บิ๊กบราเธอร์ 'ป้อม' ส่อง 'ตัวแปร' คว่ำรัฐบาลก้าวไกล
ตั้งรัฐบาลก้าวไกล : สงครามชิงอำนาจแค่เริ่มต้น ขั้วอนุรักษนิยมปั่นกระแสข่าวแผนสำรองรัฐบาลสูตร 2 ประวิตร บิ๊กบราเธอร์บ้านป่ารอยต่อฯ ถูกยกขึ้นมาเป็นผู้พลิกเกม
สแกนพลังประชารัฐ พรรคบ้านใหญ่ที่เหลือรอดมาจากสึนามิสีส้ม เตรียมการส่งต่อจากพี่ใหญ่ ประวิตร สู่น้องรัก ป.ที่ 4 เพื่อความคล่องตัวในเกมอำนาจ
ช่วงที่รอคอย กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง สส. ซีกฝ่ายค้านเดิมก็เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลแห่งความฝันของด้อมส้ม ส่วนซีกฝ่ายรัฐบาลเก่า ก็รอส้มหล่น เมื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หักด่าน ส.ว.ไม่ผ่าน
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวสูตรรัฐบาลข้ามขั้วมาแรงมาก โดยพยายามโยงการเดินทางไปฮ่องกงของอนุทิน ชาญวีรกูล เพื่อพบกับคนแดนไกล ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ทักษิณ ชินวัตร ต้องมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีแผนเดินทางมาฮ่องกง
อีกกระแสหนึ่งว่า แผนลับสลับขั้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และตำแหน่ง ส.ส. พร้อมประกาศวางมือทางการเมือง
ลุงป้อมจะถอยไปอยู่หลังฉาก และดันน้องชาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน แถมบางกระแสข่าวว่ากันไปไกลถึงแผนยุบพรรคตัวเอง แล้วเคลื่อนพลพรรคไปอยู่พรรคเพื่อไทย
เมื่อรัฐบาลแห่งความฝันสะดุดที่ด่าน ส.ว. กระบวนการทำคลอดรัฐบาลใหม่ก็จะเริ่มขึ้น พรรคเพื่อไทย รวมกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิม ก็จะมีเสียง ส.ส.เกินกว่า 320 เสียง ไม่ต้องกังวลเรื่องเสียง ส.ว. เพราะบิ๊กบราเธอร์บ้านป่ารอยต่อฯ กดปุ่มได้อยู่แล้ว
ก่อนอื่น สแกนไส้ในพรรคพลังประชารัฐ ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งในเบื้องต้น พรรคลุงป้อม มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 39 ที่นั่ง และบัญชีรายชื่อ 2 ที่นั่ง รวม 41 ที่นั่ง
ตอนแรก กกต.แจ้งว่า พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน แต่ภายหลัง มีการคำนวณใหม่ พรรค พปชร.ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 1 คน รวม 2 คนคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และสันติ พร้อมพัฒน์
ก่อนวันเลือกตั้ง โพลทุกสำนักชี้ว่า พรรค พปชร.ไม่มีกระแส น่าจะได้ ส.ส.เขตไม่ถึง 30 ที่นั่ง แต่เลือกตั้งจริงกลับได้ 39 ที่นั่ง เพราะบ้านใหญ่ 3-4 ซุ้ม ยังฝ่าสึนามิสีส้มเข้าเส้นชัยได้
ซุ้มลุงป้อม
ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่ที่ยังอยู่พรรคเดิม และย้ายไปสังกัดพรรคอื่น สอบตกมากกว่าร้อยละ 90
ดังนั้น ส.ส.เขต 39 คน ที่สอบได้เที่ยวนี้ ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.หน้าใหม่ ที่ไม่ได้สังกัดซุ้มไหน และอยู่ในการดูแลของลุงป้อม และ ป.ที่ 4 ผู้มากบารมี อย่างเช่น คอซีย์ มามุ ว่าที่ ส.ส.ปัตตานี เขต 2, ฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ ว่าที่ ส.ส.พังงา เขต 2, ชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว ว่าที่ ส.ส.สงขลา เขต 4, สุธรรม จริตงาม ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 6 และ กระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ ว่าที่ ส.ส.หนองคาย เขต 1
ส่วนคนหน้าเก่า เอาตัวรอดได้เพราะความสามารถส่วนบุคคล ได้แก่ ทวี สุระบาล ว่าที่ ส.ส.ตรัง เขต 2, องอาจ วงษ์ประยูร ว่าที่ ส.ส.สระบุรี เขต 4 บ้านใหญ่ อ.พระพุทธบาท, อรรถกร ศิริลัทธยากร ว่าที่ ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 2 บ้านใหญ่ อ.พนมสารคาม , โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ว่าที่ ส.ส.สิงห์บุรี เขต 1 บ้านใหญ่แม่กิมลี้ และ สะถิระ เผือกประพันธุ์ ว่าที่ ส.ส.ชลบุรี เขต 10 บ้านใหญ่สัตหีบ
ซุ้มมะขามหวาน
สันติ พร้อมพัฒน์ ยังรักษาที่มั่นใหญ่เมืองเพชรบูรณ์ไว้ได้ แม้จะเจอกระแสพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ทั้ง 6 เขต
พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ว่าที่ ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 1, จักรัตน์ พั้วช่วย ว่าที่ ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 2, บุญชัย กิตติธาราทรัพย์ ว่าที่ ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 3, วรโชติ สุคนธ์ขจร ว่าที่ ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 4, วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ว่าที่ ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 5 และอัคร ทองใจสด ว่าที่ ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 6
นอกจากนี้ เสี่ยสันติ ได้ดูแล ส.ส.หน้าใหม่อีก 3 คนจากภาคอีสาน คือ วิริยะ ทองผา ว่าที่ ส.ส.มุกดาหาร เขต 1,ชัยมงคล ไชยรบ ว่าที่ ส.ส.สกลนคร เขต 5 และจำลอง ภูนวนทา ว่าที่ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 3
ซุ้มธรรมนัส-วิรัช
แม้ลูกพรรคเศรษฐกิจไทย จะสอบตกไปหลายคน แต่การเลือกเที่ยวนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยตัวผู้กองเองก็ชนะเลือกตั้งที่พะเยาแบบสบายๆ
เครือข่ายสายผู้กอง ประกอบด้วย อนุรัตน์ ตันบรรจง ว่าที่ ส.ส.พะเยา เขต 2,จีรเดช ศรีวิราช ว่าที่ ส.ส.พะเยา เขต 3, นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ว่าที่ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 9,ปกรณ์ จีนาคำ ว่าที่ ส.ส.แม่ฮ่องสอน เขต 1, ไผ่ ลิกค์ ว่าที่ ส.ส.กำแพงเพชร เขต 1 และภาคภูมิ บูลย์ประมุข ว่าที่ ส.ส.ตาก เขต 3
วิรัช รัตนเศรษฐ พันธมิตรที่ใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส อาจผิดหวังที่เครือญาติสอบตกหมดที่โคราช แต่ในพื้นที่อีสาน ก็ยังมี ส.ส.ผ่านเข้าสภาฯ มาได้ 2 คนคือ รัชนี พลซื่อ ว่าที่ ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 3 และกาญจนา จังหวะ ว่าที่ ส.ส.ชัยภูมิ เขต 4
ส่วนบ้านใหญ่สุไหงโก-ลก สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ว่าที่ ส.ส.นราธิวาส เขต 2 และน้องชาย อามินทร์ มะยูโซ๊ะ นราธิวาส เขต 2 ก็ถือได้ว่า เป็นเด็กสร้างของวิรัช และผู้กองธรรมนัส
ซุ้มวราเทพ
วราเทพ รัตนากร พาพลพรรคฝ่ากระแสส้มชากังราว เข้าสภาฯได้ยกทีม อย่าง เพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ว่าที่ ส.ส.กำแพงเพชร เขต 2, อนันต์ ผลอำนวย ว่าที่ ส.ส.กำแพงเพชร เขต 3 และปริญญา ฤกษ์หร่าย ว่าที่ ส.ส.กำแพงเพชร เขต 4
จะว่าไปแล้ว สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสมศักดิ์ เทพสุทิน ก็ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา ทีมเพื่อไทยกำแพงเพชร จึงทำได้แค่เกาะกระแสอุ๊งอิ๊งเท่านั้น ไม่มีอาวุธลับมาเสริมทัพ ทีมวราเทพ จึงสู้กับกระแสด้อมส้มอย่างเดียว
ซุ้มกำนันตุ้ย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มอบให้กำนันตุ้ย วิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี จัดทีม พปชร.เมืองโอ่ง วางเป้าหมายยึด 3 ที่นั่ง ก็ได้ตามเป้าหมาย 100%
บุญยิ่ง นิติกาญจนา ว่าที่ ส.ส.ราชบุรี เขต 2, จตุพร กมลพันธ์ทิพย์ ว่าที่ ส.ส.ราชบุรี เขต 3 และชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ว่าที่ ส.ส.ราชบุรี เขต 5
ทีมกำนันตุ้ย ได้กำลังสนับสนุนจากทีม ป.ที่ 4 จึงล้มทั้งตระกูลไกรคุปต์ ที่เขต 3 และตระกูลประเสริฐโสภา ที่เขต 5
ซุ้มเทียนทอง
สระแก้วกลับมาเป็นของตระกูลเทียนทองอีกครั้ง เพียงแต่แยกเป็นเทียนทอง สายลุงป้อม 2 คนคือ ขวัญเรือน เทียนทอง ว่าที่ ส.ส.สระแก้ว เขต 1 และตรีนุช เทียนทอง ว่าที่ ส.ส.สระแก้ว เขต 2
ส่วน สรวงศ์ เทียนทอง ลูกชายคนโตเสนาะ เทียนทอง ก็กลับมาทวงเก้าอี้ ส.ส.สระแก้ว เขต 3 คืนจากเด็กลุงป้อม
ซุ้มชัยภูมิ
ก่อนวันรับสมัคร ส.ส.ทั่วประเทศ อร่าม โล่ห์วีระ นายก อบจ.ชัยภูมิ พยายามจะขอจัดทีมผู้สมัคร ส.ส.ชัยภูมิ แต่เจอวิรัช ขวาง จึงทำได้แค่ส่งลูกชายลงในนามพรรค พปชร. และเอาหลานสาวไปลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคก้าวไกล
ผลปรากฏว่า อัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ชัยภูมิ เขต 7 ส่วนหลานสาวสอบตกที่เขต 1
ทั้งหมดเป็นขุมกำลังของลุงป้อม ที่เป็น ส.ส.บ้านใหญ่ ประเภทมีแสงในตัวเอง ไม่ต้องพึ่งกระแสพรรค และบางคนมีทรัพยากรส่วนตัวพร้อมรบเอง