เช็คโปรไฟล์-คอนเนกชั่นการเมือง 20 ที่ปรึกษา‘เศรษฐา’-สายตรง‘ชินวัตร’
20 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นมือทำงานข้างกายนายกฯ มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ “เศรษฐา” มีโอกาสเลือกเอง แต่มีอีกหลายคนที่ “นายใหญ่-นายหญิง” เลือกใช้ “เศรษฐา” ต้องติดตามว่าบทบาท “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” ใครจะโดดเด่นกว่ากัน
ตั้งแต่นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ เศรษฐา ทวีสิน แต่งตั้งที่ปรึกษา 20 คน มีทั้งเป็นข้าราชการการเมือง 5 ตำแหน่ง ผู้แทนการค้า 2 ตำแหน่ง และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการการเมืองอีก 13 ตำแหน่ง
โดยบางคนแต่งตั้งเพื่อขอรับคำปรึกษาอย่างจริงจัง บางคนแต่งตั้งเพื่อต่างตอบแทน บางคนแต่งตั้งตามคำขอของพรรคร่วมรัฐบาล แม้ว่าจะด้วยเหตุผลใดบุคคลที่มีตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ติดสอยห้อยท้าย ย่อมมีบาทบาทในทางการเมือง
กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมโปรไฟล์และคอนเนกชั่น 20 ที่ปรึกษาข้างกาย “เศรษฐา” เพื่อสะท้อนภาพทางการเมือง เพราะการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง มักจะมีนัยแฝงอยู่เสมอ
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่เป็นข้าราชการการเมือง ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง 72,660 บาท ได้แก่
1. ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดย “ยุทธพงศ์” พ่ายแพ้การเลือกตั้ง สส.มหาสารคาม ทำให้ชวดเก้าอี้รัฐมนตรี ทั้งที่ก่อนการเลือกตั้งถูกจัดวางให้เป็นตัวเต็ง
มีกระแสข่าวว่า “ยุทธพงศ์” มีซุ้ม สส. ของตัวเองที่ดูแลกันก่อนการเลือกตั้งหลัก 10 เสียง แต่เมื่อหัวหน้าพ่ายศึก บรรดาลูกน้องกระจัดกระจาย ส่งผลให้ “ยุทธพงศ์” ไม่มีแรงสนับสนุนมากพอให้นั่งเก้าอี้เสนาบดี ผลสุดท้ายได้รับการตอบแทนด้วยการแต่งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
2. ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย อดีตรมว.ยุติธรรม ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. หลังมีการประกาศกฎอัยการ “ชัยเกษม” ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ในการร่วมเจรจาหาทางออกวิกฤตการณ์ทางการเมือง ก่อนจะโดนรัฐประหาร
3. พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
4. พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยดำรงตำแหน่งรมช.คลัง ยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ตัวของ “พิชัย” พยายามเข้ามามีบทบาทภายในพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ค่อยมีขุมกำลัง สส. ทำให้ต้องใช้ทุนส่วนตัว เพื่อให้ได้รับตำแหน่งทางการเมือง
5. สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตรมช.พาณิชย์ ยุครัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เจ้าของศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ซึ่งเคยเปิดพื้นที่ภายในห้างให้ “กลุ่มนปช.” ตั้งสถานีโทรทัศน์ และรับรู้กันดีว่าถูกใช้เป็นฐานบัญชาการของ “กลุ่มคนเสื้อแดง”
โดย “สงคราม” มีฐานการเมืองอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาต้องพ่ายแพ้ให้กับกระแส “สีส้ม” ของพรรคก้าวไกล
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองและได้รับเงินเดือนเช่นเดียวกัน มี 2 ตำแหน่ง
1. นลินี ทวีสิน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เคยเป็นผู้แทนการค้าไทย 3 สมัย เข้าสู่วงการการเมืองในตำแหน่งที่ปรึกษา มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ในช่วงดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์ อย่างไรก็ตามได้หลังปี 2557 ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย และย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อธรรม ก่อนจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อธรรมในปี พ.ศ.2562
2. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรมช. และอดีตโฆษกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาร่วมงานพรรคพลังประชารัฐ ในทีม “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ก่อนจะแยกตัวออกมา โดยได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้รับบทเหรัญญิก ซึ่งถือตัวละครหลักท่ามกลางความขัดแย้งของ “3 ป.” คนหนึ่ง
สำหรับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ตำแหน่งการเมืองและไม่มีเงินเดือน แต่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการทำงานได้ตามจริง
1. กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรมว.คลัง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สายสัมพันธ์ของ “กิตติรัตน์” และ “เศรษฐา” แนบแน่นกันมาก่อน ที่สำคัญยังได้รับความไว้วางใจจาก “ยิ่งลักษณ์” อีกด้วย
2. เทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมรับว่าการแต่งตั้ง “เทวัญ” เป็นการตอบแทน 2 เสียง สส. ของพรรคชาติพัฒนากล้า ซึ่งไม่ได้รับการตอบแทนเก้าอี้รัฐมนตรี
3. พิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการ กรรมการอิสระ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
4. ศุภนิจ จัยวัฒน์ เพื่อนสนิท “เศรษฐา” และอดีตกรรมการ (กรรมการอิสระ) กรรมการตรวจสอบ และกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
5. พิมล ศรีวิกรม นายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย-อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
6. พิชิต ชื่นบาน ทนายความตระกูลชินวัตร อดีตหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ ก่อนหน้านี้ “พิชิต” อยู่ในลิสต์รายชื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ติดตราบาป “ทนายถุงขนม” จึงต้องยอมถอยมาตั้งหลักก่อน
ยี่ห้อ “พิชิต” ได้รับความไว้วางใจจาก “บ้านจันทร์ส่องหล้า” โดยมีไฟเขียวให้มานั่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี วางบันไดก้าวไปสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีในอนาคต
7. ชลธิศ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป้าไม้ หลานนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลยิ่งลักษณ์
8. นสพ.ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยอาศัยบทบาทนักวิชาการอิสระ ออกมาปกป้องโครงการรับจำนำข้าว และเป็นหนึ่งในพยานคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่เข้าชี้แจงต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
9. สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ อดีต CFO บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน)
10. ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในยุคยิ่งลักษณ์ “ธงทอง” ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานสำคัญหลายงาน
11. ไพฑูร ชุติมากรกุล นายกสมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย
12. อาทิตย์ สุริยาภิวัฒน์ อดีตกรรมการ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และกรรมการบรรษัทภิบาลของ เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จํากัด (มหาชน)
13. พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
ทั้งหมดคือ 20 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นมือทำงานข้างกายนายกฯ มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ “เศรษฐา” มีโอกาสเลือกเอง แต่มีอีกหลายคนที่ “นายใหญ่-นายหญิง” เลือกใช้ “เศรษฐา” ต้องติดตามว่าบทบาท “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” ใครจะโดดเด่นกว่ากัน