‘เรือดำน้ำ’ ทางสามแพร่ง รัฐบาลเพื่อไทย มีคำตอบ
'กองทัพเรือ' ลงแรง ทุ่มงบประมาณไปจำนวนไม่น้อย ผลักดันโครงการ 'เรือดำน้ำ' จนเดินมาถึงทุกวันนี้ หากยกเลิกสัญญาก็ต้องใช้เวลาอีก 10 ปี จัดหาใหม่และไม่ชัดเจนว่าจะได้มาใช้ปฏิบัติภารกิจหรือไม่
ภารกิจหนึ่งของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ที่หวังใช้โอกาสพบปะผู้นำต่างประเทศ ผู้นำองค์การระหว่างประเทศ บุคคลสำคัญ เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ ในระดับทวิภาคี และพหุภาคี ในเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (78th Session of the United Nations General Assembly : UNGA78) ระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน ประเทศสหรัฐอเมริกา
คือการแก้ไขปัญหา “เรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์” ของ “กองทัพเรือ” ด้วยการใช้คอนเน็กชั่นส่วนตัว และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศพูดคุยกับผู้นำเยอรมัน โดยมี “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ว่าที่ ผบ.ทหารสูงสุด ร่วมคณะไปด้วย
เพื่อชี้แจงข้อติดขัดโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของไทย จากเดิมที่ตกลงกันเป็นเครื่องยนต์ MTU-396 จากเยอรมัน เนื่องจากในขณะนั้นมีกลุ่มทุนของเยอรมันตั้งโรงงานผลิตในจีน และมีสัญญาและข้อตกลงร่วมกัน โดยเครื่องยนต์เยอรมันที่ผลิตในจีนจะต้องขายให้กับจีนเท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้นำไปติดตั้งในเรือดำน้ำขายประเทศอื่น
ในขณะที่ กองทัพเรือไทย มีความเชื่อมั่นประสิทธิภาพเครื่องยนต์ MTU-396 จากเยอรมัน ซึ่งมีติดตั้งใช้งานในเรือรบไทยปัจจุบัน แต่เป็นรุ่นอื่น และจากสถิติของกรมอู่ทหารเรือ พบว่าเครื่องยนต์ MTU ไม่มีประวัติการซ่อมแม้แต่ชิ้นส่วนเดียวใน 12 ปี หลังจากนั้นมีเปลี่ยนชิ้นส่วนตามวงรอบ
เป็นที่มาของ“กองทัพเรือ” จัดทำข้อมูลส่ง “นายกฯเศรษฐา” พร้อมระบุข้อความตรงไปตรงมา ขอให้ช่วย กรุณาเจรจากับเยอรมันให้ขายเครื่องยนต์ MTU -396 ให้กับจีน เพื่อนำมาติดตั้งให้เรือดำน้ำไทยลำแรก รวมถึงลำที่สองและสาม และหากเจรจาประสบความสำเร็จปัญหาทุกอย่างจบลงทันที
“นายกฯเดินทางไปครั้งนี้ วัตถุประสงค์หนึ่งก็คือ ไปช่วยพูดให้กับกองทัพเรือ ซึ่งทุกคนก็รอฟังคำตอบ หากสำเร็จก็คือผลงานรัฐบาลต้องให้เครดิต ตอนนี้รอฟังความสำเร็จ ระดับผู้ใหญ่ไปพูดคุย และเป็นผู้มีศักยภาพทุกคน” แหล่งข่าวกองทัพเรือ ระบุ
หากการเจรจาล้มเหลว กองทัพเรือ จะยึดแนวทางที่ 2 ส่งหนังสือที่ลงนามโดย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. เห็นชอบเครื่องยนต์ CHD - 620 ที่ผลิตจากบริษัทจีนติดตั้งในเรือดำน้ำให้ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม พิจารณา และไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ก็พร้อมยอมรับ
กรณี รมว.กลาโหม เห็นชอบตามกองทัพเรือเสนอ ส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติปรับแก้สัญญาในส่วนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ และรับข้อเสนอในการเพิ่มการรับประกันจาก 10 ปี เป็น 20 ปี รวมถึงการส่งกำลังบำรุง อะไหล่ ระบบอาวุธเพิ่มเติม และนับจากนั้น 40 เดือน เรือดำน้ำลำแรกจะเดินทางถึงประเทศไทย
