เปิดเกม สนาม‘สว.’ใหม่ ระดมคน ชน‘ฝ่ายการเมือง’
สว.ปัจจุบัน เหลือวาระอีก5เดือนกว่าๆ จากนั้นคือการนับหนึ่งเริ่ม กระบวนการได้มาซึ่ง สว.ใหม่ ตามบทของรธน.60 แม้เวลายังอีกไกล แต่ "ฝ่ายการเมือง" เตรียมระดมคน เพื่อชน และชิงตั๋ว เข้าสภาฯสูงกันแล้ว
สมาชิกวุฒิสภา หรือ “สว.” ชุดปัจจุบัน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) 250 คน เหลือเวลาอีก 5 เดือนกว่าๆ ก่อนจะหมดวาระในวันที่ 10 พ.ค.2567
ตามรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยวุฒิสภา ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ปี 2561 กำหนดกระบวนการให้ได้มาซึ่ง สว.ชุดใหม่ จำนวน 200 คน ตามวิธีการที่เรียกว่า “เลือกกันเอง” ซึ่งเป็นวิธีการที่ออกแบบมาเพื่อสกัด “ผู้มีอิทธิพล-นักการเมือง” ทุกระดับ เข้ามาครอบงำให้สภาสูงกลายเป็น “สภาผัวเมีย” ที่ฝ่ายการเมืองครอบงำ
แม้เวลาของกระบวนการให้ได้มาซึ่ง สว.ชุดใหม่ 200 คน ตามบทถาวรของรัฐธรรรมนูญจะยังอีกไกล แต่ขณะนี้เริ่มพบความเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมตัวของ “ผู้ประสงค์จะลงสมัครเป็น สว.ใหม่” รวมถึง “สว.ปัจจุบัน” ในการลงพื้นที่ภายใต้การจัดกิจกรรม “สว.พบประชาชน” ของ คณะกรรมาธิการ ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (กมธ.ตสร.)
นำโดย “เฉลิมชัย เฟื่องคอน” สว.สายเลือกกันเอง อดีตผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์ ซึ่งล่าสุด ได้ลงพื้นที่ จ.น่าน เปิดเวทีสัมมนาพ่วงอภิปรายเรื่อง “การเตรียมความพร้อมในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว. บทบาท หน้าที่ อำนาจ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการได้มาซึ่ง สว.ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.”
เวทีลักษณะเดียวกันนี้ จัดมาแล้ว 9 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร อุดรธานี ปราจีนบุรี นครราชสีมา สระแก้ว ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง น่าน
ต่อเรื่องนี้ “สว.เฉลิมชัย” บอกว่า เป็นโอกาสที่จะสร้างความรู้และความเข้าใจ ก่อนจะมีกระบวนการได้มาซึ่ง สว.ชุดใหม่ พร้อมยกตัวอย่างสมัยที่เขาสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นสว. ในกลุ่มเลือกกันเอง 50 คน เมื่อปี 2562 ในกลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ไม่มีใครที่ทำแบบนี้
ทั้งที่การจัดเวทีลักษณะนี้ ก่อนจะมีกระบวนการได้มาซึ่งสว. ตามหน้าที่ และอำนาจเป็นของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต. จึงอดสงสัยในเหตุผลไม่ได้ว่า เพื่อหวังผลใดทางการเมืองหรือไม่
ในวง สว.บางกลุ่ม ตั้งข้อสังเกตว่า การออกแบบที่มา สว.ใหม่ อาจหนีไม่พ้นคนพันธุ์เดียวกันกับ “นักการเมือง-ผู้มีอิทธิพล” ในพื้นที่ เพราะรู้ลึกรู้ดีถึงกระบวนการเตรียมการ หาเครือข่าย และให้คนของตัวเองเคลียร์ประวัติทางการเมืองให้พร้อม เตรียมยื่นใบสมัครกันแล้ว
ดังนั้น การชิงจังหวะก้าวผ่านเวทีต่างๆ ของ “สว.” อาจเป็นการสร้างเกมรุก เพื่อตัดหน้าฝ่ายการเมืองที่มีอิทธิพลในพื้นที่ ที่หวังผลให้ “ผู้สืบทอด” ในฝ่ายของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ในสภาสูง และเป็นแรงหนุนฝั่งตัวเองในงานนิติบัญญัติ
