จุดพลุวางเกม “นิรโทษกรรม” ปั่นกระแสต้าน เก็บกระสุนตุน

จุดพลุวางเกม “นิรโทษกรรม” ปั่นกระแสต้าน เก็บกระสุนตุน

แม้การผลักดันร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ยากที่จะเกิดขึ้นจริง ด้วยเงื่อนไขเทอมสภา แต่อาจถูกนำมาใช้เป็นกลเกมทางการเมือง ที่นักเลือกตั้งบางคนหวังปั่น“กระแส”การเมือง บางคนหวังเก็บ“กระสุน”ตุนไว้ เพื่อต่อยอดงานการเมืองของตัวเอง

ปม “นิรโทษกรรม” ถูกนำกลับมาถกเถียงกันอีกครั้งในสังคมไทย ภายหลัง “หมอระวี มาศฉมาดล" หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และ “ส.ส.เต้” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ออกมาเสนอแนวคิด-แนวทาง ผลักดันให้เกิดขึ้น

“หมอระวี” เสนอให้นิรโทษกรรม ผลสืบเนื่องจากการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง โดยให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

แต่มีการกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยไม่รวมไปถึงคดีทุจริต คดีอาญาร้ายแรง และความผิดเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112

ส่วนแนวคิดของ “มงคลกิตติ์” เห็นสอดคล้องกับแนวทางของ “หมอระวี” แต่เสนอเพิ่มเติมใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.กรณีคดีทุจริตที่มีผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจ โดยยกกรณี จำเลยหรือผู้ถูกพิพากษา อาทิ สองอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกตัดสินเพียงฝ่ายเดียว พร้อมกับระบุว่า หากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะเสนอได้บัญญัติเนื้อหาและเขียนเงื่อนไข ให้ใช้กระบวนการรื้อฟื้นคดีตาม พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 เชื่อว่าจะทำให้เกิดสังคมยอมรับ เกิดความปรองดอง ประเทศเดินหน้า เพราะให้สิทธิฝ่ายจำเลยมีสิทธิสู้ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ

2.คดีกบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 เพื่อนิรโทษกรรม “กลุ่ม คมช.” ซึ่งพบว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย เป็นจำเลยในการยึดอำนาจปี 2549

3.คดีการยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมือง ที่มีเหตุจูงใจจากการเอาชนะคะคาน ซึ่งจะรวมในกลุ่มของพรรคก้าวไกล เพื่อคืนสิทธิ์ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

4.คดีอาญามาตรา 112 เช่น คดีกลุ่มคณะราษฎร ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ใช่การยกเลิก แต่ต้องมีเงื่อนไขคือการปรับความเข้าใจ รับสารภาพ ทำความเข้าใจให้เรียบร้อย และมีเงื่อนไขไม่ทำอีก

ข้อเสนอของแกนนำพรรค 1 เสียง “หมอระวี-เต้ มงคลกิตติ์” มีความแตกต่างกันอยู่มาก ความเคลื่อนไหวของ “หมอระวี” ถูกมองว่าเป็นการหาจุดยืนของตัวเอง เพื่อปูทางไปสู่การหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า การหา “จุดขาย” เตรียมเอาไว้ก่อนย่อมได้เปรียบ

ประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในการเมืองมายาวนาน เจ้าตัวย่อมรู้ดีว่า กระบวนการออกกฎหมายไม่สามารถขับเคลื่อนได้ทันกรอบเทอมสภา แต่เมื่อสภาเปิดอยู่ ช่องทางหนึ่งของ “พรรคเล็ก” คือการชิงความได้เปรียบ ชงข้อเสนอเพื่อหาจุดร่วมของสังคม อย่างน้อยชื่อของ “หมอระวี” จะปรากฏตามหน้าสื่อให้ประชาชนได้จดจำ

ขณะที่ “เต้ มงคลกิตติ์” ชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และถูกจดจำ จากความโลดโผน เป็นสีสันการเมือง ซึ่งติดภาพด้านลบเสียมากกว่า ดังนั้นการออกมาจุดประเด็นนิรโทษกรรม จึงทำให้ “มงคลกิตติ์” ถูกมองว่า พยายามหาจุดยืนทางการเมือง เพื่อสร้างภาพจำตัวเองใหม่

ทางหนึ่ง “มงคลกิตติ์” อาจหวังได้แต้มจากแฟนคลับเพื่อไทย ที่ชงให้รื้อคดี “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” อีกทางหนึ่งอาจหวังแต้มจาก “คนรุ่นใหม่” ที่หลายคนโดนคดีอาญา มาตรา 112

 

ทว่า ในมุมกลับ ก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการจุดพลุรื้อคดีกบฎ ของ “พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.อนุพงษ์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ยุค คมช. โดยอธิบายว่า มีคดีค้างอยู่ในชั้นศาล จะเป็นการเขี่ยบอลให้เข้าทาง “มือมืด” ที่รอลับมีดอยู่หรือไม่ เนื่องจากเป็นคดีเก่าเก็บเกินกว่าจะจำกันได้

เพราะอย่าลืมว่า ในทางลับ มีการตั้งข้อสังเกตว่า “มงคลกิตติ์” จัดอยู่ในระดับมือปฏิบัติการพิเศษของใครบางคน ที่จ้องล้ม “ประยุทธ์” ยิ่งในช่วงที่ “ประยุทธ์” มีแนวโน้มจะทิ้งพรรคพลังประชารัฐ เพื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ยิ่งทำให้ “ทีมป่ารอยต่อ” ไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากแต้มการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ จะมลายหายไปทันที

การออกมาจุดพลุของ “มงคลกิตติ์” ต้องติดตามดูว่าจะมีการรับลูกจาก “ส.ส.พลังประชารัฐ” หรือไม่ เพราะหากมีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง นำมาเป็นเงื่อนไขทางการเมือง โจมตีไปยัง “พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.อนุพงษ์” ปมพัวพันรัฐประหารสองครั้งสองครา ยิ่งตอกลิ่มให้ “ประยุทธ์” เสียแต้มการเมือง

แม้การผลักดันร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ยากที่จะเกิดขึ้นจริง ด้วยเงื่อนไขเทอมสภา แต่อาจถูกนำมาใช้เป็นกลเกมทางการเมือง ที่นักเลือกตั้งบางคนหวังปั่น“กระแส”การเมือง บางคนหวังเก็บ“กระสุน”ตุนไว้ เพื่อต่อยอดงานการเมืองของตัวเอง