'เพื่อไทย' ชั่งน้ำหนัก 2 สูตร ดีลตั้งรัฐบาล 'มีลุง-ไม่มีลุง'

'เพื่อไทย' ชั่งน้ำหนัก 2 สูตร ดีลตั้งรัฐบาล 'มีลุง-ไม่มีลุง'

หลายคนคงคิดว่า “เกม” จัดตั้งรัฐบาลเมื่อมาอยู่ในมือพรรคเพื่อไทยแล้ว จะง่าย เพราะ “คอนเน็คชัน” ทางการเมือง และความ “เก๋าเกม” ถือว่า ไม่ธรรมดา

แถม มีคนอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” หนุนหลังขับเคลื่อนเกมการเมือง “กับดัก” หรือ “ทางตัน” เลือกนายกรัฐมนตรี และตั้งรัฐบาลแค่นี้ มีหรือจะไม่ผ่านฉลุย?

แน่นอน, ถ้าวิเคราะห์จากสถานการณ์ขณะนี้ อาจมีส่วนถูก แต่ไม่ทั้งหมด เพราะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองค่อนข้างสูง รวมถึงกระแสนิยมของประชาชนก็เปลี่ยนไปโดยเฉพาะชัยชนะเลือกตั้ง แบบ “ม้ามืด” ของพรรคก้าวไกล อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีหลายปัจจัยที่ไม่อาจมองข้าม และการเดินเกมทางการเมือง จึงไม่ง่ายและสะดวกโยธินเหมือนเมื่อก่อน

แม้จริงอยู่, พรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีเงื่อนไขผูกมัดตัวเอง อย่างพรรคก้าวไกล ซึ่งอย่างน้อยสองชั้น คือ การเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112(กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ) และไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับ พรรคการเมืองที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯพรรคพลังประชารัฐ หรือ เท่ากับว่า ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ ขั้วอำนาจรัฐบาลปัจจุบันได้เลย

ความจริง การสร้างเงื่อนไขของพรรคก้าวไกล ประการสำคัญ อาจเนื่องมาจากต้องการเสียงสนับสนุนจากฐานเสียงคนรุ่นใหม่บางกลุ่มที่ต้องการแก้ไข และยกเลิกม.112 และรองรับกระแส“เบื่อประยุทธ์” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยอาจไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะสามารถขี่กระแสจนชนะเลือกตั้งได้อันดับ 1 เพราะถ้าคิดว่าจะชนะเลือกตั้ง การสร้างพันธมิตรทางการเมือง ถือเป็นเรื่องจำเป็นในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เว้นแต่มั่นใจว่าจะชนะแบบถล่มทลาย สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

แต่พรรคเพื่อไทย ก็ “หลุดปาก” ไปเหมือนกัน กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พูดถึงการแก้ไข ม.112 แต่ไม่ยกเลิก และไม่ร่วมรัฐบาลกับ “2 ลุง” ขณะที่พรรคเพื่อไทย ตั้งเงื่อนไข ไม่ร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์คนเดียว

กรณี “เศรษฐา” อาจถือได้ว่า เป็นความเห็นส่วนบุคคล ซึ่งเวลานี้ พรรคเพื่อไทยพยายามแก้ต่าง เพื่อเสนอชื่อโหวตลงมติเลือกนายกฯ ท่ามกลางสื่อโซเชียล ขุดคุ้นเอาคำพูดเก่าๆสมัยหาเสียงเลือกตั้งมาแชร์กันให้ว่อน เพื่อชี้ให้เห็นว่า “เศรษฐา” ก็ไม่ต่างจาก “พิธา” เท่าใดนัก ส.ว.จะโหวตให้หรือไม่

กระนั้น ยังถือว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ผูกมัดตัวเองจนดิ้นไม่หลุด ทั้งยังเปิดช่องเอาไว้ให้สามารถร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้กับทุกพรรค ยกเว้นพรรคการเมืองที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ด้วย

อย่าลืมว่า ท่าทีที่ไม่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทย นี่เอง ทำให้ เพื่อไทย แพ้เลือกตั้งให้กับพรรคก้าวไกล ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่ร่วมรัฐบาลกับ “ขั้วตรงข้าม” หรือ “2 ลุง” ทั้งยังปลุกกระแส “มีเรา ไม่มีลุง” หรือ “มีลุง ไม่มีเรา” จนโกยคะแนนเสียงในฝ่ายเดียวกันมาได้อย่างท่วมท้น แต่ก็มีผลหลังเลือกตั้งอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

ที่น่าวิเคราะห์ต่อไปก็คือ เมื่อพรรคเพื่อไทย รับไม้ต่อเป็นแกนนำนำจัดตั้งรัฐบาล สิ่งที่พรรคเพื่อไทย ทำเป็นอันดับแรกก็คือ หาทางอธิบายกับฐานเสียงของตัวเองให้ได้ว่าทำไมจัดตั้งที่รัฐบาลที่มี “ก้าวไกล” รวมอยู่ด้วยไม่ได้

จึงเป็นที่มาของการนัดพรรคการเมืองฝ่ายขั้วตรงข้าม มาพูดคุยเพื่อรับฟังความเห็นที่พรรคเพื่อไทย และได้บทสรุปที่นำไปบอกกับพรรคก้าวไกลว่า ทุกพรรคการเมือง ไม่เห็นด้วยแก้ไข ป.อาญา ม.112 และจะไม่ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกล รวมอยู่ด้วย ก่อนที่พรรคก้าวไกลจะยืนยันไม่ถอยแก้ไข ม.112 ที่สุดนำมาสู่ การฉีก MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล “ข้ามขั้ว” ต่อไป

คำถามก็คือ ทำไมพรรคเพื่อไทย จึงกล้า “ทิ้งเพื่อน” ไม่มีทางออกที่ดีกว่านี้อีกแล้วหรือประเด็นมีอยู่ว่า พรรคก้าวไกล แสดงออกอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งแล้วว่าต้องการแก้ไข ม.112 และยังมีท่าทีเห็นด้วยกับ “ม็อบ 3 นิ้ว” ในการเสนอยกเลิกม.112 ซึ่งเป็นที่ประจักษ์หลายกรณีต่อสังคม และเป็นไปไม่ได้ที่ ส.ว. และส.ส.ทุกคนในรัฐสภาจะไม่รู้ และไม่เข้าใจ แม้กระทั่งการเสนอร่างแก้ไขม.112 เข้าสู่สภาฯ ก็ยังทำมาแล้ว

ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ที่ยังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล แม้ว่า พรรคก้าวไกลจะอ้างว่า ถอยเรื่องแก้ม.112 จึงไม่มีทางทำไม่สำเร็จ เพราะไม่สามารถโหวต“นายกรัฐมนตรี” ผ่านรัฐสภา ซึ่งนอกจาก ส.ส. 8 พรรคร่วมรัฐบาล 312 เสียงแล้ว ทั้งส.ว.และส.ส.188 เสียงของขั้วตรงข้าม ส่วนใหญ่ไม่โหวตให้ จนทำให้ได้ไม่ถึง 376 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และมีโอกาสสูงที่จะซ้ำรอย การโหวตให้กับ “พิธา” ที่ไม่ผ่านรัฐสภามาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนพรรคก้าวไกลเอง ก็รู้ตัวว่า ถอยแก้ไข ม.112 ไม่ได้ และยอมรับว่า เงื่อนไขที่ผูกมัดเอาไว้ เป็นเหตุให้การจัดตั้งรัฐบาลสะดุด จึงไม่พยายามขัดขวางพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล “ข้ามขั้ว” แต่หันมาตั้งความหวังเอาไว้กับ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพิจารณารับ หรือไม่รับ เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นให้วินิจฉัย ปมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็น “ญัตติ” หรือไม่ รวมถึงการยื้อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป จนกว่าส.ว.ชุดนี้จะหมดอายุ หรือ ประมาณ 10 เดือน

กรณีหากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้วินิจฉัย ศาลฯ ก็จะสั่งให้หยุดการโหวตเลือกนายกฯไว้ก่อน จนกว่ามีคำวินิจฉัย จากนั้น ก็ไปลุ้นคำวินิจฉัยว่า เป็น “ญัตติ” หรือไม่ ถ้าไม่เป็น “ญัตติ” ก็เท่ากับว่า “พิธา” มีโอกาสกลับมามีชื่อเสนอโหวตเลือกนายกฯอีกครั้ง

แต่สำหรับเพื่อไทย คำตอบที่ได้จากเกมจัดตั้งรัฐบาล คือ ประเทศ ประชาชนรอไม่ได้จำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลใหม่เข้าไปแก้ปัญหาโดยเร็ว

โดยกระแสข่าวที่ออกมาจากพรรคเพื่อไทย ยังคง “ลับ-ลวง-พราง” ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร เพราะมีหลายสูตรให้เลือก และยังติดปัญหาที่แม้ว่า จะร่วมรัฐบาล “ข้ามขั้ว” แต่ทำอย่างไร จะไม่ทำให้เสียฐานเสียงที่สนับสนุนพรรคให้ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 รวมทั้ง “ด้อมส้ม” ก็พยายาม “ดิสเครดิต” ตลอดเวลาว่า เป็นพรรคที่ไม่มีอุดมการณ์“ทรยศ” ต่อเสียงประชาชน กลืนน้ำลายตัวเอง ไปเป็น “นั่งร้านให้เผด็จการ” ที่ตัวเองเคยโจมตีพรรคการเมืองขั้วอำนาจปัจจุบัน ยอมผสมพันธุ์กับเผด็จการเพียงเพื่อเป็นรัฐบาล ฯลฯ  

อาจด้วยเหตุนี้ แม้พรรคเพื่อไทย จะมีสูตรจัดตั้งรัฐบาลในใจอยู่แล้ว แต่ยังไม่กล้าเปิดเผยอย่างชัดเจน รวมถึงอาจยังดูทิศทางลม ว่า กระแสประชาชนที่โจมตีเรื่องตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว มีมากแค่ไหน เงื่อนไข ร่วม หรือไม่ร่วม กับ พรรค 2 ลุง กระแสเป็นอย่างไร ก่อนตัดสินใจ เพราะพลาดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว อย่าลืมยังมีพรรคที่ 3 จ่อคิวรออยู่ด้วย

ส่วนสูตรจัดตั้งรัฐบาล ที่กำลังเป็นข่าว เพื่อลดกระแสการถูกโจมตี และโยนหินถามทางไปในตัวก็คือ สูตร รัฐบาลเพื่อไทย “ไม่มีก้าวไกล ไม่มีลุง” สูตรนี้ รวมเสียงส.ส.ได้ 263 เสียงเท่านั้น ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง, พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง, พรรคประชาธิปัตย์ 22 จาก 25 เสียง, พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง, พรรคประชาชาติ 9 เสียง, พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง, พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง และพรรคเล็กอีกราว6 เสียง

ส่วนฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกล 151 เสียง, พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง(ลุงป้อม), พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง(ลุงตู่), พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง, พรรคประชาธิปัตย์ 3 จาก 25 เสียง และพรรคเป็นธรรม 1 เสียง รวม 237 เสียง

ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สูตรนี้ ต้องใช้เสียงส.ส.หรือส.ว.สนับสนุนมากกว่า112 เสียง ถือว่า มากเกินไป เพราะอย่าลืม “พิธา” ต้องการอีกแค่ 65 เสียงเท่านั้น ก็ยังหาไม่ได้ รวมทั้ง การ “ไม่มีลุง” ร่วมรัฐบาลด้วย ก็อาจทำให้ส.ว.ที่อยู่ในสาย 2 ลุง งดออกเสียงก็เป็นได้ จึงเสี่ยงที่จะไปไม่ถึงดวงดาว

แต่ก็ไม่แน่ สูตรนี้ หาก “ก้าวไกล” คิดในเชิง “ยุทธศาสตร์” ได้สองต่อ คือ “ปิดสวิตช์ส.ว.” และปิดประตู “2 ลุง” อยู่ในอำนาจ ตามสโลแกน “มีเรา ไม่มีลุง” ยอมโหวตให้พรรคเพื่อไทย แม้มีข่าวว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ต้องการเสียงจาก “ก้าวไกล” เพราะไม่อยากให้พรรคอื่นที่ร่วมรัฐบาลระแวง ก็ตาม ก็จะได้เสียง “ก้าวไกล” 151 เสียง เข้ามาเติม ถือว่า เกินพอทีเดียว

ประเด็นอยู่ที่ พรรคก้าวไกล จะยอมหรือไม่ จะตอบแทนบุญคุณที่เคยโหวตเลือก “พิธา” หรือไม่ ยอมแล้วมี “ดีลลับ” อะไร เป็นไปได้หรือไม่ที่มีข่าวว่า อาจเสนอเงื่อนไขดึงพรรคก้าวไกล ร่วมรัฐบาลหลัง “ปรับ ครม.” ซึ่งไม่ติดเงื่อนไขส.ว.แล้ว?