แม้ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบที่เกี่ยวข้องจะกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามผู้จะลงสมัครเป็นสว.ชุดใหม่ ไว้อย่างเข้มงวด เพื่อสกัด “ฝ่ายการเมือง-ผู้เกี่ยวข้องในพรรคการเมือง” อาทิ กรรมการบริหารพรรค-ตัวแทนพรรค-ผู้มีตำแหน่งในสาขาพรรค-ผู้ช่วย หรือผู้ปฏิบัติงานให้กับ สส. ส่งลูกน้องของตัวเองเข้ามา หากใบประวัติ ลาออกจากตำแหน่งเหล่านั้นไม่เกิน 5 ปี รวมถึงขีดเงื่อนไข ห้าม “สว.ตามรัฐธรรมนูญ” เข้ามาสมัครอีกตลอดชีวิต
แต่เนื้อความของกฎหมายนั้น ยังมีช่องว่างคือ ไม่ห้าม “สมาชิกพรรค” ที่ไร้บทบาทนำในพรรค ซึ่งลาออกก่อนวันสมัครเพียงวันเดียว ยื่นใบสมัคร รวมถึงผู้ช่วย หรือผู้ปฏิบัติงานของ สว.ยื่นใบสมัคร
อย่างไรก็ดี “สว.เฉลิมชัย” ปฏิเสธว่า การทำเวทีของ สว.รอบนี้ คือการปูทางส่งทายาทการเมืองเข้าไปสืบทอดในสภาฯ เพราะตามเงื่อนไขและกติกาเลือกกันเองของ “สว.ใหม่” ที่แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ อำเภอ จังหวัด ประเทศ และพ่วงกับวิธีเลือกไขว้สลับสายกัน ในแต่ละระดับ จึงมั่นใจว่าจะปลอดภัยจากระบบ “อิทธิการเมือง” หรือ “บ้านใหญ่” ของแต่ละจังหวัด หรือแม้จะมี ก็ถูกจำกัดโควตา
เพราะในบรรดา 20 กลุ่ม ที่กำหนดสเปกผู้สมัคร สว. จะมีตัวแทนแต่ละกลุ่มเข้ามา อย่างมากไม่เกิน 10 คนเท่านั้น ดังนั้น การสร้างก๊วนหรือกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองหลังจากนั้น อาจเป็นไปได้ยาก
“ผมเชื่อว่านักการเมืองจะแฝงคนของตัวเอง เพื่อลงสมัครเป็น สว.ได้ยาก เพราะระบบถูกออกแบบให้ยากต่อการล็อบบี้ อีกทั้งผู้สมัครสว.ใหม่ ไม่สามารถหาเสียงได้ เพียงแค่มีเอกสารแนะนำตัว ประวัติการศึกษา ผลงานการทำงานเท่านั้น แม้จะผ่านการเลือกแบบกลุ่มมาได้ ต้องมาเจอการเลือกไขว้ของกลุ่มอื่นอีก ดังนั้นที่กังวลว่าจะมีคนของนักการเมืองเข้ามา คงยาก”สว.เฉลิมชัย ระบุ
ส่วนกรณีที่ได้ สว.ใหม่แล้ว กลไกการได้มา จะป้องกันการถูกบอนไซ หรือถูกซื้อตัวภายหลังจากฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ “สว.เฉลิมชัย” บอกว่า “ไม่มั่นใจ แต่หากจะซื้อ ก็ซื้อได้อยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าบทบาทของสว.ใหม่ ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ หรือติดตามการปฏิรูปเหมือนปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นแค่สภากลั่นกรอง และเลือกกรรมการในองค์กรอิสระเท่านั้น”
ขณะที่ในเวทีเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมเลือก สว.ใหม่ “สว.เฉลิมชัย”บอกว่า ตั้งใจจัดให้ได้ครึ่งประเทศ กระจายทุกภูมิภาค โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นพื้นที่ฐานการเมืองของพรรคใด ภายในระยะเวลาที่ สว.ปัจจุบันจะหมดวาระ
พร้อมยอมรับด้วยว่า ในเวทีที่จัด มีผู้สนใจลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ไม่พลาดจะเข้ารับฟัง แม้จะไม่ได้เข้าร่วมในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของตนเอง แต่ยังตามไปร่วมเวทีในจังหวัดใกล้เคียงมาแล้ว
ความเคลื่อนไหวของ “สว.” ที่สร้างเกมรุก ก่อนวาระจะหมด เพื่อดันการตื่นรู้ ถึงการเลือกสว.ชุดใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพื่อสร้างแนวรบกับ “ฝ่ายการเมือง-กลุ่มการเมือง” ที่หวังจะส่งคนในเครือข่ายเข้าชิงชัย
หากสร้างการตื่นรู้ เพื่อเกณฑ์คนสมัครในแต่ละกลุ่ม มีจำนวนมากเพียงพอจะมีโอกาสชนะ นั่นหมายความว่าจะตัดโอกาสฝ่ายตรงข้าม และอาจได้สิทธิคว้า “ตั๋ว” เข้าสู่สภาสูง และวงจรการเมืองที่มีผลประโยชน์มหาศาล.