ผลกระทบของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 | วิทยากร เชียงกูล

ผลกระทบของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 | วิทยากร เชียงกูล

50 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เราควรรำลึกถึงและวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลอย่างไรมาถึงปัจจุบัน และเราควรทำอะไรต่อ

ขบวนการนักศึกษาประชาชนช่วง 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นในเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่มีทั้งข้อเด่นและข้อจำกัด  ในประเด็นข้อจำกัด พวกเขาเป็นกลุ่มพลังแบบหลวมๆ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เฉพาะสถานการณ์หนึ่ง มีพลังอำนาจต่อรองที่จำกัด

เมื่อเทียบกับกลุ่มพลังของชนชั้นผู้ปกครอง เช่น กลุ่มเจ้าที่ดินใหญ่ กลุ่มนายทหาร ข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมสูงมาช้านาน และกลุ่มนายทุนสมัยใหม่ที่มีพลังทางเศรษฐกิจสูง ก็ร่วมมือกับชนชั้นผู้ปกครองแบบเก่าด้วย

กลุ่มชนชั้นสูงเหล่านี้มีทั้งอาวุธที่ใช้ในการปราบปรามควบคุม การสั่งสมประสบการณ์ทางด้านยุทธศาสตร์การเมืองและการจัดการ ตลอดจนความได้เปรียบในด้านการเป็นฝ่ายควบคุมกลไกรัฐ และการครอบงำอุดมการณ์จิตสำนึก

ในสภาพเช่นนี้ ขบวนการนักศึกษาประชาชนฝ่ายก้าวหน้า (ที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรม) จึงเป็นกลุ่มที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้ประชาชนเช่นการเพิ่มค่าจ้างแรงงาน การลดค่าเช่านา การตรวจสอบข้าราชการชั้นสูงที่ประพฤตมิชอบ ฯลฯ ได้ในระดับหนึ่ง

ไม่อยู่ในวิสัยที่จะผลักดันการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวไปในทิศทางที่ก้าวหน้าเป็นประชาธิปไตยได้มากกว่าที่พวกเขาได้ทำไป ในช่วง 3 ปี หลัง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ตั้งแต่ปลายปี 2517 พวกชนชั้นสูงมีอำนาจมั่นคงเพิ่มขึ้นกว่าช่วงหลัง 14 ตุลาคมใหม่ๆ พวกเขาไม่จำเป็นต้องผ่อนปรน/เป็นพันธมิตรกับขบวนการนักศึกษาประชาชน

ผลกระทบของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 | วิทยากร เชียงกูล

พวกเขาจึงเล่นการเมืองเพื่ออำนาจและประโยชน์ของพวกเขาเองอย่างเต็มที่ และเริ่มทำลายล้างขบวนการนักศึกษาประชาชน ซึ่งพวกชนชั้นสูงเห็นว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้าที่เข้าข้างประชาชนชั้นล่างมากเกินไป (มีการลอบสังหารผู้นำ ชาวนา คนงาน นักศึกษา นักการเมืองฝ่ายก้าวหน้า อย่างต่อเนื่อง)

ในแง่ข้อเด่น หากเรามองประวัติศาสตร์แบบภาพกว้างและมองอย่างระยะยาวหน่อย เหตุการณ์ 14 ตุลาคมนอกจากจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มชนชั้นต่างๆ ในสังคมในระดับหนึ่งแล้ว

ยังก่อให้เกิดการกระจายความคิดเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยในหมู่นักศึกษาประชาชนในระดับที่กว้างขวางกว่าครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาด้วย

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม นักศึกษาออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตยในต่างจังหวัดคนงานจัดตั้งสหภาพแรงงาน ชุมนุม นัดหยุดงาน เรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้างแรงงาน

ชาวนาจัดตั้งกลุ่มชาวนาเรียกร้องให้ควบคุมค่าเช่านาให้เป็นธรรม ฯลฯ มีส่วนช่วยให้การศึกษาประชาชน และการกระจายความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยไปอย่างกว้างขวาง

แม้กิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมเหล่านี้จะดำรงอยู่ได้เพียงแค่ 3 ปีก็ถูกทางชนชั้นปกครองสกัดกั้นด้วยการปราบปรามที่รุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

แต่เมื่อมองในระยะยาวแล้ว เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีผลกระทบต่อการเติบโตทางภูมิปัญญาความคิดความอ่านของประชาชนไทยอยู่มาก มีการเติบโตทางด้านความสนใจทางวิชาการเชิงวิเคราะห์ วงการนักพัฒนา

ผลกระทบของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 | วิทยากร เชียงกูล

นักทำงานเพื่อสังคม ศาสนา สื่อสารมวลชน วรรณกรรมและศิลปะวัฒนธรรมด้านต่างๆ มีหนังสือเนื้อหาดีๆ มีการสัมมนา อภิปราย กิจกรรมทางด้านการพัฒนาสังคม ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ อย่างแพร่หลายมากกว่าในยุคใดๆ

มีคนเปรียบเทียบว่ายุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ของไทยมีส่วนคล้ายกับยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการและยุคทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผล (The Enlightenment) ในประวัติศาสตร์ยุโรป

ซึ่งหมายถึงการตื่นตัวทางความคิด ความรู้ ศิลปวัฒนธรรม ที่เคารพมนุษย์และเหตุผลแทนที่จะเชื่อในเรื่องอภินิหาร อภิสิทธิ์ ฯลฯ ในระดับหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ความตื่นตัวนี้ไม่ได้กระจายในวงกว้างและลึกมากพอ

ขบวนการนักศึกษาจะอยู่ได้แค่ 3 ปี ก็ถูกยุติบทบาทโดยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อกลุ่มการเมืองหัวเก่าที่ขวาจัด (ยึดมั่นสถาบันแบบดั้งเดิม/ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า) ปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่ไปชุมนุมต่อต้านการที่รัฐบาลให้จอมพลถนอมกลับเข้าประเทศ

ทำเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มอันธพาลที่รัฐบาลจัดตั้งยิงและทุบตีทำร้ายนักศึกษาประชาชนจนเสียชีวิต 41 ราย ฝ่ายตำรวจและกลุ่มขวาจัดเสียชีวิต 5 ราย (ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544) นี่ไม่ใช่แค่โศกนาฏกรรม มันคือการสูญเสียโอกาสที่จะปฏิรูปประเทศไทยครั้งสำคัญ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคมเป็นเสมือนเส้นแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเส้นหนึ่ง การศึกษาประวัติศาสตร์ วิธีการตีความและวิธีการเขียนประวัติศาสตร์ ของนักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง 14 ตุลาคม ได้เปลี่ยนจากแนวทางประวัติศาสตร์ที่จารีตนิยมเป็นประวัติศาสตร์ทางสังคมที่นับว่าประชาชนมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผลกระทบของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 | วิทยากร เชียงกูล

แม้ว่าถ้าวัดในเชิงปริมาณ ครูสอนประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ที่เล่าประวัติศาสตร์ในแง่พงศาวดารแบบเก่ายังคงมีมากกว่าและคงเป็นฝ่ายครอบงำระบบการสอนประวัติศาสตร์ทั้งในสถาบันการศึกษา และในระบบการศึกษานอกโรงเรียนตั้งแต่หลัง 6 ตุลาคม 2519 (การที่ชนชั้นนำฝ่ายขวาปราบปรามขบวนการนักศึกษาครั้งใหญ่) มาจนถึงปัจจุบันอยู่ก็ตาม

กล่าวโดยภาพใหญ่แล้ว สังคมไทยหลัง 14 ตุลาคม 2516 มีทิศทางของการศึกษาและตีความประวัติศาสตร์ต่อแนวก้าวหน้าที่ชนชั้นผู้ปกครองไม่อาจปิดกั้นได้โดยสิ้นเชิงเหมือนในยุคเผด็จการทหารสฤษดิ์-ถนอมในช่วง 15 ปี ก่อนหน้านั้นอีกต่อไป  

หลังการรัฐประหาร ๖ ตุลาคม  ๒๕๑๙ รัฐบาลขวาจัดที่งมงายที่สุดก็อยู่ไม่ได้นาน กลุ่มทหารที่ขวาน้อยกว่า ยึดอำนาจและพยายายามสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบ เพื่อให้ทุนต่างชาติและคนชั้นกลางในระบอบทุนนิยมสมัยใหม่รับได้ 

ในรอบ๕๐ปีหลังปี ๒๕๑๖  แม้จะมีความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นผู้ปกครองและการรัฐประหารหลายครั้ง  แต่พวกเขาก็พยายามประนีประนอม นำเอาประชาธิปไตยแบบทุนนิยมกลับมาใช้อยู่เสมอ

นี่เป็นผลพวงจากเหตุการ์ณ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และการเติบใหญ่ของเศรษฐกิจทุนนิยมและชนชั้นกลาง  แม้ว่ารัฐบาลที่ผลัดกันขึ้นมาจะเป็นรัฐบาลฝ่ายขวาที่จารีตนิยมทางการเมืองและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจแบบเข้าข้างนายุทุนใหญ่  แต่พวกเขาไม่สมารถกลับไปเป็นเผด็จการทหารยุคโบราณแบบจอมพลสฤษด์-ถนอมได้อีกต่อไป

สิ่งที่ยังขาดหายไปคือขบวนการนักศึกษาประชาชน ไม่ได้เข้มแข็ง  เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากเหมือนยุคก่อน 

มีกลุ่มนักศึกษาฝ่ายค้านรัฐบาลทหารและแนวคิดจารีตนิยมขวาจัดอยู่บ้าง แต่มักเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ล้ำหน้าและสร้างแนวร่วมหรือพันธมิตรกับประชาชนส่วนใหญ่ได้น้อย

กลุ่มประชาชนที่ต่อสู้เรื่องทรัพยากรในพื้นที่ของตนก็มีหลายกลุ่ม  แต่กระจัดกระจาย และไม่ไดรับการหนุนช่วยจากขบวนการนักศึกษาประชาชนมากเท่ากับยุค ๑๔ ตุลา ๑๖ ถึง ๖ ตุลา ๑๙ 

ปัญหาหนึ่งคือประชาชน (รวมทั้งนักศึกษาปัญญาชนด้วย) ส่วนหนึ่งถูกชนชั้นผู้ปกครองดึงไปเข้าข้าง เป็นฝ่ายเสื้อเหลืองและ เสื้อแดง ทำให้ประชาชนขัดแย้งกันเอง แทนที่จะร่วมมือกันในหมู่ภาคประชาชนด้วยกัน และคัดค้านวิพากษ์วิจาร์ณชนชั้นผู้ปกครองที่เอาเปรียบภาคประชาชนอย่างแนบเนียนมากขึ้น.