ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาฯแล้ว เตรียมนำทูลเกล้าฯ ต่อไป
ครม. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาฯ นัดแรก ยังไม่ระบุวัน เตรียมทูลเกล้าฯ หาก กกต.รับรอง ส.ส.ครบ 95% โดย "ในหลวง" เสด็จฯทำรัฐพิธี หรือ ส่งผู้แทนดำเนินการได้
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (6 มิถุนายน 2566) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2566 โดยยังไม่ได้ระบุวันที่เรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พร้อมมอบให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานองคมนตรี เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 หรือ 475 คน แล้วให้นําร่าง พ.ร.ฎ. ฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และที่แก้ไขเพิ่มเติม ม. 83 บัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร จํานวน 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จํานวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจํานวน 100 คน ม.84 บัญญัติให้ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อมี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 ของจํานวน ส.ส. ทั้งหมดแล้ว (จํานวน 475 คน) หากมีความจําเป็นจะต้องเรียก ประชุมรัฐสภาก็ให้ดําเนินการเรียกประชุมรัฐสภาได้ และ ม.85 วรรคสี่ บัญญัติให้ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด
ซึ่ง กกต. ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศ ผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง (ภายใน วันที่ 13 ก.ค. 2566) ประกอบกับ ม.121 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ภายใน 15 วัน นับแต่ วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (ภายในวันที่ 27 ก.ค. 2566) ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก และ ม.122 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดําเนินมาทรงทํารัฐพิธี เปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจําปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทํารัฐพิธีก็ได้