"สุทิน" ชี้ "กลุ่มธรรมนัส" คืนพปชร.ไม่แปลก หวังศาลชี้ขาดสูตรส.ส.เป็นบวก
"สุทิน" มองสภาล่มสะท้อน2ปัจจัย - "กลุ่มธรรมนัส" คืนพปชร.ไม่ใช่เรื่องแปลก เหตุทำงานร่วมกับ "ประวิตร"อยู่แล้ว ส่วนประเด็นวินิจฉัยสูตรส.ส.30พ.ย.หวังศาลตัดสินเป็นบวก
นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงปัญหาสภาล่ม ยอมรับว่าวันนี้ก็อาจเป็นไปได้ที่การประชุมจะล่ม เนื่องจากเป็นอาการของการเมืองปลายสมัยประชุมสภา ซึ่ง เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยคือ 1.ส.ส.ห่วงพื้นที่ และ 2. ความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาล ในช่วงปลายสมัยก็จะง่อนแง่นและก็จะมีปัญหาเรื่องของการควบคุมเสียงในสภา การแก้ปัญหาง่ายมากคือรัฐบาลต้องควบคุมเสียงของตัวเองให้ได้
"ทุกยุคฝ่ายค้านก็จะทำหน้าที่แบบนี้ แต่ในอดีตไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลคุมเสียงได้ รัฐบาลในอดีตไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่แต่รัฐบาลนี้เป็นปัญหาใหญ่" นายสุทินกล่าว
นายสุทิน ยังกล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไฟเขียวให้กลุ่ม ส.ส. ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ ส.ส. พรรคเศรษฐกิจไทยกลับเข้ามาทำงานการเมืองในพรรคพลังประชารัฐได้ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเนื่องจากกลุ่ม ส.ส. ร.อ.ธรรมนัสทำงานกับพรรคพลังประชารัฐทำงานกับพล.อ.ประวิตรอยู่แล้ว
ซึ่งประชาชนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าร.อ.ธรรมนัสออกจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว และคิดว่ายังอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ จึงไม่คิดว่าจะมีผลจะทำให้พรรคดีขึ้นหรือแย่ลง เพราะร.อ.ธรรมนัสไม่ใช่คนอื่นไกลของพรรคพลังประชารัฐ หากแต่ว่าภายในพรรคพลังประชารัฐเองอาจจะมีปัญหาจากหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญ คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้อยู่ด้วย ประเด็นที่ตามมาคือการแบ่งไพร่พลว่าคนจะอยู่หรือจะไปมากกว่ากัน เป็นเรื่องที่พรรคพลังประชารัฐต้องประเชิญหนักกว่าทุกเรื่อง
นายสุทิน ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ในวันที่ 30 พ.ย.ว่า ไม่ว่าคำตัดสินของศาลจะออกมาอย่างไร จะเกิดผลทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งนำบ้านเมืองไปสู่ทางตันและทางโล่ง แต่ก็น้อมรับคำตัดสิน
ซึ่งหากผลคำตัดสินทำให้การเลือกตั้งสะดุดหยุดลง รัฐสภาก็ต้องออกแรงกันมาก ซึ่งได้แต่หวังว่า ผลคำวินิจฉัยจะเป็นไปในทางที่ดี
ทั้งนี้ หากว่าศาลสั่งให้มีการแก้ไขเนื้อหาในบางมาตรา เชื่อว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐสภาหวุดหวิด และไม่ง่าย ซึ่งต้องดูประเด็นการชี้ของศาล ว่าเป็นปัญหา ที่กระดุมเม็ดแรกคือรัฐธรรมนูญ หรือกระดุมเม็ดที่สอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.
หากเป็นปัญหาที่กระดุมเม็ดสอง เชื่อว่าจะสามารถเร่งรัดให้แก้ได้ในห้วงเวลาที่เหลืออยู่ แต่รัฐสภาก็ต้องให้ความร่วมมือกัน หรือหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นปัญหาที่กระดุมเม็ดแรก เป็นห่วงว่าอาจจะใช้ระยะเวลาในการแก้ไข ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกนั้นไม่สามารถที่จะพิจารณา 3 วาระรวดพร้อมกันได้เนื่องจากมีกรอบขั้นตอนตามกฏหมายอยู่
แต่ถ้าท้ายที่สุดศาล รัฐธรรมนูญชี้ว่าร่างกฏหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าเป็นทางที่โล่ง ซึ่งถือว่าสมบูรณ์แล้ว ในการมีกฎหมายหรือกลไกในการจัดการเลือกตั้ง หากยุบสภาหรือเกิดอะไรขึ้นก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้เลย และเชื่อว่าจะเป็นกฎหมายที่ทุกคนให้ความยอมรับ หลังจากเกิดความเห็นต่างในการพิจารณาของรัฐสภา ข้อเห็นต่างก็จะได้ข้อยุติลง