ล้วงผลวิจัยไขคำตอบ CPI ไทยตกต่ำรอบ 10 ปี รัฐต้องเลิกซุกปัญหาไว้ใต้พรม

ล้วงผลวิจัยไขคำตอบ CPI ไทยตกต่ำรอบ 10 ปี รัฐต้องเลิกซุกปัญหาไว้ใต้พรม

ล้วงผลการศึกษาเชิงลึก! ไขคำตอบดัชนีรับรู้การทุจริตไทยตกต่ำมากสุดในรอบ 10 ปี ชี้แก้ไขได้รัฐบาลต้องยอมรับก่อนว่ามีการโกงจริง ไม่ใช่กลบปัญหาไว้ใต้พรม ปรับปรุงโครงสร้าง-กระบวนการตรวจสอบ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ห้ามกดดันสื่อ เข้าถึงข้อมูลรัฐโดยสะดวก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดสัมมนาเชิงวิชาการโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีรับรู้การทุจริต (CPI) ของไทย

โดยภายในงานสัมมนาดังกล่าว มีการแจกเอกสารประกอบกิจกรรมระบุถึงผลการศึกษาเชิงลึกคะแนน CPI ของไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระบุถึงผลสรุปพลวัตของประเทศไทย และผลคะแนน CPI ของไทยว่า ในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผลคะแนน CPI ในระดับคงที่อยู่ระหว่าง 35-37 คะแนน และมีอันดับในปี 2564 ที่ 100 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ถือว่าเป็นลำดับที่แย่ที่สุดของไทยในรอบ 10 ปี เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยเคยมีอันดับสูงสุดที่ 76 ในปี 2558 ก่อนจะตกลงมาอยู่อันดับ 100 กว่าจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถไต่กลับไปสู่อันดับดังกล่าวได้  

จากการศึกษาพบว่าปัจจุบันที่มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางคะแนนและลำดับของ CPI คือ

1.จำนวนประเทศที่เข้ารับการสำรวจ (ในช่วงปี 2538-2550) มีจำนวนประเทศที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้น 13-30 ประเทศในแต่ละปี ก่อนที่จำนวนจะเริ่มคงที่ 170-180 ประเทศ หลังปี 2550

2.จำนวนแหล่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้น/ลดลงของแต่ละประเทศ อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย ที่แต่ก่อนใช้แหล่งข้อมูลเพียง 8 องค์กร แต่ TI (ผู้จัดอันดับ CPI) ได้มีการเปลี่ยนมาใช้ 9 องค์กรในภายหลัง ซึ่งมีผลต่อคะแนนที่ลดลงของประเทศอินโดนีเซีย

ยังเป็นข้อสังเกตว่า CPI ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณและวัดระดับ 1 ครั้งในปี 2557 เปลี่ยนจากการใช้สเกล 0-10 มาสู่ 0-100 เป็นต้น

ทั้งนี้มีการหยิบยกกรณีศึกษาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการยะดับ CPI จากการศึกษาบริบทประวัติศาสตร์ และความพยายามในการยกระดับ สามารถสรุปภาพรวมได้ดังต่อไปนี้

1.มี 3 ปัจจัยภายในสังคมที่ทำให้มีการทุจริต คือ บริบททางการเมือง เส้นแบ่งระหว่างผลประโยชน์ และวัฒนธรรมการทำงานในภาครัฐ

2.มี 4 วิธีการแก้ไขดำเนินการ ได้แก่ สร้างโครงสร้างและระบบเพื่อจัดการการทุจริต อาทิ กฎหมายและองค์กรตรวจสอบ การบังคับใช้กฎหมายและความเข้มแข็งขององค์กรตรวจสอบ การตื่นตัวของภาคประชาชนและสื่อ และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือในด้านกระบวนการ

3.มี 6 อุปสรรคในปัจจุบัน คือ ค่าตอบแทนเจ้าพนักงานต่ำเกินไปจนก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทุจริต บริบททางการเมืองทำให้ความเข้มแข็งของภาคประชาชอ่อนแอและไม่เข้าร่วมตรวจสอบ มาตรการและกฎหมายป้องกันถูกมองหรือถูกนำไปใช้ในทางการเมือง การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สามารถทำได้จริง การย้ายการกระทำทุจริตจากช่องทางแบบไม่ทางการ มาสู่ช่องทางแบบทางการตามช่องโหว่ของกฎหมายมากขึ้น หรือถูกกฎหมาย และวัฒนธรรมทางสังคมที่นิยมการทุจริตเพื่อความสะดวกสบายยังคงมีอยู่

