จับตา! กกต.เคาะ 14 พ.ค.วันเลือกตั้ง 66 ชง ครม.รับทราบ ลงราชกิจจาฯ
สะพัด! กกต.เคาะ 14 พ.ค.เป็นวันกาบัตรเลือกตั้ง 66 หลัง “ประยุทธ์” ยุบสภาฯ ชง ครม.รักษาการเพื่อรับทราบ ก่อนส่ง สลค.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้นัดประชุมกันเพื่อพิจารณากำหนดวันเลือกตั้ง 2566 และวันประกาศรับสมัคร ส.ส. ภายหลังราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา
โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม กกต.จะมีมติเลือกวันที่ 14 พ.ค. 2566 เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เนื่องจากอยู่ช่วงเวลา 45-60 วันตามกฎหมายภายหลังการยุบสภาฯ โดยหลังจากประชุมเสร็จสิ้น จะส่งเรื่องไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการ เพื่อรับทราบ และส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ในวันที่ 20 มี.ค.แล้ว กกต.จะต้องประกาศวันเลือกตั้งทั่วไป และวันสมัครรับเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา ภายในวันที่ 25 มี.ค. และหากนับไทม์ไลน์ของ กกต.แล้ว จะต้องประกาศวันเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งนี้ ครม.เห็นชอบให้กับ กกต.แล้ว รวมวงเงินทั้งสิ้น 5,945 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. แบ่งเป็น
1. รายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ดำเนินการโดยสำนักงาน กกต. จำนวน 5,104,546,750 บาท อาทิ ภารกิจในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภารกิจเตรียมความพร้อมบุคลากร วิทยากร และเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกระดับ รวมทั้งภารกิจจัดการเลือกตั้งกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้มีการลงคะแนน/เลือกตั้งใหม่/แทนตำแหน่งที่ว่าง
2. รายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการโดยหน่วยงานสนับสนุน ทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ รวม 10 หน่วยงาน วงเงิน 840,614,250 บาท อาทิ ภารกิจสนับสนุนการควบคุมและการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักร โดย กระทรวงการต่างประเทศ ภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภารกิจสนับสนุนการรณรงค์เผยแพร่ความรู้การเลือกตั้ง โดยกระทรวงศึกษาธิการ ภารกิจขนส่งบัตรเลือกตั้งและวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้ง หนังสือแจ้งเจ้าบ้านและอื่นๆ โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นต้น
สำหรับค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง และผู้ลงสมัครรับ ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ กรณีมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้นนั้น กกต. รับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง และสรุปออกมาว่า กรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 1,900,000 บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนบาทถ้วน) ส่วนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 44,000,000 บาท (สี่สิบสี่ล้านบาทถ้วน)