สัญญาณเลือกตั้ง “โมฆะ” กลยุทธ์พลิกเกม “อยู่ยาว”

สัญญาณเลือกตั้ง “โมฆะ”  กลยุทธ์พลิกเกม “อยู่ยาว”

"กกต." จัดเลือกตั้งล่วงหน้า ที่ทำให้ "สังคม" แคลงใจ ว่า การใช้สิทธิจะเป็นไปตามเจตจำนงของผู้ออกเสียงหรือไม่ ปม"ความผิดพลาด" มีกลิ่นโชย ที่อาจเปิดปม "เลือกตั้งโมฆะ" เพื่อพลิกเกมชิงอำนาจการเมือง

การเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 66  คณะกรรมการการเลือกตั้ง สรุปผลไว้ว่า มีคนมาใช้สิทธิจริง 2,089,362 คน จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 2,285,552 ล้านคน คิดเป็นยอดผู้มาใช้สิทธิ์ ทะลุ 91%

ทว่า ผลงาน “จัดการเลือกตั้ง” พบว่า “กกต.” ถูกตั้งข้อสงสัยจากสังคม ถึงการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ หลังจากพบความผิดพลาดในขั้นตอนจัดการเลือกตั้งไม่น้อย

ตามที่ ไอลอว์ หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายมหาชน รวมทั้ง We Watch ส่งอาสาสมัครลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 

 

สรุปปัญหาที่พบทันที อาทิ การกรอกเขต หรือรหัสเขตเลือกตั้งบนซองบัตรเลือกตั้ง ไม่ตรงกับ เขตของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขต เผยแพร่ข้อมูลของผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองไม่ครบถ้วน ถูกต้อง และสับสน เป็นต้น

 

โดยความผิดพลาดที่เกิดขึ้น กกต.ยอมรับการทำงานที่บกพร่อง ทั้งการจ่าหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้งผิดพลาด ซึ่ง​ “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. แจ้งว่าให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งแก้ไข พร้อมยืนยันว่าบัตรเลือกตั้งที่ประชาชนแสดงเจตจำนงไว้ “ไม่ตกน้ำ” หรือหายไปไหน

สัญญาณเลือกตั้ง “โมฆะ”  กลยุทธ์พลิกเกม “อยู่ยาว”

ทว่า “ไอลอว์” ได้ขยายความต่อ ในการทำงานของ กกต.ที่มีปัญหา เสี่ยงส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง 2566 กรณี "บัตรเขย่ง” เพราะกรณีที่กรอกรหัสเขตเลือกตั้งผิด บัตรส่วนนั้นจะถูกส่งไปยัง “หน่วยเลือกตั้งอื่น” แทนที่จะเป็น “หน่วยเลือกตั้งที่มีสิทธิตามทะเบียนบ้าน” และทำให้คะแนนจำนวนหนึ่ง ถูกนับไม่ตรงกับเจตจำนงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

และที่สรุป เป็นสิ่งเลวร้ายขั้นสุดคือ “ผลเลือกตั้งไม่สะท้อนเสียงประชาชน” หากพบว่า “บัตรเลือกตั้ง” ถูกส่งผิดที่จำนวนมาก

 

แน่นอนว่า ความผิดพลาดของผู้จัดเลือกตั้ง ทำให้สังคมตั้งคำถามในเชิง “ความเชื่อมั่น” ที่เป็นจุดวัดว่า การเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้จะตอบโจทย์ความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการความโปร่งใส-เป็นธรรม-ยุติธรรม และสะท้อนการลงคะแนนตรงกับความต้องการของตนเอง หรือไม่

 

เพราะประเด็น “บัตรเขย่ง” หรือการเลือกตั้งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้เลือกตั้ง เคยเป็นปมปัญหาใหญ่ในการเลือกตั้ง ครั้งที่ผ่านมา และหากเกิดขึ้นซ้ำอีก อย่างที่ถูกตั้งประเด็นจับตา สังคมอาจต้องทวงถามถึงความรับผิดชอบของ “กกต.” อย่างจริงจัง

 

ล่าสุด ปมความผิดพลาดการเลือกตั้งล่วงหน้า มีคนตั้งคำถามด้วยว่า “จะทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป ปี 2566” นำไปสู่การฟ้องร้องให้การเลือกตั้งเป็น “โมฆะ” ได้หรือไม่

 

ต่อประเด็นนี้ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. ให้คำตอบไว้ว่า “ยังไม่ถึงขนาดนั้น”

สัญญาณเลือกตั้ง “โมฆะ”  กลยุทธ์พลิกเกม “อยู่ยาว”

“เมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ที่ถูกสั่งให้เป็นโมฆะ 2 ครั้งที่่ผ่านมา ทั้งปี 2549 กรณีหันคูหาออกนอกหน่วย ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นการลับ และปี 2557 ที่การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ การทำงานที่ผิดพลาดของ กกต. ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้การเลือกตั้งในภาพรวมเป็นโมฆะได้ แต่อาจเป็นกรณีที่นำไปสู่การยื่นถอดถอน กกต.ได้” สมชัย ระบุ