รายงานผลการศึกษาเชิงลึกดังกล่าว ยังพยากรณ์คะแนน CPI ใน 10 ปีข้างหน้า โดยแบ่งฉากทัศน์ออกเป็น 3 รูปแบบคือ

1.ประเทศไทยไม่สามารถยกระดับคะแนน CPI ให้ถึง 50 ตามเป้าหมายได้ และมีแนวโน้มว่าคะแนน CPI ของไทยจะอยู่ในระดับคงที่ลักษณะเดียวกับ 5 ปีที่ผ่านมา คือคะแนนจะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงในช่วงระหว่าง 36-37 คะแนน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดแนวโน้มดังกล่าว เช่น ปัญหาในเรื่องการบังคับใช้หลักการและกฎระเบียบ หากไม่สามารถทำให้การแก้ไขปัญหาในประเด็นเหล่านี้ปรากฏผลขึ้นอย่างเด่นชัด และเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง เกิดการรับรู้และความตระหนักถึงความสำคัญของดัชนีการรับรู้การทุจริตที่กว้างขวางขึ้น การวิเคราะห์แหล่งที่มา และความสำคัญของ CPI เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะยกระดับหรือปราบปรามการทุจริตที่ส่งผลต่อการรับรู้โดยทั่วไปของภาคประชาชนในสังคมได้

2.ประเทศไทยยังไม่สามารถยกระดับคะแนน CPI ให้ถึง 50 ตามเป้าหมาย แต่มีแนวโน้มว่าคะแนน CPI ของไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเพิ่มขึ้นราว 5-6 คะแนนในระยะเวลา 10 ปี โดยอยู่ช่วงระหว่าง 36-42 คะแนน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดแนวโน้มดังกล่าว เช่น ประเทศไทยให้ความสำคัญกับแนวทางปราบปรามการทุจริตตามกรณีศึกษาของหลายประเทศที่มีผลความสำเร็จในการยกระดับค่า CPI และมีมาตรการระยะยาวที่อาศัยเวลาในการยกระดับค่า CPI

3.ประเทศไทยสามารถยกระดับคะแนน CPI ให้ถึง 50 คะแนนตามเป้าหมาย โดยแนวโน้มว่าคะแนน CPI ของไทยจะเพิ่มอย่างก้าวกระโดด สามารถเพิ่มคะแนนได้ถึง 10 คะแนนภายใน 10 ปี โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดแนวโน้มดังกล่าว เช่น การปฏิรูปทางการเมืองขนานใหญ่ ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบเชิงสถาบัน เพื่อสร้างกระบวนการและกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการทำคะแนน CPI ของประเทศ ที่มีการดำเนินการดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด รวมถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปทางการเมืองที่มีการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการปฏิรูปด้วย นอกจากนี้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่จะต้องให้การตอบรับต่อเจตนารมณ์และแนวทางการปฏิรูปของพรรคการเมืองดังกล่าว การทำให้สื่อมวลชนมีความเป็นอิสระ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา ปราศจากแรงกดดันทางการเมืองเป็นสิ่งจำเป็น

ในช่วงท้ายของผลการศึกษาเชิงลึกดังกล่าว คณะผู้วิจัยมองว่า การยกระดับคะแนน CPI จะสำเร็จผลจำต้องมีปัจจัยดังนี้

1.รัฐบาลต้องยอมรับเสียก่อนว่าภายในประเทศมีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นจริง เล็งเห็นถึงความสำคัญว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องแก้ไขให้ได้ แทนที่การกลบปัญหาเอาไว้ใต้พรม

2.การปรับปรุงโครงสร้างและกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการดำเนินการเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ

3.การสร้างพื้นที่ในการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอีก เพื่อก่อให้เกิดความตื่นตัว เข้าใจและร่วมกันแก้ไขปัญหาทุจริต โดยเข้ามาเป็นกลไกที่มีส่วนสำคัญในการตรวจสอบการทุจริต

4.การเปิดโอกาสให้ประชาชนรวมถึงสื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้อย่างสะดวก

5.การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยียุคดิจิทัล สร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงานรูปแบบใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบในเชิงบวก และสามารถลดความเสี่ยงในการกระทำทุจริตของภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม