'จุดเสี่ยง' ตั้งรัฐบาล 'พิธา-ก้าวไกล' แบกความคาดหวังสูง
ถ้าเป็นภาวะการเมืองปกติ การจัดตั้งรัฐบาล “ก้าวไกล” ซึ่งมี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็น นายกรัฐมนตรี ก็คงไม่มีอะไรมาก ไปกว่า ต้องผ่านด่าน ส.ว. 250 เสียง เพื่อให้ได้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภา(ส.ส.-ส.ว.) 376 เสียงเท่านั้น
แต่นี่ เป็นภาวะกดดัน บีบคั้น เรียกร้อง คาดหวังสูง ของมวลชน “3 นิ้ว” ฐานเสียงพรรคก้าวไกล และ “กองหนุน”ใหญ่-น้อย ทั้ง “กุนซือ” และ “สาวก” ตัวยงทั้งหลาย
ทำให้ “เกมแห่งอำนาจ” การจัดตั้งรัฐบาล “ก้าวไกล” เต็มไปด้วย อุปสรรค ขัดแย้ง ทั้งกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน และการต่อต้าน ที่มี “ส.ว.” เป็นตัวแทน และความหวังในการเตะสกัด “พิธา” ไม่ให้ขึ้นสู่ “ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” และปิดประตูสู่อำนาจของ “รัฐบาลก้าวไกล”
นี่คือ สิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
อุปสรรคแรก ของการก้าวสู่อำนาจของ “พิธา” และ พรรคก้าวไกล ก็คือ การประกาศตัวอย่างชัดเจน ผ่านนโยบายการเมืองก้าวหน้า ว่า ถ้ามีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล จะผลักดันแก้ไขกฎหมาย ป.อาญา ม.112 หรือ กฎหมายว่าด้วยหมิ่นสถาบันเบื้องสูงนั่นเอง
ความจริงก็ไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด ที่พรรคก้าวไกลจะเสนอนโยบายเรื่องนี้ เนื่องจากความเป็นมาของพรรคก้าวไกล ก็คือ พรรคสำรองของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นอดีตหัวหน้าพรรค และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นอดีตเลขาธิการ
ซึ่งหลังจากพรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรค” คดี “ธนาธร” ให้พรรคกู้เงินกว่า 191 ล้านบาท เข้าข่ายครอบงำพรรค ส.ส.เกือบทั้งหมด ก็ย้ายมาอยู่พรรคก้าวไกล
และหลังจากธนาธร, ปิยบุตร และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแทน
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น การเกิดขึ้นของ “แฟลชม็อบ” ที่นำโดย “ธนาธร” หลังจาก กกต.มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็คือมวลชน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ที่พัฒนามาสู่ “ขบวนการ 3 นิ้ว” ในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นฐานเสียงอันเหนียวแน่นของพรรคก้าวไกล นั่นเอง
ประเด็นที่ ธนาธร, ปิยบุตร หยิบยกขึ้นมาต่อสู้ในการพาม็อบลงถนน และขยายฐานมวลชนมาสู่ขบวนการ “3 นิ้ว” มีอยู่หลายเรื่อง ที่สำคัญคือ
เริ่มจากต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ “คสช.” ต่อต้านการรัฐประหาร จนทะลุเพดานมาสู่ การปฏิรูปสถาบันฯ และแก้ไข ป.อาญา ม.112 เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ และนำไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยเต็มใบ
ดังจะเห็นได้ชัดว่า นโยบายแก้ไข “ม.112” มาจากไหน อย่างไร
ขณะที่ “ส.ว.” ส่วนใหญ่ ที่ก่อนหน้านี้คาดหมายกันว่า จะเป็น “ตัวช่วย” ของ “2 ป.” คือ ป. “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ ป. “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
แต่ปรากฏว่า สถานการณ์เปลี่ยน การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภายใต้ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล ในการลงมติรับรองของรัฐสภา “ส.ว.” จึงเปลี่ยนเป้ามาเป็นการไม่ยอมรับ “พิธา” ด้วยเหตุผล ส่อว่าจะแก้ไข ป.อาญา ม.112 ต่อให้ไม่มีใน MOU หรือ ข้อตกลงร่วมรัฐบาล ก็ตาม เพราะ “พิธา” เปิดเผยชัดเจนว่า ยังจะมีการผลักดันผ่านสภาฯ
อุปสรรคที่สอง กรณีถูกร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเฉพาะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชี่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นตรวจสอบว่า การที่นายพิธา มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)หรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น
ทั้งยังมีประเด็นที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ขยี้ซ้ำอีกว่า “พิธา” ต้องทบทวนหาสาเหตุว่า เอกสารที่นายเรืองไกร หามาเพิ่มให้ กกต.นั้น ได้มาอย่างไร แสดงว่า มี “คนใน” นำออกมาให้หรือไม่
เรื่องนี้ จะออกหัวหรือก้อยก็ยังไม่รู้เหมือนกัน
อุปสรรคที่สาม ความขัดแย้ง ประเด็นแย่งประธานสภาผู้แทนฯ ระหว่างพรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย ที่ต้องไม่ลืมก็คือ พรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย ชนะทิ้งห่างกันแค่ 10 ที่นั่ง คือ 151 กับ 141 ที่นั่ง
ประเด็นของ พรรคเพื่อไทย เริ่มส่งสัญญาณความขัดแย้งมาตั้งแต่ รู้สึกว่า MOU ร่วมรัฐบาล ที่พรรคก้าวไกลส่งมาให้พิจารณานั้น ยึดแนวนโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก
กระทั่ง เกิดศึกช่วงชิง “ประธานสภาฯ” ขึ้น โดยพรรคเพื่อไทย เห็นว่า พรรคก้าวไกล ได้ทั้งนายกรัฐมนตรี และยึดกระทรวงหลักเกือบทั้งหมด ยังจะเอา “ประธานสภาฯ” ซึ่ง เพื่อไทย ต้องการเอาไว้ปลอบใจแกนนำบางคนที่ไม่ได้ตำแหน่งบริหาร อีก
ขณะที่พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ มีความสำคัญกับพรรคอย่างมาก โดยเฉพาะในการเสนอกฎหมายจำนวนมาก ที่ต้องการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามที่หาเสียงกับประชาชนเอาไว้
“อันที่จริงก็เหมือนกับที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค เคยกล่าวไว้ว่า เรื่องของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งที่พรรคก้าวไกล อยากรักษาประเพณีที่เคยทำกันมา ในอดีตหากไม่นับรวมเมื่อปี 2562 จะพบว่า พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 1 จะขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อผลักดันกฎหมายต่างๆ พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ตำแหน่งดังกล่าว ทางพรรคก้าวไกลต้องขอเอาไว้เอง” นายรังสิมันต์ โรม โฆษกและว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายปิยบุตร เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เสียไปไม่ได้เป็นอันขาด
“พรรคก้าวไกลก็ยอมถอยในหลายประเด็น เพื่อให้พรรคร่วมสบายใจ และจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เท่านั้นยังไม่พอ ยอมยกกระทรวงเกรดเอให้ พรรคก้าวไกลยอมลด ยอมถอย มาขนาดนี้แล้ว จะต้องยอมขนาดไหนเพื่อให้พรรคอื่นพอใจและจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรคอื่น
และที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลรณรงค์หาเสียงจนได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง มีหลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา จึงจำเป็นต้องมีส.ส.ของพรรคทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมวาระและญัตติ
การประนีประนอมและการเจรจาทางการเมือง เป็นเรื่องเข้าใจได้ ในการตั้งรัฐบาลผสม แต่การถอยถึงขนาดยอมยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคอื่น เป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้ หวังว่าพรรคก้าวไกลจะพิจารณาประเด็นนี้ให้ถ้วนถี่” ปิยบุตร โพสต์เฟซบุ๊ก
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ “พิธา” ยังเชื่อ การเจรจากันจะจบลงด้วยดี
