.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 3.พันศักดิ์ วิญญรัตน์ 4.นพดล ปัทมะ
2. กลุ่มงานบริหารพื้นที่ ผู้รับผิดชอบ แบ่งเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ ประกอบด้วย 1.สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ 2.จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ 3.กฤษณา สีหลักษณ์ 4.วิสุทธิ์ ไชยณรุณ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 1.ประเสริฐ จันทรรวงทอง 2.สุทิน คลังแสง 3.ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร 4.เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช 5.เกรียง กัลป์ตินันท์ 6.ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ 7.พงศกร อรรณนพพร
ภาคกลาง ประกอบด้วย 1.สุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล 2. ชัยเกษม นิติสิริ 3.จาตุรนต์ ฉายแสง 4.สรวงศ์เทียนทอง
กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 1.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด 2.วิชาญ มีนชัยนันท์ 3.วราวุธ ยันต์เจริญ4.ดนุพร ปุณณกันต์
ภาคใต้ ประกอบด้วย 1.ชลน่าน ศรีแก้ว 2.วิสุทธิ์ ไชยณรุณ 3.จักรพงษ์ แสงมณี 4.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์
เมื่อเปิดชื่อทีมบริหารจัดการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ชื่อของ 2 พี่น้อง “ชินวัตร” ที่อยู่ในทีมที่ปรึกษาฯ สปอตไลท์การเมืองย่อมส่องจับทันที โดยเฉพาะโฟกัสไปที่ “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร” ที่อัพเกรดจากหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มาอยู่ในกลุ่มผู้อาวุโสของพรรค
การประชุมครั้งล่าสุด มีกระแสข่าวว่า “ที่ปรึกษาอุ๊งอิ๊ง” นั่งหัวโต๊ะประชุมดำเนินการทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยมี"แก๊งไอติม"เวอร์ชั่น 2022 เป็นแบ็คอัพ
ประกอบด้วย “คณาพจน์ โจมฤทธิ์” พี่สนิท ที่มีสถานะเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ “ปิฎก สุขสวัสดิ์” สามีอุ๊งอิ๊ง รวมถึง “หัวหน้าป๋อม” ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ลูกชาย “เสริมศักดิ์-ระเบียบรัตน์”
ทั้ง “คณาพจน์-ปรีชาพล” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เนื่องจากเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ จากกรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ทำให้ทั้งคู่ต้องปรับบทบาทมาอยู่เบื้องหลัง ช่วยงาน“อุ๊งอิ๊ง” แทน
การข่าวในเพื่อไทย ระบุว่า หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและทีมพี่สนิท มีบทบาทสำคัญในการจัดทัพเลือกตั้ง คัดเลือก วางตัวผู้สมัครไม่น้อย
ว่ากันว่า “ผู้สมัครเกรดเอบางคน” ไม่ผ่านด่าน “แก๊งไอติม-ทีมยุทธศาสตร์” แม้จะได้รับการผลักดัน และรับประกันคุณภาพจาก “ส.ส.รุ่นเก๋า” แต่สุดท้าย ก็ต้องผิดหวัง เพราะ “นายใหญ่ดูไบ” ฟังข้อมูลจากคนใกล้ตัวมากกว่า
ยิ่งในระยะหลัง มีแรงกดดันจากทีมท้องถิ่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(นายก อบจ.)ในพื้นที่ภาคอีสาน-ภาคเหนือ-ภาคกลาง ในบางจังหวัด เริ่มแข็งข้อกับ “บิ๊กเพื่อไทย” ยื่นข้อเสนอต่อรองให้ส่งคนของตัวเอง ลงชิง ส.ส.แม้บางพื้นที่จะมี ส.ส.รับผิดชอบอยู่ก็ตาม
กรณีตัวอย่าง “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ต้องการส่งทีมงานลงชิง ส.ส. ปทุมธานี แต่พรรคเพื่อไทย ก็มีตัว ส.ส.เจ้าของพื้นที่เดิมอยู่แล้ว ทำให้ “บิ๊กแจ๊ส” ไม่สามารถส่งคนของตัวเองเข้าไปแทรกได้ ในที่สุด จึงต้องยกทีมไปซบพรรคพลังประชารัฐ
แม้ว่าล่าสุด จะมีความเคลื่อนไหว "ชัยยันต์ ผลสุวรรณ์" ส.ส. ปทุมธานี เขต 4 เพื่อไทย อาจต้องหลีกทางให้ “ทีมบิ๊กแจ๊ส” ส่งคนเข้ามาคุมพื้นที่แทน แต่เรื่องนี้ ก็ยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองว่า จะมีเงื่อนไขในการหลีกทางให้กันหรือไม่อย่างไร
ขณะเดียวกัน ยังมีความเคลื่อนไหวในอีกหลายพื้นที่ ที่ผู้สมัคร ส.ส.ยังไม่ลงตัว ทั้ง ศรีสะเกษ นครนายก กาญจนบุรี เป็นต้น ที่ยังมีปัญหาต้องเคลียร์ และต้องเคาะในที่สุด
เมื่อ “อุ๊งอิ๊ง” ที่ควบตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง นั่งหัวโต๊ะประชุมวางคน วางนโยบาย ในพรรคก็ต้องลุ้นกันหนักว่า จะสามารถคัดคนได้ตรงกับงานตรงกับพื้นที่มากน้อยเพียงใด
ที่สำคัญ ปัญหาการบริหารจัดการภายในพรรคน่าจะเกิดขึ้นอีกหลายระลอก เพราะต้องยอมรับว่า “อุ๊งอิ๊ง” ยังต้องเรียนรู้เกมการเมือง นักเลือกตั้งในพรรค และยังต้องสั่งสมประสบการณ์อีกมาก เพื่อสร้างภูมิต้านทานแรงยุจาก “คนรอบข้าง” แน่นอนว่า แต่ละคนย่อมมีเครือข่ายของตัวเอง และหาช่องทางสนับสนุนคนของตัวเอง ด้วยการแอบตัดตอนคู่แข่ง
การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทายาทการเมืองรุ่นใหม่ จึงเป็นบททดสอบที่ท้าทายว่า “ชินวัตร รุ่น 3” ที่พยายามก้าวข้ามรุ่นเก๋า จะทำได้สำเร็จหรือไม่