วุฒิสภา-ก้าวไกล การเมืองเรื่องต่อรอง
แม้ว่าโดยปกติแล้วพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้งของประชาชน จะมีสิทธิรวบรวมเสียงสนุบสนุนจากพรรคการเมืองอื่นมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังจำเป็นต้องใช้เสียงของ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งหลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นอุปสรรคในการตัดตั้งรัฐบาล
ตามธรรมเนียมปฏิบัติพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง สมควรเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และมีสิทธิในการรวบรวมเสียงสนับสนุนเป็นพรรคแรก เพราะถือเป็นพรรคซึ่งได้รับฉันทานุมัติของประชาชนในการเป็นรัฐบาล และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน และมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ซึ่งทำให้รัฐสภาไทยมีสมาชิกจำนวน 750 คน การเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพื่อลงคะแนนแบบเปิดเผย ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาเป็นรายบุคคลว่าให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา โดยผู้ที่ได้รับความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 376 เสียง จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อไปจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 จะต้องเร่งจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อลดความกังวลของตลาด “หุ้นไทย” ที่กังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลและภาวะถดถอยของเศรษฐกิจของสหรัฐ จากช่วงบ่าย (17 พ.ค.2566 เวลา 14.48 น.) หุ้นร่วงกว่า 19.5 จุด หรือ 1.27 % มาเคลื่อนไหวที่ระดับ 1,520 จุด ให้ทะยานขึ้นไปในทิศทางที่ดีขึ้นให้เร็วที่สุด ถ้าผลการหารือร่วมระหว่าง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์“ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับอีก 5 พรรคการเมือง ”เพื่อไทย” ,“ไทยสร้างไทย”, “เสรีรวมไทย” , “ประชาชาติ”, และ “เป็นธรรม” ที่ ร้านอาหาร Chez Miline ย่าน “ถนนสุโขทัย” มีความชัดเจนร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ก็จะสามารถยุติ “สุญญากาศ” ทางการเมืองลงได้
ทว่ากุญแจสำคัญที่ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ชื่อว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ได้ก็ต่อเมื่อต้อง “ได้รับการเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีทั้งหมด 250 คน จะโหวตตามเสียงของประชาชนหรือไม่ เนื่องจาก ส.ว.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ล้วนมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากรวมไทยสร้างชาติ และพล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพลังประชารัฐ รวมแล้วเกิน 200 คน ที่เหลือเป็นกลุ่มอิสระส่วนใหญ่จะเป็นอดีตข้าราชการ นักวิชาการ ภาคธุรกิจบางส่วนประมาณ 20 คน
ซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามจาก เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน จาก 10 สถาบันร่วมกับเครือข่ายสื่อ 10 สำนัก เปิดโหวตเสียงประชาชน โดยตั้งคำถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ ที่ส.ว.ควรเคารพเสียงประชาชนและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี (โหวตนายก) ตามเสียงข้างมากของส.ส.ตั้งแต่เวลา 12.00 น. วันที่ 15 พ.ค. และจะเปิดโหวตถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 พ.ค.ว่าจะสามารถสร้างปรากฏการณ์ ส.ว. ยอมรับมติของประชาชนในการเลือกตั้งได้หรือไม่
หากพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นพรรคแรก ก็จะเป็นโอกาสของพรรคการเมืองอันดับ 2 จัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน เพราะดูแนวโน้มส.ว.ส่วนใหญ่จะยึดหลักการ “ใครรวมเสียงส.ส.ได้ข้างมากก็โหวตให้คนนั้น” แม้ “ก้าวไกล” จะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลในฐานะผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่หากไม่สามารถรวบรวมเสียงจาก ส.ส. + ส.ว.ได้เกิน 376 เสียง พรรคอันดับ เบอร์ 2 อย่างเพื่อไทยก็มีโอกาสเช่นกัน นาทีนี้ต้องจับตา ท่าทีของ “วุฒิสภา กับพรรคก้าวไกล” คนรุ่นใหม่จะเดินทางร่วมกับ ส.ว.ได้อย่างไร