ปชป.ประกาศรื้อโครงสร้างพลังงาน เลิกค่าเอฟที ลดภาระประชาชน
ทีมเศรษฐกิจ ปชป. ประกาศรื้อโครงสร้างราคาพลังงาน พร้อมเดินหน้ายกเลิกค่าเอฟที ทบทวนโครงสร้างราคา และภาษีสะท้อนต้นทุนแท้จริง และเป็นธรรม ลดรายจ่ายให้คนไทย
ทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว วาระประเทศไทย ครั้งที่ 2 "ปชป. ชูรื้อโครงสร้างราคาพลังงาน ลดรายจ่ายคนไทย” นำโดย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.กระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ และนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต รมช.กระทรวงพาณิชย์ รมต.เศรษฐกิจอาเซียน ณ ห้องประชุมชั้น 3 พรรคประชาธิปัตย์ อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีมาตรการที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่มีความเป็นไปได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ โดยปัจจุบันปัญหาเรื่องพลังงานแยกออกเป็น 4 หมวด คือ ก๊าซหุงต้ม ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และไฟฟ้า ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะรื้อโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อลดรายจ่ายให้คนไทยอย่างถาวร
สำหรับเรื่องไฟฟ้า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบาย ยกเลิกค่า FT เพราะปัจจุบันการคิดคำนวณค่า FT เป็นสมมติฐานทั้งสิ้น การทำแบบนี้เป็นช่องโหว่ของการกำหนดค่าไฟฟ้า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบางกลุ่ม พรรคประชาธิปัตย์ จะทำให้ราคาไฟฟ้าตรงกับต้นทุนจริง รวมไปถึงจะกำหนดระดับกำลังการผลิตสำรองที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยปัจจุบันการผลิตสำรองอยู่ในระดับสูงกว่า 50% ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่ควรอยู่ในระดับ 15% ต้องกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตระหว่างรัฐกับเอกชนให้เหมาะสม และทบทวนเรื่องสัญญาสัมปทาน รวมถึงกำหนดสัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งราคา และรูปแบบสัญญา (PPA) และปรับราคาก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นธรรม
“พรรคประชาธิปัตย์จะยกเลิกค่า FT หลายประเทศส่วนใหญ่ไม่มีค่า FT เพราะมันมีวิธีที่ดีกว่า ไม่ต้องให้ใครก็แล้วแต่มากำหนดราคาค่าไฟ และตอนนี้ FT เป็นการคิดประเมินโดยมองไปในอนาคต 4 เดือน โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนเชื้อเพลิงค่าไฟจากเอกชน ประเทศเพื่อนบ้าน “สมมติฐานผิด ก็ค่าไฟผิด” ทำให้คนเดือดร้อน ค่าไฟเราแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมไม่ให้ราคาไฟฟ้าตรงกับต้นทุนจริง เราสามารถใช้ตัวเลขย้อนหลัง 4 เดือน แล้วจะทำระบบกองทุนไว้สำหรับความผันผวนได้” นายเกียรติ กล่าว
และได้เพิ่มเติมอีกว่า สำหรับเรื่องน้ำมัน พรรคประชาธิปัตย์จะกำหนดค่าการกลั่น ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1 บาทต่อลิตร ซึ่งที่ผ่านมาค่าการกลั่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2552 อยู่ที่ 0.85 บาทต่อลิตร ปี 2554 ขยับขึ้นมาที่ 1.55 บาทต่อลิตร และขึ้นไปสูงสุดที่ 3.65 บาทต่อลิตร ในปี 2565 สูงกว่าค่าการกลั่นอ้างอิงประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่ 20% ถึงกว่า 400% นอกจากนี้ยังต้องกำกับค่าการตลาดให้อยู่ในระดับ 1.50 บาทต่อลิตร และจะทบทวนโครงสร้างราคา และภาษีให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นธรรม จะทบทวนเงินเข้ากองทุน ทบทวนการคำนวณต้นทุนน้ำมันที่อ้างอิงราคามันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน “ต้องไม่ลืมว่า ทุก 1 บาทต่อลิตร ที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรบริษัทน้ำมันสูงขึ้นกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี ไม่เป็นธรรมกับประชาชน”
ส่วนก๊าซธรรมชาติ จะมีการเฉลี่ยต้นทุนระหว่างนำเข้ากับแหล่งในประเทศ ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นธรรม มีการทบทวนค่าผ่านท่อ ปรับสูตรคำนวณ และวิธีการกำกับดูแลใหม่ ทบทวนสัญญาระยะยาวที่เอาเปรียบและไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกันกับก๊าซหุงต้ม ต้องมีการตรวจสอบปริมาณการผลิต และใช้ในประเทศจริง ทบทวนสูตรคำนวณราคาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นธรรม แก้ปัญหาการลักลอบไปประเทศเพื่อนบ้าน ทบทวนสัญญาระยะยาวสำหรับกลุ่มปิโตรเคมี ส่วนปั๊มก๊าซ LNG / LPG จะทบทวนค่าการตลาด และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นธรรมต่อประชาชน
ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ อดีตรมช.พาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน และอดีต รมต.เงาพลังงาน เจ้าของฉายา "มิสเตอร์เอทานอล" กล่าวถึงนโยบายพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานของพรรคประชาธิปัตย์ “ก้าวสู่พลังงานสีเขียวพลังงานสะอาดสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” (Go Green Go Clean Go Low Carbon) ว่า วิสัยทัศน์เชิงรุกพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญสูงสุดสำหรับนโยบายพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานโดยยกระดับเป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วน (National Urgent Agenda) เพื่อ 1.ลดค่าใช้จ่ายพลังงานในภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ 2.ลดภาระต้นทุนของประเทศโดยชะลอการลงทุนด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ 3.ยืนบนขาตัวเองตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 4.เพิ่มโอกาสส่งออกพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีนวัตกรรมอนุรักษ์พลังงาน เป็นการแปรวิกฤติพลังงานเป็นโอกาส สามารถสร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ ยกระดับประเทศไทย เป็นผู้นำพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภูมิภาคเอเชียภายในปี 2030 ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และชุมชนมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีตัวอย่างนโยบายไฮไลต์ เช่น ส่งเสริมการวิจัยพัฒนานวัตกรรมโครงการ พลังงานไฮโดรเจน ( Hydrogen Energy ) โครงการ E100 B 100, โครงการ โซล่ารูฟ ทุกบ้าน ทุกอาคาร ด้วยระบบ Net Metering และ Energy storage, โครงการโซล่าฟาร์ม และเกษตรอัจฉริยะประหยัดพลังงานสำหรับฟาร์มพืช ประมง และปศุสัตว์
ด้านนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างพลังงานทดแทน เช่น โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 โรงแก๊สชีวภาพ 1 โรงปุ๋ยชีวภาพชุมชน, โครงการ 1 ตำบล 1 โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน, โครงการ 1 อำเภอ 1 ศูนย์ยานยนต์เครื่องจักรกลไฟฟ้า และการปรับเปลี่ยนยานยนต์ เครื่องจักรกลเก่าเป็นระบบไฟฟ้า (Ev Conversion Center) (รถเก่ากว่า 40 ล้านคัน) เพื่อส่งเสริม EV, โครงการ 1 จังหวัด 1 โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
ด้านอนุรักษ์พลังงาน เช่น เพิ่มมาตรการจูงใจให้มีการลงทุนจากภาคเอกชน และภาครัฐในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เช่น ระบบเอสโค (ESCO บริษัทจัดการพลังงาน), เพิ่มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการอนุรักษ์พลังงาน เช่น อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IOT) และแอปพลิเคชัน, ส่งเสริมภาคเอกชนจัดตั้งศูนย์การปรับเปลี่ยนยานยนต์ และเครื่องจักรกลเก่าเป็นระบบพลังงานไฟฟ้า (EV Conversion Center) ทุกอำเภอโดยการสนับสนุนของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC:Agritech and Innovation Center) 77 จังหวัด, เร่งเพิ่มอาคารประหยัดพลังงาน (BEC) และเร่งขับเคลื่อนโครงการบ้านประหยัดพลังงาน, ส่งเสริมวัสดุก่อสร้าง และชิ้นส่วนยานยนต์ลดความร้อน และผลิตได้ในประเทศ เช่น กันชงไฟเบอร์ (Hemp Fiber)อิฐ (Hemp Brick) ผนังกันชง (Hemp Panel Board), เพิ่มมาตรการส่งเสริมเครื่องไฟฟ้า และนวัตกรรมประหยัดพลังงาน เช่น มาตรการ เบอร์ 5 พลัส ฯลฯ
“เป็นการยกระดับนโยบาย และมาตรการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานแบบปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และระบบครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติด้วยเทคโนโลยีแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตอบโจทย์ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และพลังงานของปัจจุบัน และอนาคตเพื่อประเทศ และคนไทยทุกคน” นายอลงกรณ์ กล่าว
สำหรับ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.กระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ราคาพลังงานเป็นต้นทุนในการประกอบวิชาชีพในทุกภาคส่วน รวมไปถึงเรื่องของภาระค่าครองชีพของประชาชนด้วย ดังนั้นการรื้อระบบ วิธีคิด ราคา ต้นทุนต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ถ้ามีการยกเลิกค่า FT และปรับโครงสร้างพลังงานตามที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอไป ก็จะได้ราคาพลังงานที่ถูกลง
นอกจากนี้อยากจะให้มีการปรับโครงสร้างของการทำงานในภาคพลังงาน เช่น เรื่องของการที่เรามีสูตรน้ำมันเยอะไปหมด ทั้งเบนซินและดีเซล ให้เหลือ 1-2 สูตรก็พอจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งผู้ผลิต และผู้ขาย ทำให้เรามีต้นทุนที่ต่ำลง รวมไปถึงเรื่องของการคิดราคาจากโรงกลั่น ซึ่งต้องยอมรับว่าโรงกลั่นปัจจุบันที่มีอยู่ 5-6 โรง สร้างมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี แล้ว มีการเสื่อมราคาไปหมดแล้ว ดังนั้นการคิดค่าโรงกลั่นมีการบวกค่าเสื่อมราคาไปเกินสมควรหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการเจรจากับผู้ประกอบการ
รวมไปถึงเรื่องของ รถ EV ประชาชนอยากซื้อแต่ไม่มีไฟฟ้าชาร์จ รัฐบาลต้องสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต้องมีการสนับสนุนให้ประชาชนมีการเดินสายไฟฟ้าเพื่อชาร์จรถ EV โดยการลดหย่อนภาษี หรือให้การไฟฟ้าต้องมีการจัดตั้ง รวมไปถึงรถมอเตอร์ไซค์ และรถขนส่งสาธารณะต่างๆ เราต้องมีมาตรการปรับเปลี่ยนจากการใช้พลังงานน้ำมันมาใช้พลังงานไฟฟ้าให้มากที่สุดเพื่อลดปัญหามลพิษ และมีมาตรการปลูกป่าอย่างจริงจัง ทั้งในเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่ของรัฐและของชุมชน เพื่อดูดซับมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราสามารถนำเอาป่าไม้ที่เกิดขึ้น ที่มีอยู่ 30% ขยายเป็น 50% ของพื้นที่ ซึ่งประเทศสวีเดนทำสำเร็จมาแล้ว สามารถขาย Carbon Credit ซึ่งตลาด Carbon Credit ต้องมีการจัดตั้งอย่างจริงจัง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์