ร่อแร่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก้าวไกล เล็งเลิก ถอนราก เผด็จการ
มุมมองก้าวไกล ต่อ คสช. เรียกได้เต็มปากว่า เป็นสิ่งแปลกปลอมในทางประชาธิปไตย จึงไม่แปลกหากมีแนวทางชัดเจนจะผลักดัน พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และคงไม่ใช่เรื่องเกินคาดถ้า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะถูกมองผ่านเลนส์สีส้มว่า คือไส้ติ่งทางการเมืองที่ต้องตัดทิ้งโดยด่วน
เมื่อโฟกัสหนึ่งในภารกิจสำคัญของพรรคก้าวไกล หากสามารถฟอร์มรัฐบาลในฝันสำเร็จ คือการผลักดัน 45 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศไทย หลายเรื่องถือเป็นสัญญาประชาคมที่ต้องดำเนินการให้เป็นจริง
เก้าอี้ ประธานสภาฯ ที่ก้าวไกลหมายปอง จึงเป็นตำแหน่งที่จะเอื้อต่อการทำงานในสภาอย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้จะต้องแก่งแย่งกับว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลกันขนาดไหนก็ตาม
ประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายจับตามอง ว่าจะกลายเป็นกับดัก หรืออุปสรรคสำหรับก้าวไกลในอนาคต คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ถือกำเนิดในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
มีการออกเป็น พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อช่วงกลางปี 2560 กำหนดระยะเวลาในโรดแมปตั้งแต่ปี 2561 ถึง ปี 2580 มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่ง
ในช่วงนั้น นักการเมืองและกลุ่มที่เคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ ต่างก็ไม่เห็นด้วย ออกมารุมยำไม่เว้นแต่ละวัน ชี้ให้เห็นจุดอ่อนและอะไรหลายอย่างที่ไม่สมเหตุสมผล
โดยเมื่อกลางปี 2564 ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 23 มิ.ย.2564 เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา พรรคเพื่อไทย เห็นตรงกับพรรคภูมิใจไทย เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้อง ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยอภิปรายเหตุผลไว้ว่า สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขณะนั้น กล่าวในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ.... ของพรรคเพื่อไทย 4 ร่าง โดยหนึ่งในนั้นคือ ยกเลิก ม.65 เกี่ยวกับการทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้แก้ไขเพิ่มเติม ม.142 ม.162 ให้ตัดคำว่ายุทธศาสตร์ออก รวมถึงยกเลิก ม.279 โดยให้เหตุผลว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ที่บังคับให้ทำไม่น้อยกว่า 20 ปีนั้นยาวนาน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและอาจจะเป็นพันธะต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
ส่วนพรรคภูมิใจไทย ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระบุในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 3 ร่าง หนึ่งในนั้น คือยกเลิก ยุทธศาสตร์ชาติ ตาม ม.65 ที่พรรคเห็นว่าไม่เหมาะสมต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะการกำหนดระยะเวลา 20 ปี เนิ่นนานไป
ขณะที่ภาคประชาสังคมที่เห็นสอดคล้อง เช่น กลุ่ม iLaw ก็เคยให้เหตุผลที่ต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ไว้ 4 ข้อ เพราะ
1.เป็นกลไกสืบทอดอำนาจ คสช. กรรมการยุทธศาสตร์ล้วนเกี่ยวข้องกับคสช. รัฐบาลต้องอยู่ภายใต้แนวทางที่วางไว้
2.ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ว. แต่งตั้งโดยคสช. ติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ถ้าขัดเมื่อไหร่ ก็เสี่ยงถูกสอยโดย ป.ป.ช. และ ศาลรัฐธรรมนูญ และมีโทษอีกต่างหาก
3.การกำหนดไว้ 20 ปีไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว และ 4.ประชาชนไม่มีส่วนร่วม
เหล่านี้ อาจถือได้ว่าเป็นแนวร่วมของก้าวไกล อย่างไรก็ตาม มุมมองของก้าวไกล ที่มีต่อ คสช. เรียกได้เต็มปากว่า เป็นสิ่งแปลกปลอมในทางประชาธิปไตย จึงไม่แปลกหากมีแนวทางชัดเจนว่าจะผลักดัน พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. และคงไม่ใช่เรื่องเกินคาด ถ้ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะถูกมองผ่านเลนส์สีส้มว่าคือไส้ติ่งทางการเมืองที่ต้องตัดทิ้งโดยด่วน
ไม่เช่นนั้น มันกลายมาเป็นหอกทิ่มแทงภายหลัง สู้จัดการให้สิ้นซาก ดูจะง่ายกว่า ส่วนจะแทนที่ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับปกส้ม หรือไม่อย่างไร ทางก้าวไกลคงมีพิมพ์เขียวโรดแมปเอาไว้แล้ว