นายกฯเชื่อเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ มี.ค.66 กว่า 9 พันราย
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ เชื่อมั่นเศรษฐกิจภาพรวมไทยดีขึ้น ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือนมีนาคม 2566 กว่า 9 พันราย สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมียอดจดประมาณถึง 72,000 – 77,000 ราย
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวม และสถานการณ์การท่องเที่ยว ฟื้นตัวดีขึ้นช่วยให้มีการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในเดือนมีนาคม 2566 ถึงกว่า 9 พันราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (มีนาคม 2565) ถึงร้อยละ 28 ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศมีศักยภาพ สถานการณ์การเงินการคลังของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ต่างประเทศยอมรับในเศรษฐกิจของประเทศ และมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพการเงิน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมีนาคม 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 9,179 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เกือบร้อยละ 8 ในขณะที่หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2565) เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 28 โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 752 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 699 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 440 ราย ตามลําดับ ซึ่งเป็นตัวเลขทุนจดทะเบียนรวม 299,608.53 ล้านบาท ทำให้จำนวนรวมในไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม) ของปี 2566 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 26,182 ราย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า จากสถิติเดือนมีนาคม 2557 – ปี 2566 ทำให้ยอดการจัดตั้งธุรกิจในเดือนมีนาคม 2566 เป็นยอดสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกับเดือนมกราคม 2566 และกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากสถิติการจดทะเบียนรายเดือนและรายไตรมาสที่เพิ่มขึ้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้คาดการณ์ว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 42,000 ราย และตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 72,000 – 77,000 ราย
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจไทยจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคบริการที่มีสัญญาณจากการจัดตั้งบริษัทใหม่จำนวนมาก ซึ่งเงินหมุนเวียนที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับที่ตัวเพิ่มขึ้น จะเป็นอีกแรงบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในทุกระดับและจะส่งผลถึงในการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวม” นายอนุชา กล่าว