'เพื่อไทย' โจทย์ยาก 'คดีทักษิณ' เดินหน้าลำบาก ถอยหลังเสี่ยงลงเหว

'เพื่อไทย' โจทย์ยาก 'คดีทักษิณ' เดินหน้าลำบาก ถอยหลังเสี่ยงลงเหว

การแตกหักกับ “เครือข่ายอำนาจ” อาจไม่ใช่เรื่องดี แต่การแตกหักกับ “ก้าวไกล” ก็ส่งผลเสียในระยะยาวเช่นกัน สถานการณ์ของ“เพื่อไทย”ในเวลานี้ จึงเหมือนเสือลำบาก ยากที่จะเดินหน้าต่อ ถอยหลังก็เสี่ยงลงเหว

จากเป้ากวาด ส.ส. แลนด์สไลด์มากสุด 310 เสียง น้อยสุดเกิน 253 เสียง เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ผลการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ยอด ส.ส.ผิดเป้าเกินครึ่ง เหลือเพียง 141 เสียง ที่สามารถเข้าสภาฯได้ มิหนำซ้ำยังพ่ายพรรคก้าวไกล ทำให้ “นายใหญ่-ขุนศึกเพื่อไทย” ต้องคิดวางเกมการเมืองกันใหม่

เมื่อเสียงเชียร์ให้ “ขั้วประชาธิปไตย” จับมือกันจัดตั้งรัฐบาลดังกระหึ่ม “เพื่อไทย” ไม่อาจจะฝืนกระแสได้ ต้องเล่นบทพระเอกสนับสนุนพรรคอันดับหนึ่ง ร่วมดัน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมเสียง 8 พรรคการเมือง 312 เสียง ให้ไปถึงตำแหน่งนายกฯ

ทั้งที่ใจจริงแล้ว ขุนพลเพื่อไทยยังคับแค้นใจไม่น้อยที่โดน “ก้าวไกล” แย่งเก้าอี้ ส.ส. ในหลายพื้นที่ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาโจมตีขบวนการ “ไอโอ” ปั่นกระแสจับมือ “ป.ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จนคะแนนเพื่อไทยถูกถ่ายโอนให้ “ก้าวไกล”

ทว่า เพื่อไทยก็ต้องปรับโหมด เก็บอาการ กดอารมณ์คับแค้นเอาไว้ในใจ ฉากหน้าต้องยิ้มกลบเกลื่อนด้วยการขึ้นเวที 8 พรรคการเมือง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) จัดตั้งรัฐบาล ตามอีเวนต์ที่ “ก้าวไกล” จัดขึ้น

สถานการณ์สุญญากาศการเมืองยามนี้ ที่ก้าวไกล ยังอยู่ในสถานะที่สุ่มเสี่ยง จากด่านสกัดการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของพิธา ทั้งกรณีหุ้นสื่อ และเสียง 250 ส.ว. ทำให้เพื่อไทย มีลุ้น และต้องเตรียมพร้อมในฐานะพรรคอันดับ 2 

หมากการเมืองของ “เพื่อไทย” ในเวลานี้ บรรดาคีย์แมนในพรรค จึงคิดอ่านอย่างรอบคอบ ถึงทางเลือก หากเกมการเมืองพลิกผัน เพื่อให้อยู่บนเส้นทางเข้าสู่อำนาจให้สง่างาม และส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าให้น้อยที่สุด ซึ่งก็มีหลายฉากทัศน์ดังนี้ 

ทางเดินแรก “เพื่อไทย” ร่วมหัวจมท้ายกับ “ก้าวไกล” โดยเงื่อนไขแรกต้องตกลงเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” กันให้ได้ว่าจะเป็นโควตาของพรรคใด ซึ่ง “ก้าวไกล” ยืนยันเจตนารมณ์ตลอดว่า ต้องการตำแหน่งดังกล่าว เพื่อผลักดันกฎหมายตามที่ได้หาเสียงเอาไว้

หลังจากนั้นจะต่อด้วยการโหวตผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ แน่นอนว่าการโหวตครั้งแรก “เพื่อไทย” จะต้องยกมือสนับสนุน “พิธา” แต่คะแนนเสียง 376 เสียง เป็นกำแพงเหล็กที่ยังมองไม่เห็นว่า “พิธา” จะก้าวข้ามไปได้อย่างไร เนื่องจากจำนวน ส.ว. ที่เคยดีลมาได้เกือบ 20 เสียง ลดลงเหลือไม่เกิน 15 เสียง จากที่ต้องการถึง 64 เสียง จึงจะฝ่าด่านไปได้