แต่หากผลการพิจารณาเป็นไปในทางตรงกันข้าม ไม่เห็นชอบติดตั้งเครื่องยนต์ CHD-620 จะนำไปสู่แนวทางที่สามการยกเลิกสัญญา ตามระเบียบและกฎหมายถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยต้องเจรจากับรัฐบาลจีนขอคืนเงินที่จ่ายไปแล้วจำนวน 7,000 ล้านบาท
ส่วนอนาคตโครงการเรือดำน้ำจะเป็นอย่างไรคงต้องพิจารณากันอีกครั้ง ต้องยอมรับว่า กองทัพเรือ ได้ลงแรง ทุ่มงบประมาณไปจำนวนไม่น้อย เพราะต้องใช้เวลานับ 10 ปี ผลักดันโครงการดังกล่าวจนเดินมาถึงทุกวันนี้ และหากยกเลิกสัญญาก็ต้องใช้เวลาอีก 10 ปี จัดหาใหม่และไม่ชัดเจนว่าจะได้เรือดำน้ำมาใช้ปฏิบัติภารกิจหรือไม่
“ปัญหาเรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ หลังกองทัพเรือเสนอให้ใช้เครื่องยนต์จีน ผมมีทางออกอยู่ในใจแล้ว เป็นทางอออกที่ดี กองทัพต้องพอใจ ประชาชนรับได้ ไม่เกิดความบาดหมางกับชาติมหามิตร โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจเรื่องนี้ และกำลังหาทางออกที่ดีที่สุด”
"ส่วนกระแสข่าวที่เยอรมันยกเลิกผลิตเครื่องยนต์ MTU 396 นั้น ทราบข่าวเรื่องนี้ แต่ข้อเท็จจริงจะต้องติดตาม หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ไปร่วมการประชุม UNGA จากการฟังนายกฯ แถลงทางออกของเรื่องนี้ ยังไม่ใช่การยกเลิกสัญญากับจีน ซึ่งในเบื้องต้นคงจะพยายามแก้ไขก่อน แต่ขอให้รอความชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง" สุทิน ระบุ
สำหรับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย ตามโครงการจะจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำ งบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ใช้ปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลจำนวนมหาศาล หรือกว่า 24 ล้านล้านบาท
ลำแรกใช้ปฏิการในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย ลำที่สองปฏิบัติการฝั่งอันดามัน ส่วนอีก 1 ลำใช้เป็นหมุนเวียนสับเปลี่ยนการปฏิบัติงาน
แต่สืบเนื่องจากการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรก ด้วยงบประมาณ 1.35 หมื่นล้านบาท และตามกำหนดการจะเข้าประจำการในกองทัพเรือไทยได้ ประมาณปลายปี 2567 แต่เกิดปัญหาการจัดหาเครื่องยนต์ ซึ่งตามสัญญาต้องเป็นเครื่องยนต์ MTU-396 จากเยอรมัน
อีกทั้ง กองทัพเรือยังยืนยันความต้องการเครื่องยนต์จากเยอรมัน ด้วยอ้างอิงข้อตกลง หรือทีโออาร์ที่ทำเอาไว้กับจีน โดยจัดซื้อแบบจีทูจี หรือรัฐต่อรัฐ แต่หากจีนผิดสัญญา หรือไม่สามารถหาเครื่องยนต์เยอรมันมาติดตั้งให้เรือดำน้ำไทย สัญญาก็เดินต่อไม่ได้ ต้องยกเลิกสัญญา
ก่อนจะนำมาสู่การทบทวนเปิดโต๊ะเจรจาหาทางออกอยู่หลายครั้ง และเป็นไปตามคาด บริษัท CSOC ไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU-396 ได้ จึงขอเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ CHD-620 ที่จีนผลิตเอง มาให้พิจารณา
ขณะที่ กองทัพเรือ แม้จะยืนยันถึงความต้องการเดิม แต่ได้ส่งแบบเครื่องยนต์ CHD-620 ให้ฝ่ายเทคนิค กรมอู่ทหารเรือศึกษาข้อดีข้อเสีย พร้อมให้บริษัท CSOC ไปจัดทำข้อเสนอแนวทาง ระยะเวลา และแผนงานการดำเนินการแก้ไขปัญหา
สุดท้ายผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ลงนามเห็นชอบใช้เครื่องยนต์ CHD-620 จากบริษัทของจีน เพื่อติดตั้งในเรือดำน้ำไทยเรียบร้อยแล้ว หลังจากคณะทำงานในการเจรจาหาข้อยุติกับบริษัท CSOC