3 เงื่อนไข ‘ชทพ.’จับขั้ว ‘รัฐบาลเสียงข้างน้อย’ไม่รอด
เกมชิงอำนาจ ใน ศึกเลือกตั้ง66 หลายพรรคประกาศการจับกลุ่ม-รวมขั้ว "ชทพ." ของ "วราวุธ" แม้ยังไม่ระบุชัดว่าจะเข้าสังกัด "ขั้วไหน" ทว่าตั้งเงื่อนไข รอการเจรจาไว้แล้ว
เกมเลือกตั้งดำเนินมาถึง 3 วันก่อนถึงวันชี้ชะตา ว่า นักการเมือง พรรคการเมือง พรรคไหน จะเป็นผู้ชนะใจประชาชนและคว้าเก้าอี้ ได้เข้าสภาผู้แทนราษฎร
แม้ผลสำรวจความเห็นจะชี้ว่า บางพรรค ไม่มีที่ยืนในเวทีการเมืองหลังเลือกตั้ง ทว่า “ชาติไทยพัฒนา” ที่มี “วราวุธ ศิลปอาชา” เป็นหัวหน้าพรรค และรั้งตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียวของพรรค ยังมั่นใจในผลงาน และประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ว่าจะได้รับเลือกตั้ง กวาดส.ส.ตามเป้า คือ ไม่น้อยกว่า 25 คน ไปเป็นสมาชิกแห่งสภาฯ ชุดที่ 26 ได้แน่นอน
และก่อนการลงพื้นที่ เพื่อตอกย้ำความศรัทธาของประชาชนในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ที่ “ชาติไทยพัฒนา” ยึดเป็นเรือนตาย วันที่ 12 พฤษภาคม “วราวุธ” ให้สัมภาษณ์ โดยมั่นใจว่า “หลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ส.ส.ของพรรค จะได้ตามเป้าหมาย”
“แม้มีผลโพลของหลายสำนักออกมา แต่หากแยกเป็นแต่ละสถาบัน หรือ หน่วยงาน นับ10โพล ไม่เหมือนกันสักโพล และตามประวัติศาสตร์เอ็กซิทโพลเคยถูกหักมาแล้ว ดังนั้นผลโพลที่ออกมาคือเครื่องกระตุ้นเตือนใจให้ผู้สมัครของพรรคทำงานแบบไม่ประมาท และสิ่งที่ต้องเร่งทำตอนนี้นอกจากขอคะแนน หาเสียงแล้ว คือ การทำความเข้าใจกับประชาชนในการกาคะแนนลงบัตรต่างสี เพราะหากประชาชนสับสน กาเบอร์ผิดสี เราอาจไม่ได้คะแนนทั้งคนและพรรค” วราวุธ กล่าว
สำหรับประเด็นกระแสของ “พรรคก้าวไกล” ที่มาแรง แซงคะแนน “บ้านใหญ่” ซึ่ง จ.สุพรรณบุรีเอง มีเขตอย่างน้อย 1 เขต ที่ถูกเบียดแย่งคะแนนและส่อว่าจะเสียแชมป์ โดย “วราวุธ” ยอมรับในประเด็นนี้ เพราะในบริบทของสังคม คนสุพรรณบุรีต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่พรรคยังเชื่อมั่นว่าจะครองใจประชาชนได้ เพราะการทำงาน ความตั้งใจและประสบการณ์
ทว่าในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ยังมีประเด็นที่ “หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา” กังวล คือ การทำงานของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ที่ถูกสังคมตั้งเป็นข้อสังเกตในเรื่องความโปร่งใส หลังจากพบความผิดพลาดในการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม ทั้งการกรอกรหัสเขตผิดเขตที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามทะเบียนบ้าน, เกิดกรณีบัตรเกินจำนวนผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิ์ หรือ บัตรเขย่ง แต่ยังเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งจริงในวันที่ 14 พฤษภาคม กกต. และ เจ้าหน้าที่ จะแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกัน “กกต.” ต้องระวังในการทำงาน หากพบผิดพลาดต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้ประชาชนสบายใจในความโปร่งใสของการทำงาน
ขณะที่ประเด็นการซื้อเสียง “วราวุธ” เชื่อว่าการเเลือกตั้งรอบนี้จะมีเหมือนการเลือกตั้งทุกครั้ง ดังนั้น กกต. และตำรวจต้องดำเนินการ แต่การซื้อเสียงนั้น ขอตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความผิดหรือการกลั่นแกล้งจากฝ่ายตรงข้าม เพราะการเลือกตั้งที่เป็นเกมต่อสู้ทางเมือง ดังนั้นการกระทำที่ท้าทายความเข้มงวดของกฎหมาย ฝ่ายรัฐต้องทำงานให้เต็มที่ ขณะที่ภาคเอกชน หรือองค์กรอิสระ และประชาชนต้องจับตาดูอย่างใกล้ชด ซึ่งการเลือกตั้งรอบนี้ มั่นใจว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์จำนวนมาก
กับอีกประเด็นที่ถูกโฟกัสคือ สูตรจับขั้วรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ที่ถูกประเมินว่า “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่ง “วราวุธ” ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกมยาวของการเมือง ที่มักเกิดขึ้นในเวทีของสภาฯ อาจทำให้ “รัฐบาล” อยู่ได้ไม่ยาว เพราะอาจจะแพ้โหวตในกฎหมายสำคัญ เช่นกฎหมายงบประมาณ แม้การตั้งรัฐบาล ที่มีจุดเริ่มต้น จากการเลือก “นายกฯ” ในที่ประชุมรัฐสภาจะใช้เสียงส.ว. ร่วมลงมติ แต่การทำงานจริงในสภาฯ ส.ว.ไม่มีสิทธิร่วมลงมติ
“หากไปไม่รอด รัฐบาลต้องยุบสภา คงไม่มีพรรคไหนที่อยากให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น 2 ครั้งในปีเดียวกัน เหมือนกับปี 2535 เพราะเหนื่อย และสิ้นเปลืองงบประมาณ อีกทั้งชะลอการพัฒนาประเทศ การอนุมัติงบประมาณ ดังนั้นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่เป็นประโยชน์ในการทำงานให้กับประเทศ” วราวุธ ย้ำ
ทว่าหากถามถึงการตัดสินใจ จะไป ซ้าย-ขวา ต่อการร่วมรัฐบาล หาก “พรรคใหญ่ 2 พรรคที่ต่างขั้ว” แย่งกันจัดตั้งรัฐบาล “วราวุธ” ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน และ ขอดูรายละเอียดอีกครั้งหลังวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม พร้อมย้ำว่าพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้จ้องเป็นรัฐบาลอย่างเดียว
ขณะที่เงื่อนไขของการร่วมรัฐบาล นั้น “หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา” ย้ำว่า ต้องเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ผ่าน ส.ส.ร. นอกจากนั้น คือ การนำนโยบายของพรรคไปปฏิบัติ ที่เน้นความยั่งยืน และเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์
พร้อมประกาศชัดว่า "ถ้าประเด็นเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนอง พรรคชาติไทยพัฒนาไม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมรัฐบาล”