การพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณภาพผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

การพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณภาพผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

ประเทศไทยกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผมคาดการณ์ว่าเป็นปลายเดือนเมษายน 2566 ในเวลานี้เราเริ่มเห็นการออกมาเปิดตัวนโยบายและผู้สมัครของพรรคต่าง ๆ ที่เริ่มลงพื้นที่พบปะประชาชน และหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เรียกได้ว่าเป็น บุคคลสำคัญ ในการเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชน ในการผลักดันร่างกฎหมายและนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และช่วยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพื่อนำประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

สิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงได้หากประเทศไทยได้ ส.ส.ที่มีคุณภาพและมีคุณธรรม ตั้งใจทำหน้าที่ด้วยจิตสำนึกมุ่งประโยชน์ส่วนรวม 

คำถามคือ ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดมีคุณสมบัติอุดมคติที่เหมาะสม เป็นคนดีมีคุณภาพที่สมควรเลือกเป็น ส.ส.?

ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า ประเทศไทยจะได้คนที่เหมาะสมเข้าไปทำงานการเมืองไม่มากเท่าที่ควร เห็นได้จากข่าวที่ปรากฎ เช่น การอภิปรายที่ไม่สร้างสรรค์ “งูเห่า” ที่ย้ายพรรคเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ

ทั้งนี้ การเลือก ส.ส. ที่ดีและมีคุณภาพอาจทำได้ยาก เนื่องจาก ประชาชนไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า ผู้สมัคร ส.ส.คนใดที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ผู้สมัครหลายคนยังเป็นหน้าใหม่ ประชาชนไม่ทราบข้อมูลที่เพียงพอในการพิจารณาเลือก

การพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณภาพผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

ประกอบกับประชาชนไม่มีเวลาในการสืบหาข้อมูล หากต้องหาข้อมูลและวิเคราะห์เองก็ทำได้ยาก เนื่องจากข้อมูลที่หาก็กระจัดกระจาย เกิดต้นทุนในการประมวลผลข้อมูลที่สูงจนเกินไป จนสุดท้ายอาจตัดสินใจเลือกคนที่ไม่เหมาะสมเข้าไปทำหน้าที่ในที่สุด 

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ดัชนีเพื่อการพัฒนา (CID) ภายใต้สถาบันอนาคตศึกษา ซึ่งผมเป็นประธาน จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณภาพผู้สมัครรับเลือกตั้ง (Political Candidate Index: PCI) เพื่อเป็นประโยชน์ในการชี้วัดผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และเป็นแนวทางให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่เหมาะสม

การพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณภาพผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

1.ดัชนีชี้วัดคุณภาพผู้สมัครรับเลือกตั้ง (Political Candidate Index - PCI) คืออะไร?
ดัชนี PCI คือ เครื่องมือที่คอยรวบรวมข้อมูลของผู้สมัครมาวิเคราะห์เป็นตัวเลข ทั้งคุณสมบัติด้านการศึกษา การทำงาน การมีความรู้ ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ ประวัติการทำงานเพื่อส่วนรวม รวมทั้งตัวชี้วัดด้านการมีภาวะการนำ ภาวะการบริหาร และภาวะคุณธรรม

เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพว่า ผู้สมัครแต่ละคนนั้นมีคุณลักษณะอย่างไร เป็นคนที่ดี เก่ง กล้า เหมาะสมที่จะเลือกเข้ามาหรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ประชาชนตัดสินใจเลือกคนตามคุณสมบัติเหมาะสม มากกว่าเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่รู้จัก

เพียงเพราะเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นคนมีอิทธิพล หรือเลือกตามพรรคที่ชื่นชอบ โดยไม่รู้คุณสมบัติ ไม่รู้ประวัติด้านอื่น ๆ ของบุคคลนั้นเลย

 2. ดัชนี PCI มีประโยชน์อย่างไร? 
การทำดัชนีชี้วัดคุณภาพผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมหลายประการ ได้แก่ 
1) ลดต้นทุนในการตรวจสอบผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และช่วยให้ประชาชนมีข้อมูลประกอบการพิจารณาเลือกผู้สมัครได้ดีขึ้น

ตัวดัชนี PCI จะช่วยทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้สะดวกขึ้นจากข้อมูลที่รวบรวมไว้ในที่เดียว และได้พิจารณาผ่านข้อมูลที่มีการวิเคราะห์ไว้ด้วยเครื่องมือที่น่าเชื่อถือ

ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้มีข้อมูลสำคัญมาประกอบการพิจารณา ทำให้มีโอกาสที่จะเลือกคนที่เหมาะสมเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนได้ดีขึ้น

2) เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. สามารถประเมินตนเองได้ โดยผู้สมัคร ส.ส. สามารถจะเห็นจุดแข็งและข้อบกพร่องของตนผ่านตัวชี้วัดนี้ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง และพยายามแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองให้ดีขึ้นได้  

3. แนวทางการพัฒนาดัชนี PCI เป็นอย่างไร?
การพัฒนาตัวชี้วัด PCI ได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากแนวคิดของผม อันประกอบไปด้วย 2 แนวคิด คือ ความเป็นอารยบุคคล ซึ่งเป็นการประเมินด้านคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และแนวคิดไตรภาวะ เมื่อรวมสองแนวคิดเข้าด้วยกันแล้ว

การพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณภาพผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

ทำให้มีตัวชี้วัดทั้งหมด 14 ตัวชี้วัด แสดงได้ดังต่อไปนี้
1) ความเป็นอารยบุคคล - ดี เก่ง กล้า 
อารยบุคคล คือ บุคคลที่ดี เก่ง กล้า เป็นคนที่มีความเจริญครบถ้วนในทุกด้าน มีความพร้อมที่จะเป็นแกนนำในสังคมด้านต่าง ๆ เป็นแกนนำทางความคิด ความประพฤติและเป็นแบบอย่างที่ดี

สำหรับด้านของคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ที่จะต้องเป็นคนดี/ เก่ง/ กล้า ประเมินผ่าน 9 ตัวชี้วัด ได้แก่ ผลงาน/รางวัลด้านสังคม สัดส่วนเวลางานที่ทำเพื่อสังคม ไม่พบประวัติทุจริตคอร์รัปชัน สัดส่วนทรัพย์ที่บริจาคแก่สังคม ผลงาน/รางวัลด้านความเก่ง จบจากสถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐาน ผลการศึกษา ตำแหน่งที่ได้รับการยกย่อง และผลงาน/รางวัลด้านความกล้าหาญ 

2) ไตรภาวะ: ภาวะการนำ ภาวะการบริหาร ภาวะคุณธรรม
 ผมได้เสนอแนวคิด “ไตรภาวะ” ซึ่งประกอบด้วย ภาวะการนำ ภาวะบริหาร และภาวะคุณธรรม  โดยมีสาระสำคัญว่า บุคคลที่จะสามารถบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีไตรภาวะดังกล่าวนี้ครบถ้วนทั้ง 3 ภาวะ หากมีไม่ครบ จะทำให้องค์กรไม่สามารถบรรลุสู่ความสำเร็จตามที่ต้องการอย่างแท้จริง 

ผมเชื่อว่าผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.ควรจะเป็นต้องมีไตรภาวะ - ภาวะการนำ การบริหาร และมีคุณธรรมเช่นเดียวกันจึงจะสามารถทำหน้าที่ ส.ส.เพื่อประชาชนได้อย่างเกิดผลลัพธ์แท้จริง

ดังนั้น ดัชนี PCI จึงมีการประเมินไตรภาวะของผู้สมัคร ส.ส. โดยจะวัดผ่าน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ผลงานด้านการบริหาร ตำแหน่งด้านการบริหาร และทีมงานไม่มีประวัติทุจริต/ คอร์รัปชัน (เพราะแสดงให้เห็นว่าบริหารจัดการและควบคุมคนภายใต้ได้) 

ตัวชี้วัดในดัชนี PCI จะมีคุณลักษะ 3 ประการ ได้แก่ (1) มีความเป็นภาวะวิสัย (objective-oriented) เพื่อลดข้อโต้แย้ง (2) มีการทำให้เป็นบรรทัดฐาน (normalization) ข้อมูลให้สามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างยุติธรรม และ (3) มีการวิจัยปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวแปรทำนาย (predictor variable) ที่ดี

โดยรวมแล้ว การมีดัชนี PCI จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เลือก ส.ส. ที่มีคุณภาพมาช่วยบริหารให้เกิดการพัฒนาประเทศจากการประเมินที่เน้นข้อมูลเท็จจริงเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพของตัว ส.ส. เองจากการที่ตัวผู้สมัครเห็นจุดแข็งและจุดที่ต้องพัฒนาในด้านคุณสมบัติส่วนบุคคล และการมีภาวะความเป็นผู้นำเป็น อันนำไปสู่การเลือกตั้งที่มีคุณภาพ และขับเคลื่อนประเทศชาติได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการได้ ส.ส. ที่มีคุณภาพมาดำรงตำแหน่ง.

ทัศนะ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
[email protected], www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando