อำนาจแฝง “ประยุทธ์” ขีดวงโคจร "นายกฯเศรษฐา”

อำนาจแฝง “ประยุทธ์” ขีดวงโคจร "นายกฯเศรษฐา”

ถึงผู้นำจะเปลี่ยนไป แต่อำนาจแฝงของ“ลุงตู่” ยังคงอยู่ และเป็นสิ่งที่คนในรัฐบาลบางส่วน ก็อาจจะกังวล เพราะไม่รู้อนาคต มรดก คสช.จะแผลงฤทธิ์อะไร มาทิ่มแทงภายหลังหรือไม่

การประกาศเทหมดหน้าตักของ เศรษฐา ทวีสิน และเพื่อไทย ในการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่กำลังเร่งเครื่อง อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเต็มกันอย่างเต็มสูบ หลายนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง ที่เคยหาเสียงเอาไว้ ทั้งลดค่าไฟ ค่าน้ำมันกำลังเริ่มขับเคลื่อน

ดูสไตล์การทำงานของเศรษฐา คนในพรรคเพื่อไทยที่ได้สัมผัสมาตั้งแต่ช่วงหาเสียง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นคนทำงานเร็ว บางคนถึงขนาดเอาไปเปรียบเทียบว่า ทำงานเร็วกว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เสียอีก

การประชุมครม. 2 ครั้ง อย่างเป็นทางการ ใช้เวลารวดเร็วทันใจ ครั้งแรกเมื่อ 13 ก.ย.2566 มีหลายวาระสำคัญ เข้าพิจารณาในที่ประชุม ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงจบ หรือการประชุมครม.ล่าสุด เมื่อ 18 ก.ย.ก็ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษ ๆ เท่านั้น

ช่วงเวลานี้ จึงอยู่ในขั้นตอนปรับจูนการทำงานของรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่อาจจะยังไม่รู้สไตล์การทำงานของนายกฯ คนนี้

แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลบางคน กระซิบให้ฟังว่า หมอมิ้ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เอง ก็ยังต้องปรับตัวกันยกใหญ่ ไม่น้อยไปกว่าใคร 

ที่น่าเห็นใจ คือข้าราชการทำเนียบฯ ที่ต้องเปลี่ยนโหมดให้เข้ากับสเต็ปของนายกฯ กันแทบไม่ทัน คิวงานแต่ละวัน ขึ้นเหนือลงใต้แน่นเอี๊ยด

เรียกว่าสไตล์แตกต่างจาก ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ คนก่อน ที่บริหารประเทศด้วยวิธีคิดของข้าราชการ ระมัดระวังทุกย่างก้าว ขณะที่นายกฯ เศรษฐา มีรูปแบบเฉพาะตัวที่มาจากนักธุรกิจ ดังนั้น วิธีคิด วิธีทำงานจึงต่างกันโดยสิ้นเชิง

คาแรกเตอร์ที่ชัดเจนของ “นายกฯ นิด” ตามที่คนในเพื่อไทยนิยามให้คือ เรียนรู้เร็ว ทำงานเร็วตัดสินใจเร็ว เป้าหมายชัดเจน มี KPI เป็นตัวชี้วัดในงานต่างๆ

โดยนับตั้งแต่มีอำนาจเป็นนายกฯ ใครจะเสนอขออนุมัติแผนงาน โครงการอะไรก็แล้วแต่ ต้องตอบเศรษฐาให้ได้ว่า เสาหลักสำคัญของประเทศ จะได้ประโยชน์อะไร

ภาพลักษณ์ของเศรษฐาในวันที่เข้าสู่สนามการเมืองเต็มตัว การแสดงออกต่อสาธารณะ อาจดูแปลกตาไปจากสมัยที่ยังอยู่ภาคเอกชนค่อนข้างมาก ชนิดคนที่รู้จัก อาจต้องขยี้ตาซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะเศรษฐาวันนี้ ดูซอฟต์กว่าเศรษฐาคนก่อนมีอำนาจ ชนิดแทบจะคนละคน

อย่างไรก็ตาม การบริหารงานของรัฐบาลเศรษฐา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีอิทธิพลของ “ลุงตู่” เดินคู่ขนานกันไป ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ที่เกิดขึ้นในสมัย คสช.และมีส่วนกำหนดการทำงานของรัฐบาลนี้อยู่พอสมควร 

เบื้องหลังการแถลงนโยบายรัฐบาล ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ลงรายละเอียด เรื่องตัวเลข แหล่งที่มางบประมาณ ในหลายเรื่องที่หาเสียงไว้ เพราะฝ่ายกฎหมายกังวลว่า นโยบายแนวประชานิยมอาจจะถูกร้ององค์กรอิสระ กล่าวหาว่าดำเนินนโยบายขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ จนอาจตกม้าตายในที่สุด

เพราะคอนเซ็ปต์ หรือวิสัยทัศน์ปี 80 ของยุทธศาสตร์ชาติ ระบุว่า “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นโยบายลดแลกแจกแถมต่างๆ จึงอาจถูกร้องให้ตรวจสอบ และตีความไปในทางไม่เป็นบวกต่อรัฐบาลได้ การแถลงนโยบายจึงได้เห็นแต่ภาพกว้าง จนถูกปรามาสว่าไม่ตรงปก

นโยบายเร่งด่วน เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ก็เป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะปลดล็อคพันธะผูกพันต่างๆจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยนั่นเอง

ดังนั้น ถึงผู้นำจะเปลี่ยนไป แต่อำนาจแฝงของ“ลุงตู่” ยังคงอยู่ และเป็นสิ่งที่คนในรัฐบาลบางส่วน ก็อาจจะกังวล เพราะไม่รู้อนาคต มรดก คสช.จะแผลงฤทธิ์อะไร มาทิ่มแทงภายหลังหรือไม่