ชี้ชะตา ‘นายกฯ สนาม2’ จุดพลิก ‘พิธา-ก้าวไกล’
“ซีเนริโอการเมือง” หลังวันที่ 19 ก.ค. อาจเป็นจุดพลิกของ "พิธา" และ "พรรคก้าวไกล" ที่สุดจะมัดมือ "8พรรค" ร่วมหอลงโรงจัดตั้งรัฐบาลไปด้วยกัน หรือจะโดดเดี่ยวด้วยการเป็น "ฝ่ายค้าน"
เกมโหวตนายกฯ “สนามสอง” ที่กำลังจะเกิดขึ้นช่วงสายวันที่ 19 ก.ค. นับเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “พิธา ลิ้มเจิรญรัตน์” และพรรคก้าวไกล
เส้นทางจากรัฐสภา ถนนเกียกกาย มุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล ของ “พิธา” ยามนี้ดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยหลากหลายขวากหนามจนทำให้แสงสว่างปลายทางเริ่มริบหรี่ลงทุกที
“ซีเนริโอการเมือง” หลังวันที่ 19 ก.ค. เป็นต้น จึงเป็นเสมือนด่าน “ชี้ชะตา” พิธาและพรรคก้าวไกล รวมถึง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางการจับตาว่า ที่สุดแล้วจะร่วมหอลงโรงไปได้ไกลแค่ไหน
วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังโหวตนายกฯ รอบแรกได้เพียง 2 วัน “พรรคก้าวไกล” โพสต์คลิป “พิธา” พร้อมเผยแพร่กราฟิกโรดแมป “2 สมรภูมิ” เพื่อตั้งรัฐบาลของประชาชนคือ 1.การโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค. และ 2.การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจโหวตนายกฯ ของ ส.ว.ถาวร ตลอดไป
เนื้อหาในคลิปพิธาระบุชัด “หากพวกเราทำเต็มที่ใน 2 สมรภูมินี้แล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จริงๆ ผมพร้อมเปิดโอกาสให้ประเทศไทย โดยเปิดทางให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้ MOU ที่ทำร่วมกันไว้ และผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลทุกคน พร้อมสนับสนุนแคนดิเดตนายกของพรรคเพื่อไทย”
หลักใหญ่ใจความดังกล่าวดูเผินๆเหมือนกับว่าก้าวไกลจะยอมถอยให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่อันที่จริงก้าวไกลเองก็รู้ดีถึงสัญญาณโดดเดี่ยวที่อาจต้องเจอในเบื้องหน้า โดยเฉพาะมิตรร่วมรบ ที่อาจแปรเปลี่ยนเป็นศัตรู
ทำให้ต้องพยายาม “ดึงเกมโหวต” เลือกนายกฯ ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 หวังปลุก "เกมรบนอกสภา" ทั้งยังทอดเวลาโหวตออกไปอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน
ขณะเดียวกันหากแผน "ปิดสวิตซ์ส.ว." ของก้าวไกลสำเร็จนั่นย่อมเป็นทางรอดจากเกมโดดเดี่ยว ซ้ำยังเปิดทางให้ "พิธา" ผงาดสู่นายกฯคนที่30 ได้แบบไม่ยากเย็นอะไรนัก
ทว่าท่าทีดังกล่าวดูเหมือนจะถูกสกัดขัดขวางทั้งจากท่าทีของ "วันนอร์" วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ที่พูดอย่างชัดเจนว่า กระบวนการจะต้องเกิดขึ้นหลังการโหวตเลือกนายกฯ
ไม่ต่างจาก พรรคเพื่อไทย ที่ดูเหมือนจะอ่านเกมตรงนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทำนายล่วงหน้าแผนปิดสวิตซ์ ส.ว.ที่ต้องใช้เสียง ส.ว.สนับสนุน 84 เสียง ที่ไม่มีทางสำเร็จอย่างแน่นอน
“ภูมิธรรม” ยังย้อนความจำของพรรคก้าวไกลเอง ก็เคยโหวต “งดออกเสียง” ร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทยเสียด้วยซ้ำจึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้
การส่งสัญญาณของพรรคเพื่อไทย จึงไม่ต่างอะไรกับการเปิดเกมบีบให้ “พิธา”ต้องเร่งปิดจ๊อบ ส่งต่ออำนาจให้พรรคลำดับถัดไปในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน
การเมืองช็อตต่อไป จึงต้องจับตาหลังวันที่ 19 ก.ค.ท่ามกลางการปล่อยสารพัดสูตรจับขั้วออกมาเป็นระยะ ทั้งสูตร “มัดมือ” 8 พรรคเดิม แต่เปลี่ยนตัวผู้นำ
โดยสูตรนี้ “ก้าวไกล” ต้องชิงเกมประกาศตั้ง "รัฐบาล8พรรค" โดยส่งต่ออำนาจผู้นำ ด้วยการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยเพื่อสกัดแผนพลิกขั้ว
สูตรนี้ “จตุพร พรมพันธุ์” แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน ขยายความว่า หากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 ก.ค. “พิธา” ไม่ได้เสียงเพิ่มขึ้น แนะแนวทางให้พรรคก้าวไกลจับมือเพื่อไทยให้แน่น เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยแทน เพราะหากเพื่อไทยปล่อยมือข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นจุดพลิกผันทางการเมือง
ทว่า ถึงเวลาจริงยังต้องไปลุ้นว่า “ขั้ว 8 พรรค” โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจะยังคงเกาะเกี่ยวเหนียวแน่นกับก้าวไกลมากแค่ไหน
ยิ่งในยามนี้ เริ่มมีการส่งสัญญาณ เปิด“ดีลลับ-ดีลรัก” การเติมเสียงพรรคที่ 9 พรรคที่ 10 รวมถึง ส.ว. เพื่อโหวตนายกฯ
ขณะที่บางพรรค บางกลุ่มยังมีเงื่อนไข “มีก้าวไกล-ไม่มีเรา” ด้วยแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับสัญาณ "ฉีกเอ็มโอยู" 8 พรรค ผลักก้าวไกลให้หลุดจากวงจรไปโดยปริยาย
ฉากทัศน์การเมืองที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้ จึงต้องจับตา 19ก.ค. ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยน วันชี้ชะตา ว่าที่สุดแล้ว “พิธา”และพรรคก้าวไกลจะเดินต่อไปในทิศทางใดหลังจากนี้ ?