ทว่า ความผิดพลาดที่ กกต.ยอมรับว่า มีเพียงแค่ส่วนน้อย “สมชัย” มองว่า หากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แม้มีเพียง 1% จากผู้มาใช้สิทธิ์ 2 ล้านคน อาจเป็นบทสะท้อนที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ กกต.​ มีปัญหา และเมื่อรวมกับการทำงานที่ทำให้สังคมคลางแคลงใจที่ผ่านมา อาจเกิดเป็นประเด็นที่คนไม่เชื่อมือ

 

ขณะที่ประเด็นการออกเสียงที่ไม่สะท้อนเจตจำนงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง “สมชัย” มองสอดคล้องกับไอลอว์ว่า อาจเกิดปรากฎการณ์ “บัตรเขย่ง” เพราะ “จ่าหน้าซองผิด” ดังนั้น

1.จ่าหน้าซองเขตที่ไปใช้สิทธิ ไม่ใช่เขตที่มีสิทธิ อย่างกรณีที่เกิดกับ จ.นนทบุรี 100 ซอง แม้บัตรเลือกตั้งพรรคการเมืองจะนำไปนับเป็นคะแนนได้ แต่บัตรเลือกผู้สมัครเขตอาจมีปัญหา และถูกวินิจฉัยว่าเป็น “บัตรเสีย”ได้

2. เขียนรหัสเขตผิด ทำให้การจัดส่งไปยังเขตเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิด และแม้บัตรจะถูกนำมานับคะแนน เพราะถูกออกแบบมาให้เป็นบัตรโหล แต่คะแนนที่ได้นั้น อาจผิดเจตนาของคนเลือกตั้งได้

3.จ่าหน้าซองข้อมูลผิดบางส่วน เช่น เขตเลือกตั้ง หรือ รหัสเขตเลือกตั้ง ที่สำคัญคือ รหัสเขตเลือกตั้ง ที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ยึดถือเป็น “จุดเริ่มต้น” ของการคัดแยก เพื่อนำส่งไปยังพื้นที่ หากเขียนผิด ไปรษณีย์จะส่งไปที่ไหน อาจต้องถูกตีกลับ ประทับตราว่าเป็นบัตรเสีย

 

อย่างไรก็ดีในมุมของ “สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองต่างออกไป เพราะหากผู้มีอำนาจต้องการใช้เกมเลือกตั้งโมฆะ เป็นเหตุให้ “อยู่ต่อ” กลเกมเลือกตั้งที่ไม่ตรงกับเจตจำนงผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ถือเป็น “เหตุ” ที่นำไปสู่การร้องให้เลือกตั้งครั้งนี้โมฆะ หรือทวงถามให้กกต.ลาออกยกชุด เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

สัญญาณเลือกตั้ง “โมฆะ”  กลยุทธ์พลิกเกม “อยู่ยาว”

ทว่า กลเกมชิงอำนาจ “สติธร” มองว่าอาจมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาประกอบกัน เช่น ผลการเลือกตั้งที่ 2 ขั้ว ก้ำกึ่งกันหรือ ชนะขาดแบบแลนด์สไลด์

“หากผลเลือกตั้งออกมาเป็นซูเปอร์แลน์สไลด์ ที่ฝ่ายค้านอาจรวมเสียงกันได้ 300 เสียงขึ้นไป เกมเลือกตั้งโมฆะอาจไม่ถูกนำมาใช้ แต่หากเสียงก้ำกึ่ง สมมติ ฝ่ายค้านได้ 270 เสียง ฝั่งผู้มีอำนาจอาจถูกหยิบมาใช้หลังเลือกตั้ง แต่ประเด็นนี้ที่ถูกพูดถึงในช่วงใกล้เลือกตั้ง อาจเป็นไปได้ว่า เพื่อสยบกระแสแลนด์สไลด์ที่ติดลมบน” สติธร ระบุ

 

เลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป 2566 แม้จะรู้ชัดถึงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม และ ไทม์ไลน์ของ กกต.ต้องทำงานเพื่อรับรองและประกาศผลเลือกตั้งภายใน 60 วัน ทว่าสิ่งที่อยู่นอกเหนือ “ปฏิทินเลือกตั้ง” คือ “เกมที่มาเหนือเมฆ” ยากจะหยั่งรู้ว่าจะมาไม้ไหน

 

กับการสร้างประเด็น ที่ทำให้สังคมตั้งคำถาม และเป็นปัญหาคาใจ เป็นสิ่งที่ต้องจับตาว่า สุดท้ายปลายทาง จะเป็นจุดพลิกเกม ของ “ผู้แพ้” หรือไม่ เพื่อที่จะยื้อเวลาอยู่ต่อ และสร้างเกมเพื่อกุมอำนาจของฝั่งตัวเองให้ได้ “อยู่ยาว”.