“นายกฯ” สั่ง ล้อมคอก แก้ปัญหาต่างชาติ ลักลอบทำธุรกิจสีเทา ผิดกฎหมาย
“โฆษกรัฐบาล” เผย “นายกฯ” ติดตามแก้ปัญหาต่างชาติ ลักลอบ ทำธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาต ใช้คนไทยเป็นนอมินี ป้องกันการฉวยโอกาสทำธุรกิจสีเทา สั่ง บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามประเด็นการแก้ไขปัญหาชาวต่างชาติหลบเลี่ยงทำธุรกิจโดยไม่ขออนุญาต และใช้คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นแทน (นอมินี) โดยกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการตรวจสอบการจดทะเบียนของแต่ละบริษัท ห้างร้าน อย่างเข้มงวด ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องว่างจากธุรกิจสีเทาที่เข้ามาฉวยโอกาสทำธุรกิจของคนไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบในย่านเยาวราช สัมพันธวงศ์ รัชดา ห้วยขวาง จำนวนรวมประมาณ 200 บริษัท โดยตรวจสอบข้อมูลการขอจดทะเบียน รวมทั้งสังเกตพฤติกรรมของผู้ยื่นจดทะเบียนด้วยว่ามีความน่าเชื่อถือและสอดคล้องกับเงินทุนที่ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่หรือไม่ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำการตรวจสอบในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ไม่จำกัดเฉพาะเพียงจังหวัดใหญ่ หรือเมืองท่องเที่ยวเท่านั้นและเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่พัก/โรงแรม รถเช่า ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจนวด สปา เป็นต้น
โดยขั้นตอนการตรวจสอบ จะดูลักษณะว่าประกอบธุรกิจอะไร ซึ่งหากเป็นธุรกิจที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่เป็นธุรกิจต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวอยู่แล้ว จะไม่สามารถทำธุรกิจได้ ซึ่งได้แก่ 1. กิจการหนังสือพิมพ์ กิจการสถานีวิทยุกระจ่ายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ 2. ทำนา ทำไร่ หรือทำสวน 3. เลี้ยงสัตว์ 4. ทำป่าไม้และแปรรูปไม้จากป่าธรรมชาติ 5. ทำการประมงเฉพาะการจับสัตว์น้ำ ในน่านน้ำไทย และเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย 6. การสกัดสมุนไพรไทย 7. การค้าและการขายทอดตลาดโบราณวัตถุของไทย หรือที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศ 8. การทำหรือหล่อพระพุทธรูป และการทำบาตร และ 9. การค้าที่ดิน
ส่วนบัญชีแนบท้ายอื่น ๆ ซึ่งเป็นบัญชีที่จะต้องขออนุญาตก่อน หากตรวจสอบพบว่าไม่มีการขออนุญาต จะถือว่าผิดกฎหมาย รวมถึงการดูสัดส่วนการถือหุ้น การมีอำนาจบริหารจัดการ งบการเงิน ทั้งนี้ ระหว่างการตรวจสอบ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะให้เวลาบริษัทต่าง ๆ ส่งข้อมูลมาให้ชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งหากพบว่าเข้าข่ายนอมินี จะนำส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกต่อไป
“นายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเน้นการลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างละเอียด รอบคอบ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องว่างให้ชาวต่างชาติเข้ามาฉวยโอกาสทำธุรกิจของคนไทย โดยเฉพาะช่วงของการเปิดประเทศ ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติเข้ามาในไทยจำนวนมาก จึงต้องคำนึงถึงการดูแลภาคธุรกิจในประเทศด้วย ควบคู่กับการให้ความรู้ทางกฎหมายเพื่อให้แต่ละธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง” นายอนุชา กล่าว