50 ปี 14 ตุลา 16 ปฏิรูปประเทศแนว "เสรีนิยม" ที่ก้าวหน้า
50 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการเปลี่ยนแปลงแค่มีประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่นายทุนเป็นใหญ่ มีโครงการประชานิยมแบบแจกเงิน/ให้กู้เงิน ฯลฯ แต่ไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมในเชิงโครงสร้าง
เพราะรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง ยังคงเป็นกลุ่มตัวแทนผลประโยชน์คนรวยที่หัวเก่า จารีตนิยมและอำนาจนิยม ใช้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทุนนิยมผูกขาดที่พึ่งต่างชาติ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความยากจนและปัญหาต่างๆ มากขึ้น
แต่ปัญหาที่แท้จริงถูกซ่อนไว้ด้วยนโยบายประชานิยมและการหลอกให้คนเชื่อในเรื่อง ว่าถ้าเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม (จีดีพี) เจริญเติบโต ทุกคนจะรวยขึ้นได้ในวันหนึ่ง นักธุรกิจการเมืองยุคปัจจุบันรู้วิธีหลอกลวงซ่อนเร้น ครอบงำทางความคิดความรู้ของประชาชนได้เก่งขึ้นด้วย
การเติบโตของเศรษฐกิจแนวทุนนิยม ที่เน้นการหาเงินซื้อสินค้าไปบริโภคสร้างภาพลวงตา หลอกลวงให้ประชาชนเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่รวยได้ (สักวันหนึ่ง) ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบที่นายทุนเรียกว่า “ตลาดเสรี” ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมจำนน ออมชอมกับระบบและการพัฒนาแนวทุนนิยมของทุกรัฐบาล
ในรัฐบาลแต่ละช่วง มีฝ่ายค้านอยู่บ้าง แต่ค้านเพราะเป็นคนละพวก อยากให้พวกตนได้กลับไปเป็นรัฐบาล ไม่ได้ค้านเรื่องนโยบายการพัฒนาประเทศ ประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจว่าพวกนักการเมืองทั้งเหลืองและแดง ต่างมีแนวคิดและผลประโยชน์ร่วมกัน และเขาจะจับมือกันได้ ในสถานการณ์ที่พวกเขาจำเป็นต้องแบ่งปันอำนาจ/ผลประโยชน์ร่วมกัน
ตัวระบบทุนนิยมแบบผูกขาดที่ไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมจริง คนรวยกว่า มือยาวกว่า ได้เปรียบเสมอ คือตัวการในการสร้างปัญหาเศรษฐกิจสังคม
เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน การกดขี่ขูดรีดทางเศรษฐกิจ ความยากจนขาดแคลน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การทำลายทรัพยากรและสภาพแวดล้อม การสร้างปัญหาทางสังคม ฯลฯ เราจึงต้องอ่าน ศึกษา ทำความเข้าใจและคิดหาทางปฏิรูปประเทศทั้งระบบโครงสร้าง ไม่ใช่คิดแค่ไปเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง
การที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจน ได้รับการศึกษาและข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพต่ำ มีความคิดแบบยอมจำนน คิดแต่จะเป็นลูกน้องพึ่งพาผู้มีอำนาจ ผู้สามารถอุปถัมภ์ให้ผลประโยชน์ระยะสั้นแก่พวกตนได้ ทำให้ประชาชนมักจะเลือกนักการเมืองจากพรรคจารีตนิยม ทุนนิยมคล้ายๆ กัน
เราจึงเติบโตทางเศรษฐกิจแบบกลวงๆ แบบกอบโกยและล้างผลาญ ถลุงทรัพยากรเพื่อการเติบโตทางวัตถุ แต่ไม่นำไปสู่การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ช่วยให้คนส่วนใหญ่มีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง (การพัฒนาแบบเป็นธรรม โปร่งใส มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม และยั่งยืน-ลดการทำลายธรรมชาติ/สภาพแวดล้อม)
บทบาทที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนควรจะต้องทำต่อคือ การเผยแพร่ความรู้/จัดตั้ง/พัฒนาประชาชนพลเมืองทั่วไป ให้มีความรู้/จิตสำนึกทางสังคม มีทักษะในการดำรงชีวิตที่มีประสิทธิภาพ
เพื่อทำให้ประชาชนมีพลัง/อำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น สามารถผลักดัน ปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบประมาณที่ก้าวหน้าเป็นธรรม เน้นการพัฒนาคน การจ้างงาน และการใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ การปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพ กระจายทรัพย์สินและรายได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม
การพัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารต่างชาติ มีแต่จะสร้างปัญหา ทางออกคือแนวทางปฏิรูปเศรษกิจสังคมของประเทศแบบเสรีนิยมที่ก้าวหน้า
เน้นความเป็นธรรมโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เปิดเวทีให้มีการถกเถียงอภิปรายกันโดยใช้เหตุผล ข้อมูล หลักฐานเชิงประจักษ์ (อย่างเป็นความจริงตามหลักวิชาการที่เป็นวิทยาศาสตร์) มากกว่าการโจมตีกันด้วยความเชื่อ ความศรัทธา ซึ่งมาจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล
ปัญหาเฉพาะหน้าคือหลีกเลี่ยงความขัดแย้งแบบขาวดำ 2 ขั้วสุดโต่ง และหาทางประนีประนอม ประสานประโยชน์และสร้างสรรค์ที่เน้นการทำให้ภาคประชาชนมีคุณภาพ/ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้มากกว่าที่จะไปหวังพึ่งแนวคิดสุดโต่งทางใดทางหนึ่ง
เราควรจะดูตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ที่เขาแก้ปัญหาในระบบรัฐสภาได้ดีกว่า และพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมมากกว่าไทย เช่น ยุโรปเหนือ ญี่ปุ่น และอื่นๆ พวกเขาเน้นการพัฒนาคน เน้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเรื่องสวัสดิการ สิ่งแวดล้อมและความด้อยพัฒนาด้านต่างๆ ไม่มีความขัดแย้งเรื่องจะเชิดชูหรือจะปฏิรูปเรื่องสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องด้วยเลย
คนรุ่นปัจจุบันต้องต่อสู้ในแนวทางสร้างภาคประชาชนให้รู้เท่าทัน และรู้จักจัดตั้งองค์กรที่เข้มแข็งขึ้น เราจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงเป้าและยั่งยืนกว่า โครงการประเภทแจกเงิน/กระตุ้นการใช้จ่ายให้เศรษฐกิจเติบโตระยะสั้นแบบผิวเผิน แต่ระยะยาวประเทศจะยิ่งเป็นหนี้สิน พึ่งพาทุนต่างชาติ ประชาชน/กำลังเศรษฐกิจในประเทศกลับยิ่งอ่อนแอ มีความสามารถที่จะแข่งขันกลับลดลง
การปฏิรูปการศึกษาให้มีการเรียนการสอนอย่างคุณภาพ ให้คนคิดวิเคราะห์และกระจายอย่างทั่วถึง เป็นธรรม เป็นหนทางที่สำคัญที่สุดที่จะต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ด้านอื่นๆ พร้อมกันไป
การปฏิรูปการศึกษาทั้งในเรื่องการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพของครู การเรียนการสอน ที่เน้นการเข้าใจ คิด วิเคราะห์ ประยุกต์ใช้เป็น (แทนการท่องจำข้อมูล) การบริหารจัดการ การพัฒนาวินัย จิตสำนึก ความเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ และเรื่องอื่นๆ รวมทั้งการให้บริการทางการศึกษาแก่ประชาชน (ทั้งนักเรียน นักศึกษา และผู้ใหญ่) ทั้งประเทศอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง เป็นธรรม
รวมทั้งต้องปฏิรูปในด้านอุปนิสัยใจคอ ความคิดอ่าน จิตสำนึกของพลเมืองที่รับผิดชอบ ที่มุ่งทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ช่วยให้ประชาชนเข้าใจว่าเรื่องส่วนตนกับเรื่องส่วนรวมเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกัน เราทุกคนต้องช่วยกันพัฒนาส่วนรวมให้ดี ปัจเจกชนแต่ละคนจึงจะพัฒนาไปได้ดีด้วยได้
นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่ดีกว่าระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบผูกขาด คือ ระบบเศรษฐกิจแบบผสม ระหว่างระบบตลาดที่ต้องมีการจัดการดูแลให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และระบบสังคมนิยมแบบเสรีประชาธิปไตย แบบกระจายอำนาจ ทรัพยากร ให้ชุมชน สหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค ผู้ผลิตขนาดย่อม ฯลฯ เป็นผู้ดำเนินและสามารถแข่งขันกับธุรกิจใหญ่ได้
ปฏิรูประบบเก็บภาษีและการจัดสรรงบประมาณอย่างครอบคลุม เป็นธรรม ในอัตราก้าวหน้า (คนมีทรัพย์สิน/รายได้มากเสียภาษีในอัตราสูงขึ้น) มีการจัดระบบรัฐสวัสดิการ ชุมชน สวัสดิการ บริหารทางสังคมต่างๆ (การสาธารณสุข การศึกษา ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค) ให้ประชาชนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึงเป็นธรรม และอย่างคำนึงถึงการอนุรักษ์/ฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน.