กว่าล้านคนลงชื่อถอด 7 กกต.พ้นเก้าอี้ ปมผิดพลาดเลือกตั้งล่วงหน้า
โลกออนไลน์ขยับ กกต.โดนล่าชื่อถอดถอนพ้นเก้าอี้ ผ่านแคมเปญ Change.org เกิน 1 ล้านคนแล้ว ติดแฮชแท็ก “กกต.ต้องติดคุก-กกต.มีไว้ทำไม” เหตุจัดเลือกตั้งล่วงหน้า 66 ผิดพลาดหลายจุด ด้าน iLaw ชวน ปชช.อาสาจับตารายงานผลเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานภายหลังเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2566 ที่เกิดข้อผิดพลาดในหลายประเด็น เช่น การเขียนเขตเลือกตั้งที่หน้าซองผิด หรือการไม่เขียนรหัสเขตที่หน้าซองบัตร เป็นต้น
ในโลกออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ มีผู้ใช้จำนวนไม่น้อย แสดงความไม่พอใจการทำงานของ กกต. โดยแสดงออกผ่านการติดแฮชแท็ก #กกตต้องติดคุก และ #กกตมีไว้ทำไม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ของไทย ส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ภาพการทำงานที่ผิดพลาดของคณะกรรมการประจำหน่วย (กปน.) ในระหว่างการลงคะแนน พร้อมเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน
นอกจากนี้บางส่วนยังมีการขุดถึงที่มาของ กกต.ทั้ง 7 รายชุดปัจจุบัน ว่า ผ่านการเห็นชอบโดย คสช. และเรียกร้องให้ กกต.รับผิดชอบด้วยการลาออก เนื่องจาก 4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการถอดบทเรียนการเลือกตั้งปี 62 มาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการเลือกตั้งครั้งนี้ อีกทั้งยังแปลตัวย่อคำว่า กกต.ว่า “โกงการเลือกตั้ง”
ขณะเดียวกันมีกระแสเรียกร้องให้ร่วมลงชื่อถอดถอน กกต.ออกจากตำแหน่ง ด้วยการแชร์ลิงก์ของเว็บไซต์ Change.org ซึ่งเป็นแคมเปญเคยลงชื่อถอดถอน กกต.จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากในขณะนั้น คือ วันที่ 11 เม.ย. 2563 มีผู้ลงชื่อ 849,079 รายชื่อ ไม่ถึงเป้า 1,500,000 รายชื่อ ทำให้หยุดชะงักไป
แต่ภายหลังการเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 แคมเปญดังกล่าวกลับมาเคลื่อนไหวมียอดผู้ลงชื่อขยับขึ้นเรื่อย ๆ โดยเมื่อเวลา 11.36 น. วันที่ 8 พ.ค. 2566 มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนการถอดถอน กกต. เพิ่มขึ้นมาเป็น 1,062,107 รายชื่อ
ขณะที่ iLaw (ไอลอว์) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกับ กกต.ในการเฝ้าจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า จากบทเรียนความวุ่นวายในการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มาจนถึงการเปลี่ยนแปลงระบบใหม่ และความผิดพลาดในการจัด #เลือกตั้งล่วงหน้า ในปี 2566 ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากต้องจัดตั้งระบบอาสาสมัครเพื่อจับตาการเลือกตั้ง การนับคะแนนและการรายงานผลคะแนน คู่ขนานไปกับการทำงานของ กกต. เพื่อปกป้องทุกคะแนนเสียงให้ถูกนับอย่างถูกต้อง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นอาสาจับตาการเลือกตั้ง สามารถเลือกสมัครเป็นอาสาสมัครเพื่อจับตาการเลือกตั้งในปี 2566 ได้สามระดับ แต่ละคนสามารถเลือกทำได้ทุกระดับ โดยสามารถสมัครเพื่อทำไปพร้อมๆ กันทุกระดับก็ได้ หรือจะเลือกทำตามที่ถนัดก็ได้ ดังนี้
1. อาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งแบบ "เต็มวัน"
กิจกรรมนี้ริเริ่มโดยองค์กรสังเกตการณ์ภาคประชาชนหรือ We Watch โดยต้องการรับสมัครอาสาสมัครเพื่อสังเกตการณ์การจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แบบ "เต็มวัน" ตั้งแต่เริ่มก่อนเปิดหน่วยตอนเช้า ระหว่างการลงคะแนนของประชาชน จนกระทั่งปิดหน่วยและนับคะแนน
ระหว่างการเปิดหน่วยก็ต้องสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ กปน. เปิดหน่วยตรงเวลาหรือไม่ ติดเอกสารแจ้งข้อมูลแก่ประชาชนครบหรือไม่ จัดสถานที่ให้การลงคะแนนเป็นความลับหรือไม่ ฯลฯ ระหว่างการลงคะแนนของประชาชนก็ต้องสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ กปน. ตรวจสอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งถูกต้องหรือไม่ มีบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ กปน. หรือไม่ มีความผิดปกติหรือความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ และเมื่อปิดการลงคะแนนแล้ว ก็ต้องสังเกตว่า กระบวนการนับคะแนนถูกต้องหรือไม่ หีบเลือกตั้งที่เปิดมานับคะแนนถูกแทรกแซงหรือไม่ การนับคะแนนเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ และถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนนสุดท้ายไว้เพื่อยืนยันความถูกต้อง
สำหรับผู้ที่สนใจและพร้อมปฏิบัติงานเต็มวัน สมัครเป็นอาสาสมัครได้ทาง electionwatchth.org ระบบนี้ต้องสมัครล่วงหน้าด่วนๆ เพราะต้องอบรมเตรียมความพร้อมกันก่อนลงสนาม
2. อาสารายงานคะแนนต่อคะแนนแบบ 'Quick Count'
กิจกรรมนี้ริเริ่มโดยสมาคมวิชาชีพด้านสื่อมวลชนหลายแห่ง ใช้ชื่อว่า The Watcher ซึ่งเล็งเห็นปัญหาว่า คะแนนที่ กกต. ส่งให้สื่อมวลชนอาจมีความล่าช้าหรือไม่ถูกต้อง และกว่าที่ กกต. จะเริ่มส่งคะแนนให้ก็เป็นเวลา 18.30 น. เป็นต้นไป จึงต้องการคะแนนแบบเรียลไทม์ที่เชื่อถือได้ มารายงานผ่านสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ เพื่อส่งผลไปสู่สายตาประชาชนโดยเร็วที่สุดหลังปิดหีบเลือกตั้ง
กิจกรรมนี้ต้องการรับอาสาสมัครไปเฝ้าดูการนับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งตั้งแต่เริ่มนับคะแนน และต้องการให้อาสาสมัครรายงานคะแนนแบบ Quick Count หรือรายงานสดคะแนนต่อคะแนน เมื่อ กปน. ขานหมายเลขที่ได้รับคะแนนแต่ละหมายเลข ก็รายงานเข้าระบบแอปพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะทันที คะแนนที่รายงานก็จะถูกนำไปเผยแพร่บนสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทางบ้านทราบผลกันแบบสดๆ ลุ้นไปพร้อมการขานคะแนนแต่ละหน่วย และเมื่อแต่ละหน่วยนับคะแนนเสร็จ อาสาสมัครก็มีหน้าที่ถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนนสรุปผลสุดท้าย แล้วส่งเข้ามายังระบบส่วนกลาง
สำหรับอาสาสมัครที่ช่วยนับคะแนนแบบ Quick Count จะได้รับของที่ระลึกจากแอปพลิเคชั่น D-Vote เป็น NFT หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Digital Coupon สำหรับใช้จ่ายซื้อสินค้าได้มูลค่า 300-500 บาท ซึ่งคนที่สมัครเป็นอาสาระบบนี้จะต้องลงทะเบียนล่วงหน้าเข้าระบบ เพื่อทำการยืนยันตัวตน และเรียนรู้วิธีการใช้งานแอปพลิเคชั่นสำหรับการรายงานคะแนนแบบ Quick Count โดยสามารถสมัครได้ทาง เว็บไซต์ที่จัดทำโดยสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชน https://reporter.election.in.th/register...
3. อาสาจับตาคะแนน
กิจกรรมนี้เรียกว่า Vote62 ริเริ่มโดย Opendream, Rocket Media Lab และ iLaw โดยเริ่มชวนอาสาสมัครจับตาการนับคะแนนมาตั้งแต่ปี 2562 และทำต่อเนื่องมาในการเลือกตั้งท้องถิ่น การเลือกตั้งซ่อม จนถึงการเลือกตั้งในปี 2566 ซึ่งเชิญชวนให้ทุกคนออกจากบ้านไปดูการนับคะแนนของ กปน. ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ตรวจสอบว่าการขานคะแนน การขีดคะแนน และการรวมผลคะแนนถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าถูกต้องแล้วก็ถ่ายภาพกระดานขีดคะแนนทุกแผ่น ส่งเข้ามายังเว็บไซต์ Vote62.com และกรอกคะแนนจากภาพที่เห็นให้เป็นตัวเลขดิจิทัลเพื่อนำไปรวมผลคะแนน
ในระบบของ Vote62 จะมีระบบการประมวลผลตัวอักษรจากภาพถ่าย หรือ OCR ที่จะช่วยอ่านผลคะแนนจากภาพที่อาสาสมัครส่งมา เปรียบเทียบกับตัวเลขที่กรอกเข้ามาในระบบเพื่อป้องกันความผิดพลาดอีกชั้นหนึ่ง หากตรวจสอบแล้วว่าถูกต้อง ก็จะนำผลลัพธ์ดังกล่าวรายงานต่อสาธารณะ และเก็บรูปภาพทั้งหมดไว้บนเว็บไซต์ เพื่อการตรวจสอบกับผลคะแนนที่ กกต. ประกาศออกมาว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่
สำหรับผู้ที่พร้อมไปจับตาการนับคะแนนหลังปิดหีบ จะสมัครล่วงหน้าก็ได้ทาง vote62.com หรือถ้าไม่สมัครก็สามารถไปปฏิบัติงานได้เองเลย สะดวกที่ไหน ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่นได้เลย