'เกรียง'เตรียมแผนรับมือน้ำท่วมอีสานทั้งระบบ รายงานนายกฯ 2 ก.ย.
'เกรียง'เตรียมแผนรับมือน้ำท่วมอีสานทั้งระบบ รายงานนายกฯ 2 ก.ย. 'มนพร' ห่วงน้ำท่วมหลายพื้นที่ กำชับ เร่งสูบน้ำตามถนนหลัก
นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการลงจ.อุบลราชธานี ร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์วันเดียวกันนี้ว่า เป็นการลงพื้นที่เพื่อตรวจดูสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อวางแผนระยะยาวในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากจ.อุบลราชธานี ถือเป็นพื้นที่ปลายน้ำ และมีเขื่อนธรรมชาติก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง พื้นที่ตรงนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งหากเราสามารถระบายน้ำได้ดีจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่อีสานได้ทั้งระบบ
โดยได้หารือกับร.อ.ธรรมนัส และเห็นตรงกันถึงการต้องเตรียมการเร่งระบายนำช่วงอ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี แต่อีกโจทย์ที่เราให้ความสำคัญคือทำอย่างไรไม่ให้กระทบการท่องเที่ยว เบื่องต้นได้เตรียมแผนการที่จะดำเนินการไว้แล้วโดยจะเข้าไปรายงานต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลังที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 2 ก.ย. นี้
นายเกรียง กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามจากสถานการน้ำท่วงในพื้นที่ภาคเหนือ ที่จ.ลำปาง และแพร่ วันเดียวกันนี้ ตนในฐานะกำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้ลงพื้นที่จ.แพร่โดยด่วน เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหา รวมถึงเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรถไฟตกราง
ส่วนการแก้ปัญหาจะสั่งการอะไรบ้างนั้น เบื่องต้นได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชนก่อน ส่วนรายละเอียดขอให้ถึงหน้างานจะค่อยสั่งการต่อไป เพราะนายกฯบัญชาชัดเจนให้เราช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิดเต็มกำลัง ยืนยันรัฐบาลนี้จะดำเนินการตามนโยบายเร่งช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วถึงที่แน่นอน
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ว่า ตอนนี้ในหลายจังหวัดมีน้ำท่วมขังจากฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องรวมถึงน้ำระบายไม่ทัน โดยความรับผิดชอบของตนในกระทรวงคมนาคมนั้นได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลถนนเส้นทางหลัก ให้เร่งใช้เครื่องสูบน้ำ เครื่องระบายน้ำ ป้องกันไม่ให้เป็นปัญหาในการใช้รถใช้ถนน
รวมถึงให้มีการติดตั้งป้ายจราจรบอกจุดที่อันตรายแก่ผู้ใช้เส้นทาง เพราะบางพื้นที่น้ำมาเร็วและไปเร็ว กำชับให้พี่น้องประชาชนแจ้งเหตุ ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยให้ผู้นำในพื้นที่ลงไปตรวจสอบ และช่วยแก้ไขปัญหาในระดับเบื้องต้นเพื่อให้เร่งระบายน้ำ ทั้งนี้ มีการเฝ้าระวัง 24 ชม.