ปฏิรูปกองทัพ โจทย์หิน ก้าวไกล ความหวัง “ทหาร” ขั้วเสรีนิยม
การดีไซน์กำลังรบใหม่ เป็นขั้นตอนที่สำคัญ หากคำนวณพลาด ผลลัพธ์คือการสูญเสียอธิปไตย ชาติ ล่มสลาย ภายใต้บริหารจัดการรัฐบาลพรรคก้าวไกล
หาก 14 ล้านเสียงคือฉันทามติจากประชาชนที่มอบให้ “พรรคก้าวไกล” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีนายกรัฐมนตรีชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ดังนั้น 70% ของคนในกองทัพที่เลือกพรรคก้าวไกล ก็เป็นเสียงสะท้อนว่าถึงเวลาควร “ปฏิรูปกองทัพ”
การปฏิรูปกองทัพ เป็นหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล หรือ MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ปัจจุบันมีทหารประจำการเป็นกำลังรบอยู่ในกองทัพไทย ประมาณ 3 แสนนาย ยศตั้งแต่พันเอกลงมา 70% เลือกพรรคก้าวไกล ครอบคลุมไปถึง นักเรียน จปร. นักเรียนนายสิบ ทหารกองประจำการ ถือเป็นกลุ่มทหารรุ่นใหม่ ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาไปสู่ในจุดที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ “กระทรวงกลาโหม” มีแผนปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการ และการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพปี 2560-2569 ควบคู่ไปกับการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรในกองทัพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายพรรคก้าวไกลเกือบทุกข้อ เพียงแต่การดำเนินการที่ไม่แข็งขัน และความไม่ชัดเจนระดับนโยบาย ส่งผลให้ทุกอย่างล่าช้า
“ก้าวไกล” คือพรรคการเมืองจุดประกายความหวังของทหารกลุ่มนี้ ที่ต้องการให้เข้ามาผลักดันกองทัพให้หลุดกรอบแนวคิดเดิมๆ แบบอนุรักษนิยม ปัญหาการแบ่งชนชั้น การละเมิดสิทธิมนุษยชน ระบบอุปถัมภ์ ใช้เส้นสายเลื่อนยศปรับตำแหน่ง ที่วัดกันที่รุ่น ทหารคอเขียว ทหารคอแดง หาใช่ที่เนื้องาน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา
เป้าหมายจึงพุ่งไปที่การรื้อระบบสายการบังคับบัญชา ยกเลิกตำแหน่ง “ผบ.เหล่าทัพ” จัดอำนาจแบบรวมศูนย์ตามแนวคิดของชาติตะวันตก ผ่านคณะเสนาธิการร่วม โดยอำนาจสั่งการสูงสุดในตามปกติเป็นของ “รมว.กลาโหม” แต่ในยามสงคราม เป็นของ “นายกรัฐมนตรี”
ส่วนการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร และอำนาจการประกาศกฎอัยการศึก เป็นของนายกรัฐมนตรีที่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมวางกลไกเลื่อนยศ ปรับย้าย เกราะป้องกันการเตรียมการรัฐประหาร ตัดช่องทางเด็กเส้น การใช้ระบบอุปถัมภ์ค้ำจุน เน้นกันที่ผลงาน
ควบคู่ไปกับการปรับลดกำลังพล ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เพิ่มสิทธิสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย วางกรอบงานการทำงานชัดเจนป้องกันปัญหานำกำลังพลไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ตลอดจนจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย โปร่งใส ไร้ทุจริต เพื่อให้สอดคล้องภัยคุกคามทุกรูปแบบ
แน่นอนว่า หากแผนปฏิรูปกองทัพของพรรคก้าวไกล กลายเป็นนโยบายของรัฐบาล อาจได้เห็นภาพการระดมสมองครั้งใหญ่ ทั้งในระดับรัฐบาล กระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องทำงานสอดประสาน ประเมินภัยคุกคามประเทศ และกำหนดเป็นเกณฑ์เสี่ยงขั้นต่ำที่รับได้
ก็จะได้คำตอบ 1.กองทัพควรมีขนาดเท่าไหร่ 2. จำนวนกำลังพล 3.รูปแบบสายการบังคับบัญชาควรเป็นแบบใด เพื่อมาดีไซน์กำลังรบใหม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญและละเอียดอ่อน เพราะหากคำนวณพลาด ผลลัพธ์คือการสูญเสียอธิปไตย นำไปสู่การล่มสลายของประเทศชาติ ภายใต้บริหารจัดการรัฐบาลก้าวไกล
แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ในทุกๆ ข้อ ที่เป็นนโยบายพรรคก้าวไกล เผยแพร่อยู่ในโซเชียลมีเดีย หากเป็นนโยบายรัฐบาล สามารถทำได้หมด ในขณะที่ทหารเองปรับตัวอยู่แล้ว เพราะเราดำรงอยู่ได้ทั้งในสภาวะปกติ และภาวะสงคราม แต่ทุกอย่างต้องพิจารณากันด้วยเหตุและผล
ขอยกตัวอย่าง เช่น การยกเลิก ผบ.เหล่าทัพ จัดสายการบังคับบัญชาใหม่ ตามแนวคิดจัดกำลังของชาติตะวันตก เพื่อความเป็นสากลก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข เรามองภัยคุกคามที่เห็นร่วมกันเป็นอย่างไร และกองกำลังควรมีเท่าไหร่ ในการรับกับเกณฑ์เสี่ยงขั้นต่ำได้
“หากมองว่า ภัยคุกคามรอบประเทศมีไม่มาก จัดกำลังขนาดเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว แต่เรื่องนี้ต้องระวัง เพราะหากมีอะไรขึ้นมา จะนำไปสู่ การล่มสลายของประเทศ และการสูญเสียอธิปไตย ซึ่งรัฐบาลในฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบายก็ต้องรับผิดชอบกับความผิดพลาดนี้ ซึ่งเชื่อว่า พรรคก้าวไกลเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล ต้องรับฟังความเห็นของคนในกองทัพอยู่แล้ว”
ส่วนการให้อำนาจเคลื่อนย้ายกำลังทหาร ประกาศกฎอัยการศึก เป็นของนายกฯ โดยผ่านมติ ครม.นั้น ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่จะทำให้ขาดความคล่องตัว เพราะการใช้กำลังทุกอย่างต้องผ่านรวมศูนย์ทั้งหมด
ทั้งนี้ การสู้รบ บางครั้งเกิดขึ้นกะทันหันเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ไม่ได้เปิดโอกาสให้เราประชุม ครม.กันก่อน แล้วค่อยเอากำลังออกมา สำหรับปัจจุบันการเคลื่อนย้ายกำลัง และประกาศกฎอัยการศึก ถูกดีไซน์ออกมาให้ ผบ.กองกำลังต่างๆ มีอำนาจในการสั่งการได้ตามขอบเขตที่จะใช้ หากเปลี่ยนแปลงก็ต้องมาคุยกับภาพใหญ่ ว่าควรจะเป็นการเคลื่อนย้ายกำลังพลในระดับไหน ถึงจะต้องขอมติ ครม.
เช่นเดียวกับการอภัยโทษ นิรโทษกรรม ให้กับคนที่หนีทหารให้กลับมาใช้ชีวิตปกติ ก็ต้องไปดูตัวบทกฎหมายว่า สามารถย้อนหลังได้หรือไม่ และหากคิดจะเดินหน้านโยบายนี้ ก็ต้องมั่นใจว่า ในอนาคตประเทศไทยจะไม่มีการเกณฑ์ทหารอีกแล้วใช่หรือไม่ ตรงนี้ต้องมีชัดเจน
แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหม ระบุอีกว่า มีอีกนโยบายพรรคก้าวไกล คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกซื้ออาวุธกับกองทัพ ตรงนี้ ก็ต้องเทียบเคียงกับประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเลือกอาวุธให้ทหาร อีกทั้งการจัดหายุทโธปกรณ์ ถือเป็นชั้นความลับ ไม่นำมาเปิดเผยกัน เพราะต้องวางกำลังรบให้เหนือกว่าประเทศอื่นๆ หากเปิดเผย เขาก็รู้หมดประเทศเรามีอะไรใช้บ้าง แค่ไปซื้ออาวุธที่เหนือกว่าก็รบชนะแล้ว
แต่อีกประเด็นหนึ่งที่เห็นด้วยนโยบายพรรคก้าวไกล คือ คุรุพันธ์กองทัพซื้อด้วยระบบออนไลน์ เพราะหากทำได้ เราสามารถซื้อครุภัณฑ์ได้ในราคาที่ถูกลง และมีการควบคุมได้ ทำให้ความโปร่งใส จะทำให้หน่วยได้รับของที่มีคุณภาพ และใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของเงิน ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เป็นการเพิ่มความโปร่งใสให้กับกองทัพและตัดปัญหาการทุจริตออกไป
ดังนั้น เชื่อว่าหาก พรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาล และเข้ามามีส่วนสำคัญในการผลักดันปฏิรูปกองทัพ นโยบายต่างๆ ที่เคยหาเสียงไว้ อาจถูกกลั่นกรอง พิจารณาด้วยเหตุและผล สภาพความเป็นจริง ก่อนกำหนดนโยบายของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้