หาก “พิธา” ต้องเจออุปสรรค ส.ว. ต้องวัดใจเพื่อไทยจะยอมเล่นตามเกมก้าวไกล ด้วยการโหวตพิธาอีกสักกี่รอบ เพราะจะติดเงื่อนล็อกโหวต กี่ครั้งก็ยังฝ่าไปไม่ได้

ทางเดินที่สอง หากชื่อพิธาไม่สามารถผ่านด่าน ส.ว. ต้องจับตาว่าเพื่อไทยจะตกลงกับก้าวไกลอย่างหรือ หรือจะชิงเสนอแคนดิเดตนายกฯของพรรค 1 ใน 3 ตัวเลือก “แพทองธาร ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน ชัยเกษม นิติสิริ ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตหรือไม่

เพราะหากเกมเดินไปถึงจุดดังกล่าว “เพื่อไทย” ก็มีความชอบธรรมในการเสนอชื่อนายกฯ เช่นกัน ในฐานะพรรคการเมืองอันดับสอง ซึ่งก็ต้องรวบรวมเสียง ส.ส.-ส.ว. ให้ได้เกิน 376 เสียง และต้องวัดใจก้าวไกลเช่นกันว่า จะโหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทยหรือไม่

ขณะที่เริ่มมีกระแสว่า หากเพื่อไทยได้สิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคตัวเอง  ก้าวไกลอาจจะร่วมโหวตให้ แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะถอยฉากจากขั้วรัฐบาลเพื่อไทย ยอมกลืนเลือดเป็นฝ่ายค้าน เก็บความแค้นไว้ชำระกันในศึกเลือกตั้งครั้งหน้า โดยมั่นใจว่ากระแสจะแรงมีโอกาสแลนด์สไลด์

ทางเดินที่สาม หากต้องแยกทางกับก้าวไกล  “เพื่อไทย”จำเป็นต้องจับ“ขั้วใหม่” โดยเหลือทางเลือกแค่พรรคร่วมรัฐบาลขั้วเดิม อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจไม่อยู่ในสมการ

หากเลือกทางเดินดึงพรรคข้ามขั้ว เพื่อไทยก็ต้องยอมรับสภาพว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าอาจโดนโจมตีเรื่องจุดยืนการเมือง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 อย่างไรก็ตาม “กุนซือเพื่อไทย” พยายามมองโลกสวย ในแง่บวกว่า หาก “รัฐบาลเพื่อไทย” สามารถสร้างผลงานได้ดี ฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่ง ทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น จะทำให้เพื่อไทยกลับมาได้รับความนิยมเหมือนเดิม

ตรงกันข้าม หากยังอุ้มก้าวไกล ก็จะโดนขี่คอไปอีกนาน และไม่สามารถสลัดออกจากเงาของก้าวไกลได้ ยิ่งจะทำให้เพื่อไทยมีกระแสนิยมน้อยกว่าก้าวไกลแบบห่างกันลิบ ดังนั้นเมื่อคำนวณข้อดีข้อเสียแล้ว อาจคุ้มที่จะเสี่ยง

ทางเดินที่สี่ ปล่อย ส.ส.บางส่วนออกจากพรรค โดยมีกระแสข่าวว่ามี “งูเห่าสีแดง” กำลังจะก่อตัวขึ้นอีกครั้ง โดยใช้ปฏิบัติการ “ปล่อยข่าว” ย้ายขั้ว เตรียมยกโขยงซบ “ขั้วรัฐบาลเดิม” แต่บางสายก็บลัฟกลับว่า อาจจะหวังต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี

ซีนาริโอทั้ง 4 ทางนี้ เป็นทางเลือกเพื่อไปต่อของ "เพื่อไทย” โดยมีวาระการกลับบ้านของ “ทักษิณ” เป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจรวมอยู่ด้วย 

ฉะนั้นการแตกหักกับ “เครือข่ายอำนาจ” อาจไม่ใช่เรื่องดี แต่การแตกหักกับ “ก้าวไกล” ก็ส่งผลเสียในระยะยาวเช่นกัน สถานการณ์ของ“เพื่อไทย”ในเวลานี้ จึงเหมือนเสือลำบาก ยากที่จะเดินหน้าต่อ ถอยหลังก็เสี่ยงลงเหว