'อนุทิน' ย้ำแก้หนี้-ต่อสัมปทาน รฟฟ.สีเขียว ยึดหลักกฎหมาย 'ชัชชาติ' ไม่กังวล
'อนุทิน' ย้ำการแก้หนี้-ต่อสัมปทาน 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' ยึกหลักกรอบกฎหมาย ชี้ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ ด้าน 'ชัชชาติ' ไม่กังวล เหตุไม่ซับซ้อน แก้ปัญหาได้ พร้อมจ่ายหนี้หากสภา กทม.อนุมัติ
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ให้การต้อนรับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ในโอกาสมาตรวจราชการและมอบนโยบายให้กรุงเทพมหานคร หลังใช้เวลามอบนโยบายและหารือกันประมาณครึ่งชั่วโมง ได้ให้สัมภาษณ์ร่วมกัน ก่อนจะไปรับประทานอาหารเที่ยง
โดยนายอนุทิน กล่าวว่า ทีมกระทรวงมหาดไทยมาเยี่ยมผู้ว่าฯ กทม. เพราะครั้งที่แล้วท่านไปพบและหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพูดคุยให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง และถือว่าเป็นสิ่งที่มีเป้าหมายตรงกันคือ ประโยชน์สูงสุดของชาวกทม. และเราทั้ง 2 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นจึงไม่มีทางเลือกอื่นที่จะสนับสนุนภารกิจซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างไร้รอยต่อ
ส่วนเรื่องการทำงานในนโยบายระยะยาวนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า เคารพนโยบายของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ให้สัญญากับประชาชน ส่วนกระทรวงมหาดไทยก็พร้อมที่จะเป็นผู้สนับสนุน หรือหากมีเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะเป็นคุณประโยชน์ ก็จะมาหารือเป็นเรื่องๆไป และวันนี้ก็อยู่ในคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนากทม. ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งด้วย ซึ่งมีองค์ประกอบไม่ใหญ่แต่มีภารกิจหน้าที่ที่สำคัญเพื่อร่วมมือกันมาทำงานให้กทม. ให้เกิดความมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นโอกาสดีกับประชาชนทุกคน
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องรถไฟฟ้าก็ถือเป็นเร่งด่วน เพราะอยากให้มีความชัดเจน รวมถึงเรื่องโอท็อป การเสริมสร้างโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สินค้าและจัดจำหน่ายให้มากขึ้นในเขตกทม. ถ้าร่วมทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ และมหาดไทยก็คงเป็นฝ่ายสันบสนุนภารกิจกทม.ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
ส่วนเรื่องปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว นายอนุทิน กล่าวว่า คงต้องหารือกัน เพราะยังมีขั้นตอนอีกมากมาย และตนก็มีหน้าที่ที่ต้องตอบสนองทุกอย่าง เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ หากทุกอย่างชัดเจนไม่มีข้อติดขัดใดๆ เป็นไปตามบัญญัติของกฎหมาย ก็จะเร่งรัดให้การแก้ไขปัญหาคลี่คลาย
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ด้านการยกเลิก ม.44 นั้น ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายทั่วไปเช่นกัน และอะไรก็ตามที่เป็นไปตามกฎหมาย มีความยุติธรรมกระทรวงมหาดไทยก็พร้อมให้ความร่วมมือ ถ้าทุกอย่างอธิบายได้ตามหลักกฎหมายก็เคลียร์ได้หมด แต่วันนี้มีโจทย์ยากที่ป.ป.ช.ชี้มูลก็ต้องไปเคลียร์ให้หมด หากทำเรื่องขณะที่มีการร้องเรียนอยู่ ต้องเคลียร์ประเด็นนั้นให้หมดก่อนไม่เช่นนั้นคงไปต่อไม่ได้ และผู้ว่าฯกทม.คงทราบปัญหาทั้งหมดแล้วก็ต้องเคลียร์
“เริ่มกระบวนการใหม่ในยุคชัชชาติและยุคของผม ไม่ใช่ไปรับอะไรจากที่เราไม่เคยเกี่ยวข้องมาและฝืนไปโดยที่ไม่ได้เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ คงแก้ปัญหาไม่ได้ เราอย่าบังคับในสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย ไม่ได้และเมื่อเรื่องเริ่มเดินได้ ผมและผู้ว่าฯชัชชาติ ก็คงจะต้องหารือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายอนุทิน กล่าว
ส่วนนายชัชชาติ กล่าวอีกว่า เรื่อง ม.44 คำสั่งเรื่องให้เดินรถแบบไร้รอยต่อ คงต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้นำเรื่องเข้าครม. ก็ถือว่ามีขั้นตอนอยู่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรและเรื่องเงินไม่ได้มีปัญหา กทม.จ่ายได้ แต่สภาฯต้องอนุมัติ ใช้งบสะสมที่เหลือ และทุกอย่างต้องอนุมัติตามขั้นตอน โดยจะต้องแยกเป็น E&M(สัญญาเรื่องระบบไฟฟ้าและเครื่องกล) และ O&M (สัญญาเรื่องบำรุงรักษา)ซึ่งมีผลการศึกษาอยู่และเป็นไปตามกฎระเบียบ เราทั้งคู่ไม่ได้รับผิดชอบ แต่มาจากคนอื่นก่อนหน้านี้ และเงินเป็นเงินของประชาชนก็ต้องทำให้ถูกต้อง ถูกระเบียบ และได้ขอไปรัฐบาลแล้ว คงต้องเสนอไปที่มหาดไทยให้พิจารณาอีกที
ทั้งนี้การเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ก็คงไม่ได้ให้ใช้ฟรีไปจนไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนเรื่องหนี้เป็นคนละเรื่องกับ ม.44 แต่ ม.44 คือการเอาหนี้ที่มีมารวมกันเหมือนกับจ่ายคืนหนี้ถ้าต่อสัมปทานให้ ส่วนหนี้ก็คงมีเกิดขึ้นจริง จะเป็นจำนวนเงินเท่าไรต้องหารือกัน แต่ถ้าเอาหนี้ไปต่อสัมปทานให้หรือไม่นั้นคือ ม.44 ดังนั้น คงต้องรอสภากทม.สรุป แล้วนำข้อสรุปมาหารือกับมหาดไทย ไม่มีอะไรน่ากังวล
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า เรื่องค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ตัวเลขไม่ใช่ง่าย แต่ส่วนต่างที่ไปจ้างเขาและเก็บได้ก็จะขาดทุนส่วนนี้ ซึ่งต้องมีส่วนเงินที่จะชดเชย ยกเว้นการไปต่อรองค่าจ้างให้ถูกลง และช่วงแรกมีสัญญาอยู่แล้ว ถ้าเขาไม่ลดราคาให้ รัฐก็ต้องชดเชยให้ ส่วนหลังหมดสัมปทาน เราเก็บเท่าไรก็ได้ แต่ถ้ามีใครขาดทุนรัฐก็ต้องจ่าย