"เสรี" ไม่หวง "ฝ่ายการเมือง" หยิบประเด็นโละจำกัดวาระนายกฯ ไปหาเสียง
"เสรี" แจงข้อเสนอ เลิกจำกัดวาระนายกฯ 8 ปี เป็นประโยชน์ทุกพรรค ไม่หวง "ฝ่ายการเมือง" หยิบประเด็นไปหาเสียงเลือกตั้ง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่มีฝ่ายการเมืองคัดค้านการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ว่าด้วยการวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดห้ามเกิน 8 ปี โดยยืนยันว่าประเด็นดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เป็นเพียงการยกประเด็นที่สถาบันพระปกเกล้าศึกษามาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเท่านั้น และกมธ.ยังไม่มีข้อสรุปต่อประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ดีในการศึกษาต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกมธ.มีหลายประเด็นไม่เฉพาะเรื่องวาระดำรงตำแหน่งของนายกฯ เท่านั้น
“การแก้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน แก้ไม่ง่าย อย่างน้อยต้องเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา และต้องมีเสียงส.ว.ร่วมสนับสนุน 1 ใน 3 และฝ่ายค้านต้องสนับสนุน และหากไม่มีความสามัคคีปรองดองและประชาชนยอมรับ ดังนั้นในกระบวนการของการแก้ไขเพื่อให้เป็นประโยชน์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นไปไม่ได้ และการเสนอแก้ไขไม่ได้เพื่อประโยชน์ของพล.อ.ประยุทธ์ เพราะการเลือกตั้งคราวหน้าไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลและใครจะเป็นนายกฯ ดังนั้นประเด็นนี้จึงเป็นประโยชน์กับทุกพรรคการเมือง ไม่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” นายเสรี กล่าว
เมื่อถามว่าข้อเสนอดังกล่าวขณะนี้พบว่าฝ่ายการเมืองนำไปขยายประเด็นเพื่อเอื้อให้พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไม่ถูกจำกัดวาระนายกฯครั้งหน้า นายเสรี กล่าวว่า "ก็แล้วแต่ เสนอเป็นนโยบายประชาชนส่วนหนึ่งอาจจะชอบก็ได้ หากเขาอยากได้ให้ประยุทธ์อยู่ยาว แต่ต้องเดาใจประชาชนด้วย เพราะบางคนอาจจะบอกว่า 8 ปีพอแล้ว ไม่เอาแล้ว ดังนั้นไม่ใช่ว่านำไปหาเสียงแล้วจะได้คะแนน”
เมื่อถามว่าไม่ปฏิเสธใช่หรือไม่ว่าประเด็นนี้คือกลยุทธ์การเมืองเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมา นายเสรี กล่าวว่า “เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ เพราะเป็นการศึกษาที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ หากการทำหน้าที่ กลับคนจะคิดแบบไหน แสดงว่าเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ประเด็นที่เสนอเป็นประเด็นที่ทุกพรรคได้ประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะพล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น หากพรรคเพื่อไทย เสนอ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ หากได้เป็นนายกฯก็ได้เป็นยาว เขาอาจจะนำประเด็นนี้ไปหาเสียงก็ได้ เพราะเป็นประโยชน์ทุกพรรค ส่วนที่เสนอเรื่องนี้ แล้วคนวิจารณ์ เพราะเป็นช่วงสงครามน้ำลาย”
เมื่อถามว่าการยกเลิกวาระ 8 ปีมีหลักการอย่างไร นายเสรี กล่าวว่า การจำกัดวาระนายกฯ เพื่อไม่ให้เป็นนานเกินไป แต่กรณีดังกล่าวใช้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 พบว่าเป็นปัญหา เนื่องจากหากมีคนดีมีความรู้ ความสามารถ เป็นต่อไปจะถูกจำกัด ดังนั้นเงื่อนไขนี้ ควรให้ประชาชนตัดสินใจ พิจารณาว่าาพรรคไหน คนไหนเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ นานเท่าไร หากทำดีไปต่อสมัยสอง แต่สมัยสามเป็นไม่ได้ ประชาชนต้องเรียกร้องคนดี
"ประเด็นนี้ต้องใจกว้าง อย่าสร้างเงื่อนไขมาก ทั้งนี้ในการทำงานของกมธ. มีหลักการคือทำเพื่อส่วนรวม เพื่อประชาชน ตามที่ถูกกำหนดไว้ให้ทำหน้าที่ 5 ปี อาจจะเอียงไปทางไหน ด้านใดด้านหนึ่งต้องมีองค์ประกอบตัดสินปัญหาได้ หากตัดสินได้ ไปซ้ายหรือขวา หมดเวลาแล้ว เข้าสู่ระบบเดิม" นายเสรี กล่าว