กก.สรรหาลงมติ 3 ครั้ง การันตีคุณสมบัติ “สถาพร” ก่อน ส.ว.โหวตคว่ำ อดนั่ง ป.ป.ช.
เปิดเบื้องหลังในชั้นกรรมการสรรหาฯ ลงมติถึง 3 รอบ พร้อมการันตี “คุณสมบัติ” ก่อนชงชื่อ “สถาพร วิหาพรหม” รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แต่มติ ส.ว.ข้างมาก “โหวตคว่ำ” หลังโดนร้องเรียน “บัตรสนเท่ห์” อดนั่งเก้าอี้ ป.ป.ช.
ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) วันนี้ (23 พ.ค. 2566) มีประเด็นสำคัญคือการ “โหวตคว่ำ” บุคคลผู้ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รายของ นายสถาพร วิสาพรหม รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 41 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 138 เสียง งดออกเสียง 27 คน ส่งผลให้ชื่อ “สถาพร” ถูกตีตกอดนั่งเก้าอี้ดังกล่าวไป
ที่น่าสนใจ ก่อนหน้าจะมีการ “ประชุมลับ” เพื่อโหวตเรื่องดังกล่าว “ประพันธุ์ คูณมี” ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำเสนอรายงานของ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ โดยกล่าวอ้างว่ามี “บัตรสนเท่ห์” ลงชื่อผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 29 รุ่นเดียวกับ “สถาพร” ร้องเรียน “สถาพร” ว่า ไม่มีคุณสมบัติในการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลใดมาก่อน จึงส่อขัดกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 9 (1) ที่กำหนดให้ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่า 5 ปี
นายประพันธุ์ ระบุถึงในบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนดังกล่าว อ้างถึงหนังสือของศาลยุติธรรม ที่ ศย.003/113 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2565 ที่ว่า ตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ไม่ใช่ตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป ตามประกาศของ กต. ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
หากตีความว่า 2 ตำแหน่งเทียบเท่ากับอธิบดีผู้พิพากษาแล้ว สิทธิสมัครตามรัฐธรรมนูญ จะเข้าตามมาตรา 9 (1) แต่จะมีประเด็นที่ไม่มีมาตรฐานต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สิน นอกจากนี้ยังอ้างถึงความเห็นของ “พิสิษฐ์ ลี้อาธรรม” สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เสนอรายละเอียด และคุณสมบัติของ “สถาพร” ว่า ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เช่นกัน
สุดท้ายที่ประชุม ส.ว.จึงมีมติ “โหวตคว่ำ” นายสถาพร มิให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าว
ปัจจุบันกรรมการ ป.ป.ช. ยังเหลือปฏิบัติหน้าที่อยู่ 6 รายจากทั้งหมด 9 ราย ได้แก่
- พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.
- น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.
- นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช.
- น.ส.สุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช.
- นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช.
- นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา กรรมการ ป.ป.ช.
ทั้งนี้การสรรหา และการลงมติให้การเห็นชอบกรรมการ ป.ป.ช. กรณีแทนตำแหน่งที่ว่างลง เกิดขึ้นมาแล้วถึง 3 ครั้งและถูก “โหวตคว่ำ” ทุกครั้ง ได้แก่
1.เดือน ต.ค. 2564 คณะกรรมการสรรหาฯมีมติเลือก “จาตุรงค์ สรนุวัตร” ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ต่อมามีรายงานข่าวว่า “จาตุรงค์” ขอถอนตัว
2.เดือน ส.ค. 2565 คณะกรรมการสรรหาฯลงมติถึง 3 ครั้งเลือก “ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่ที่ประชุม ส.ว.มีมติข้างมาก ไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง โดยก่อนหน้านี้ในชั้นคณะกรรมการสรรหาฯ “ศ.อารยะ” ได้ตอบคำถามวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเดิมที่ตีตก “คดีนาฬิกาเพื่อน” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
อ่านข่าว: เบื้องหลัง “อารยะ” วิพากษ์คดี “ปรีชา-นาฬิกาเพื่อน” ก่อนสภาคว่ำนั่ง ป.ป.ช.
3.เดือน พ.ค. 2566 ที่ประชุม ส.ว. มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบให้ “สถาพร วิสาพรหม” รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. โดยคาดว่าอาจเป็นผลจาก “บัตรสนเท่ห์” ร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งดังกล่าว
อ่านข่าว:
"วุฒิสภา" ตีตก "สถาพร" นั่ง กก.ป.ป.ช.คาดคาใจปมขาดคุณสมบัติ
วัดใจ ส.ว. ลงมติ “สถาพร” นั่ง "ป.ป.ช." หลังถูกร้อง ขาดคุณสมบัติ
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ คงต้องรอให้ ส.ว.เป็นผู้ชี้แจงแก่สาธารณะต่อไป
ประเด็นที่น่าสนใจ “สถาพร วิสาพรหม” ถูกเสนอชื่อให้คณะกรรมการสรรหาฯดำเนินการลงมติ ประกอบด้วย
- “โชติวิวัฒน์ เหลืองประเสริฐ” ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ
- “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร
- “ชลน่าน ศรีแก้ว” ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ
- “ศ.พิเศษ วรพจน์ วิศรุตพิชญ์” ประธานศาลปกครองสูงสุด
- “พศุตม์ณิชา จำปาเทศ” บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง
- “ฉัตร์ชัย ยอดอุดม” บุคคลซึ่งกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง
- “ศักดา ชื่นภักดี” บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง
- “วิทูรัช ศรีนาม” บุคคลซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่งตั้ง
- “บุญสม อัครธรรมกุล” บุคคลซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแต่งตั้ง เป็นกรรมการ
โดยในชั้นคณะกรรมการสรรหาฯ ต้องมีการโหวตถึง 3 รอบด้วยกัน “สถาพร” จึงได้รับเสียงเกิน 2 ใน 3
รอบแรก
- “สมบัติ ธรธรรม” อดีตที่ปรึกษาของ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ได้ 3 คะแนน
- “สถาพร วิสาพรหม” ได้ 4 คะแนน
- “เอกวิทย์ วัชชวัลคุ” อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี ได้ 2 คะแนน
รอบสอง
- “สมบัติ” ได้ 3 คะแนน
- “สถาพร” ได้ 5 คะแนน
- “เอกวิทย์” ได้ 1 คะแนน
รอบสาม
- “สมบัติ” ได้ 2 คะแนน
- “สถาพร” ได้ 6 คะแนน
- “เอกวิทย์” ได้ 1 คะแนน
เท่ากับว่า “สถาพร” ได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการสรรหาฯทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงมีมติเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. (แทนนายณรงค์ รัฐอมฤต ที่พ้นจากตำแหน่ง)
โดยคณะกรรมการสรรหาฯ เห็นว่า มีคุณสมบัติรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ตามมาตรา 9 วรรคสอง (1) แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช. จึงเสนอเรื่องต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ
ในชั้นการแสดงความคิดเห็นและการสัมภาษณ์ “สถาพร” ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ เขาเสนอประเด็นสำคัญว่า การดำเนินการในฐานะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะต้องทำให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน ทำให้เกิดการยอมรับถึงจะเชื่อมั่นในการทำงานของคณะกรรมการ เช่นเดียวกับคณะกรรมการอื่น ๆ หรือองค์กรอื่น ๆ แยกเป็น 2 ส่วน
หนึ่ง การบริหารงานในองค์กร ในการดำเนินงานของคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ชัดเจน และการทำงานออกมาจะต้องเป็นที่ยอมรับในความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นความเห็นหรือคำวินิจฉัยต่าง ๆ ในฐานะกรรมการ
สอง ในส่วนผู้เป็นกรรมการจะต้องปฏิบัติงานให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ในส่วนตนเองนั้นการทำความเห็น การทำคำวินิจฉัยเป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานข้อเจจริงและข้อกฎหมายที่ชัดเจน
อธิบายได้ทั้ง 2 ส่วน เมื่อประกอบกันแล้ว จะทำให้ได้ความเห็นว่า การดำเนินงานในฐานะที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. จะสร้างให้เกิดการยอมรับของทุกภาคส่วนได้ คำวิพากษ์วิจารณ์หรือความไม่สบายใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฎจะลดน้อยลงและอาจจะหายไปในที่สุด
“สถาพร” ยังเสนอความเห็นว่า บุคคลที่เป็นคณะกรรมการ ท่านจะต้องจัดทำให้เห็นว่า ตัวผู้เป็นกรรมการ ยึดถือในเรื่องความถูกต้องและเป็นธรรม กล่าวคือ การดำเนินการพิจารณาในเรื่องใด ๆ แล้วแต่ต้องพิจารณาในเนื้อหาของเรื่องเป็นหลัก ไม่คำนึงว่าผู้ถูกดำเนินการเป็นบุคคลใด มีตำแหน่งหน้าที่การงานใด เพราะโดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการฯ เพื่อจะตรวจสอบในเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบ หากไปคำนึงถึงบุคคลว่าเป็นคนมีตำแหน่ง เป็นคนที่มีอำนาจในประเทศบ้านเมือง เป็นบุคคลที่อยู่ฝ่ายอื่น การมีอคติจะทำให้การพิจารณาไม่ถูกเรียกว่าให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง การทำงานต้องปราศจากอคติไม่เลือกฝ่าย
ทั้งนี้ระหว่างการสัมภาษณ์ ฝ่ายคณะกรรมการสรรหาฯ มิได้สอบถามถึงประเด็นคุณสมบัติของ “สถาพร” แต่อย่างใด
ทั้งหมดคือหลังฉากในชั้นคณะกรรมการสรรหาฯ ก่อนจะมีมติเสนอชื่อ “สถาพร” เข้าสู่กระบวนการของ “ส.ว.” กระทั่งมีมติ “โหวตคว่ำ”
ส่วนจะเกี่ยวกับ “บัตรสนเท่ห์” ในวันนี้หรือไม่ คงต้องรอติดตามข้อเท็จจริงกันต่อไป