เลขาฯ กกต.สั่ง 5 จังหวัดแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 ใหม่ เหตุราษฎรไม่เป็นไปตามเกณฑ์
“เลขาฯ กกต.” สั่ง 5 จังหวัด กทม.-ชลบุรี-เชียงใหม่-ปัตตานี-สมุทรปราการ แบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 ใหม่ เหตุจำนวนราษฎรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ยันไม่กระทบเวลาเปิดรับฟังความเห็น-กกต.เคาะเลือกรูปแบบ
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กกต.ได้มีการพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 ของแต่ละจังหวัดที่ได้มีการปิดประกาศ และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.จังหวัด พบว่า การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ของกรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ปัตตานี และสมุทรปราการ มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เห็นว่า เพื่อให้การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำนักงานจึงมีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าว ให้ดำเนินการจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเพิ่มเติมโดยให้มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนด และผลต่างของจำนวนราษฎรระหว่างเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10
หลังจากนั้นให้ปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ดังกล่าว ระหว่างวันที่ 7-16 ก.พ. 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดได้แสดงความคิดเห็น เมื่อครบกำหนดเวลาระยะเวลา ให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในเขตเลือกตั้งมาประกอบการพิจารณา และเสนอผลการพิจารณาเรียงตามลำดับความเหมาะสมทุกรูปแบบที่มีการปิดประกาศ พร้อมเหตุผลประกอบ รวมทั้งข้อดี ข้อเสีย ของรูปแบบต่าง ๆ และรายงานมายังสำนักงาน กกต.อย่างช้าภายในวันที่ 20 ก.พ.นี้
“รูปแบบการแบ่งเขตที่ 5 จังหวัดดำเนินการมานัั้น ก็ไม่ได้ผิด เพราะจังหวัดแบ่งโดยคำนึงถึงความเป็นอำเภอ เป็นชุมชน จึงไม่มีการแบ่งหรือผ่าอำเภอออกไป แต่ กกต.เห็นว่าควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คนในจังหวัดนั้นเป็นสำคัญก่อน จึงให้ทั้ง 5 จังหวัดดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการแบ่งเขตใหม่ และติดประกาศเผยแพร่โดยระยะเวลาที่กำหนดไม่กระทบกรอบเวลา 10 วันที่กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองและประชาชนแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันการเสนอเรื่องมาให้ กกต.พิจารณาเคาะว่าจะใช้รูปแบบใดก็ยังอยู่ในระยะเวลาที่สำนักงานวางแผนไว้คือภายใน 20-28 ก.พ.” นายแสวงกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ 5 จังหวัดที่สำนักงาน กกต. สั่งให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่นั้น รวมเป็นเขตเลือกตั้งทั้งสิ้น 66 เขตเลือกตั้ง แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง เชียงใหม่ 11 เขตเลือกตั้ง ชลบุรี 10 เขตเลือกตั้ง สมุทรปราการ 8 เขตเลือกตั้ง และปัตตานี 4 เขตเลือกตั้ง