สูตรที่มีราคาและยอมจ่าย เป็นสูตรที่ชั่งน้ำหนักกระแสมาอย่างดี เมื่อเห็นว่า ไม่มีอะไรมาก สูตรนี้ก็จะถูกผลักดันในที่สุด กล่าวคือ “เพื่อไทย – ภูมิใจไทย – พลังประชารัฐ” เป็นหลัก จะได้เสียงส.ส. เพื่อไทย 141 เสียง, ภูมิใจไทย 71 เสียง และพลังประชารัฐ 40 เสียง เท่ากับ 252 เสียง ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ได้ ส.ว. มาเติมอีก 124 เสียงก็จะผ่านรัฐสภาแล้ว

นี่ยังไม่นับพรรคอื่นที่อาจร่วมรัฐบาลมากกว่านี้

แต่ถ้าไม่ติดว่า “พล.อ.ประยุทธ์” เคยอยู่ “รวมไทยสร้างชาติ”(ยุติบทบาทการเมืองแล้ว) อาจดึงเข้าร่วม รวมถึง ประชาธิปัตย์ ซึ่งมีท่าทีพร้อมร่วมรัฐบาล ก็จะได้เสียงเพิ่มอีกประมาณ 58 เสียง รวมแล้ว 310 เสียง เพียงแค่ได้ส.ว.อีก 66 เสียง ก็โหวตเลือกนายกฯผ่านฉลุยแล้ว

สูตรนี้ ไม่ง้อว่า “ก้าวไกล” จะโหวตเลือกนายกฯให้หรือไม่ เพราะการได้ทั้งพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วมรัฐบาล ก็เท่ากับได้เสียงส.ว.สาย “2 ลุง” ไปในตัว

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจเลือกสูตรนี้ พรรคเพื่อไทยมีราคาที่ต้องจ่าย และต้องยอมจ่าย นั่นคือ กระแสโจมตีเรื่องทรยศต่อเสียงประชาชน ที่ต้องการรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย ไม่มีอุดมการณ์ เห็นแก่การเป็นรัฐบาลมากกว่าคำมั่นสัญญากับ 8 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ฯลฯ ที่อาจมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งอยู่ที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะทดแทนได้อย่างไร เพื่อฟื้นฟูความนิยมกลับมา เป็นเรื่องที่ “เพื่อไทย” ต้องยอมรับสภาพและผลเสียทั้งหลายที่ตามมาด้วย

และสำคัญไม่แพ้กันคือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่ไม่พอใจพรรคเพื่อไทย จนนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงหรือไม่

เหนืออื่นใด พรรคเพื่อไทยรู้ดีว่า จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ไม่เช่นนั้น โอกาสที่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ 3 จะได้เป็นแกนนำ มีความเป็นไปได้สูง และแนวโน้มก็จะจัดตั้งรัฐบาลได้ง่ายด้วย

จึงเชื่อว่า การตัดสินใจเลือกพรรคร่วมรัฐบาล จะเป็นไปอย่างรอบคอบ คำนึงถึงโอกาสที่จะได้รับการโหวตเลือกนายกฯของพรรคเป็นอันดับแรก และไม่เสี่ยง ถ้าต้องลุ้นว่าจะผ่านการโหวตของรัฐสภา หรือไม่

ที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด พรรคเพื่อไทย ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่า “ก้าวไกล” จะโหวตเลือกนายกฯให้หรือไม่ โดยไม่ต้องพึ่ง สว. ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องมีพรรค “2 ลุง” หรือ ลุงหนึ่งลุงใด ก็ได้

แต่ถ้าจะให้แน่นอน ไม่ต้องลุ้นอะไรเลย “เพื่อไทย” ไม่มีทางเลือก นอกจาก มีพรรค 2 ลุงร่วมรัฐบาล แม้ต้องจ่ายแพง เอาหรือไม่?