อุปสรรคที่สี่ ก็คือ ความคาดหวังสูงของ “มวลชน” พรรคก้าวไกล โดยเฉพาะ “มวลชน 3 นิ้ว” ที่ต้องการให้พรรคก้าวไกลเร่งออกกฎหมาย อย่างน้อย 2 ฉบับ คือ แก้ไข ป.อาญา ม.112 และ นิรโทษกรรมคดีการเมือง จากผลพวงของรัฐประหาร เมื่อปี 57
ทั้งสองเรื่อง ไม่เพียงเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว หากแต่เป็น “ไฟต์บังคับ” ที่ส่ง “ก้าวไกล” ถึงฝั่งฝัน ในฐานะตัวแทนในสภาฯ ยิ่งกว่านั้น ทั้ง ธนาธร และ ปิยบุตร ยังเป็นหนึ่งในจำนวนกว่า 100 คน ที่จะได้รับอานิสงส์จากการนิโทษกรรมคดีการเมือง โดยเฉพาะ “คดีม.112” ถ้าหากตีความได้ว่า เป็นคดีทางการเมือง
แค่นี้ก็เห็นแล้วว่า อุปสรรคของ “พิธา-ก้าวไกล” ใน “เกมแห่งอำนาจ” มีมากแค่ไหน
แล้วที่น่าวิเคราะห์ไปกว่านั้น ทั้งพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย ต่างก็ไม่มีทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองทั้งสองพรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะสิ่งผูกมัดที่เรียกว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย”
โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย แม้ว่า การ “ถอนตัว” จากการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล จะทำได้ และมีพรรคที่พร้อมจับมือร่วมรัฐบาล จนมีเสียงข้างมาก รวมถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็อาจไม่ยากเหมือน “พิธา” อีกด้วย ถ้าได้พรรคพลังประชารัฐ มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
และหลายคน ก็เชื่อว่า หากมีการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล โอกาสที่ “พรรคเพื่อไทย-ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ” จะเป็นพรรคแกนหลัก ก็มีความเป็นไปได้สูง
แต่สิ่งที่จะตามหลอกหลอนพรรคเพื่อไทยไปตลอด ก็คือ “ทรยศต่อประชาชน” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยอีกต่อไป เห็นแก่ประโยชน์การเมือง มากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง ฯลฯ
แต่ก็อย่าคิดว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะมีข้ออ้างที่สร้างความชอบธรรมได้อยู่แล้ว กรณี “พิธา-ก้าวไกล” เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลเสียเอง จากมูลเหตุที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด
“เพื่อไทย” ก็อ้างได้ว่า การเมืองถึง “ทางตัน” หรือ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” อะไรก็ว่าไป แต่ต้อง “ป่วน” กันถึงขั้น “ก้าวไกล” ขาดความชอบธรรมที่จะตั้งรัฐบาลในสายตาสาธารณชนเลยทีเดียว เพราะไม่เช่นนั้น “เพื่อไทย” ก็จะไม่ได้ผุดได้เกิดอีกเลย
ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลจะขาดพรรคเพื่อไทยไม่ได้เลยในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ เพราะเสียงจะหายไปทันที 141 เสียง และพรรคก้าวไกล ก็ประกาศกร้าวมาตลอด “มีลุง ไม่มีเรา มีเรา ไม่มีลุง” และจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายเผด็จการเด็ดขาด
นั่นหมายถึง ถ้าพรรคเพื่อไทยถอนตัว พรรคก้าวไกล ก็คือ พรรคฝ่ายค้านโดยปริยาย
สุดท้าย ถ้าจะว่าไปแล้ว “จุดอ่อน” ของ “พิธา-ก้าวไกล” ในเกมแห่งอำนาจ ล้วนผูกโยงมัดแน่น อยู่กับการต้อง “แบก” ความคาดหวังสูงของ “มวลชน 3 นิ้ว” นั่นเอง ไม่ว่า ต้นเหตุที่ทำให้ “วุฒิสภา” ไม่เลือก “พิธา” เป็นนายกฯ เพราะไม่ต้องการให้แตะต้องสถาบันฯ ต้นเหตุความขัดแย้งปมแย่ง “ประธานสภาผู้แทนฯ” ที่มวลชน 3 นิ้ว กดดันให้ยึดไว้เสนอกฎหมาสำคัญ หนักเข้าอาจถึงขั้นเป็นต้นเหตุให้การจัดตั้งรัฐบาลล้มเหลว หาก “เพื่อไทย” ถอนตัว
เพราะการเมืองในเวลานี้ ต้องบอกว่า ยังไม่มีอะไรแน่นอน แม้แต่เรื่องเดียว ยกเว้นผลเลือกตั้งเท่านั้นเอง