ครม.สัญจร 'อีสานตอนบน' ซอฟต์พาวเวอร์ การเมืองชิงมวลชน
การยึดโมเดล ครม.สัญจร ด้วยการกระจายตามภูมิภาค ในทางการเมือง จึงถือเป็นการเดินเกมรุกชิงมวลชนของเพื่อไทย ที่กำลังถูกพรรคคู่แข่งเบียดแทรกกินแดนท้องถิ่นเข้ามาเรื่อยๆ
ครม.สัญจรครั้งแรกของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ประเดิมในภาคอีสานตอนบน เริ่มต้นที่ จ.หนองบัวลำภู โดยมีคิวนายกฯ และรัฐมนตรี ยกขบวนตรวจราชการในพื้นที่อุดรธานี และเมืองเลย
แนวคิดจัดประชุม ครม.นอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร เป็นภาพจำที่ริเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศในปี 2548 โดยกำหนดให้ประชุม ครม.สัญจร 12 เดือนต่อครั้ง ต่อมาในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงขั้นมอบหมายผู้รับผิดชอบวางแผน ครม.สัญจร สร้างอีเวนต์ใหญ่ทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน
หากย้อนรอย รัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งเคยทำ“อาจสามารถโมเดล” เรียลลิตี้แก้จนอันเลื่องชื่อเมื่อต้นปี 2549 ได้กลายเป็นภาพจำ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลบวกต่อฐานเสียงการเมืองของรัฐบาล ผ่านกิจกรรมที่ผู้นำประเทศ รัฐมนตรี สส.ตั้งแต่การเมืองระดับชาติ ไปถึงการเมืองท้องถิ่น ได้ลุยทำงานติดดินถึงพื้นที่
รัฐบาลทักษิณ จนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ล้วนเคยมีมติ ครม.ตั้งแต่ บนโบกี้รถไฟ ล่องเรือรบหลวงสัญจรเกาะช้าง ประชุมบนเครื่องบิน หรือแม้แต่ถ่ายทอดสดเรียลลิตีโชว์ ประชุมกับชาวบ้านให้เห็นมาแล้ว
รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เคยประสบความสำเร็จด้วยนโยบายประชานิยมที่กระจายไปยังท้องถิ่น และความใกล้ชิดชาวบ้านในต่างจังหวัด โดยเฉพาะอีสานและเหนือ จนกลายเป็นฐานเสียงสำคัญของไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย ในยุคนี้
จึงไม่แปลกที่ ครม.สัญจรจะถูกปัดฝุ่นกลับมาใช้เมื่อเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล ที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้นายกฯเศรษฐา และรัฐบาล
จึงถือว่าได้ผลงานทั้งการบริหาร และพีอาร์ อีกทั้งในทางการเมือง ย่อมมีผลต่อฐานคะแนนนิยมในภูมิภาค
การยึดโมเดล ครม.สัญจร ด้วยการกระจายตามภูมิภาคเช่นนี้ ในทางการเมือง จึงถือเป็นการเดินเกมรุกชิงมวลชนของเพื่อไทย ที่กำลังถูกพรรคคู่แข่ง เบียดแทรกกินแดนท้องถิ่นเข้ามาเรื่อยๆ
รัฐบาลเศรษฐา ทำไมต้องปักหมุด “หนองบัวลำภู”เป็นจังหวัดแรก ต้องไม่ลืมว่า จ.หนองบัวลำภู ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของ“พรรคเพื่อไทย”และยังเป็นจังหวัดที่ติดอันดับความยากจนอันดับต้นของประเทศไทย
หนองบัวลำภู“โมเดลแก้ไขความยากจน”ได้ถูกหยิบมาพูดคุยกันนอกรอบ ระหว่างรัฐมนตรีภาคอีสาน “ไชยา พรหมา” รมช.เกษตรฯ และ“มนพร เจริญศรี ”รมช.คมนาคม กับ“นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช”เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก่อนที่นายกฯ จะลงพื้นที่ โดยมีข้อหารือว่า จะทำอย่างไรให้ จ.หนองบัวลำภู เป็นอีกจังหวัด ที่ต้องเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้ได้
“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แกนนำเพื่อไทย เคยระบุระหว่างติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภูว่า นายกฯ ให้ความสำคัญและให้ความสนใจหนองบัวลำภูเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวประชากรน้อยเป็นลำดับที่ 76 ของประเทศ หรือเป็นอันดับเกือบสุดท้ายของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนชาว จ.หนองบัวลำภูให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาความยากจน
นายกฯ จึงมีดำริจัดการประชุม ครม.สัญจรเป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ที่ จ.หนองบัวลำภู และทราบว่า จ.หนองบัวลำภู มีภูมิปัญญาและมีชื่อเสียงด้านการทอผ้า การออกแบบและการตัดเย็บที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและต่างประเทศ จัดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ถ้าใช้ภูมิปัญญาการทอผ้าของคนหนองบัวลำภู ก็จะทำให้การทอผ้านี้ สร้างชื่อเสียงให้กับคนหนองบัวลำภู และจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับจังหวัดได้
ล่าสุด ภูมิธรรม พร้อมด้วยนายกองเอก สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ที่ปรึกษารองนายกฯ ระบุถึงภารกิจในการประชุม ครม.สัญจร ครั้งนี้ว่า มีประเด็นสำคัญที่จะมีการนำเสนอเข้าสู่การประชุม ครม. ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ 5 จังหวัด หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เลย ดังนี้
1.การขอขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายให้ครอบคลุมถึงเขตนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เพื่อให้ผู้ประกอบการในนิคมฯอุดรธานี ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
2. การส่งเสริม Logistics Park ในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้เป็น One Stop Service (OSS)
3. การจัดตั้งเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี (E-commerce)
4. การประกาศเขตพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้เป็น เขตศุลกากร
อีกทั้ง การผนวกหนองคายและอุดรธานี อยู่ร่วมกันในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นการผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งในการเป็นประตูมังกร ที่มีศักยภาพในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน
ขณะเดียวกัน ในมิติการเมือง หนองบัวลำภูเป็นจังหวัดที่พรรคเพื่อไทย กวาด 3 ที่นั่งยกจังหวัด ในการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา เขต 1 สยาม หัตถสงเคราะห์เขต 2ไชยา พรหมาและเขต 3 ณพล เชยคำแหง
และ “ไชยา พรหมา” สส.9 สมัย ประกาศตัวทันทีว่า จะได้เป็นรัฐมนตรีคนแรกของจังหวัดนี้ กระทั่ง ไชยา พรหมา ก็ได้เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในโควตา สส.อีสาน เพื่อไทยในที่สุด
หากย้อนไปในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ สมรภูมิหนองบัวลำภู เขต 3 กลายเป็นศึกคนกันเอง ระหว่างเพื่อไทยกับไทยสร้างไทย
อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ต้องมาเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่ตลาดนัดเก้าค่ำ ต.กุดดินจี่ อ.นากลาง
ถัดมา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เปิดปราศรัยใหญ่ที่ ต.นากลาง อ.นากลาง สุดท้ายเพื่อไทยชนะไทยสร้างไทยขาดลอย
สำหรับการประชุม ครม.สัญจรอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 1 ที่ จ.หนองบัวลำภู ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค. 2566 ซึ่ง “ไชยา พรหมา” รมช.เกษตรฯ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเจ้าบ้าน ได้เตรียมการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่
ไม่เพียงแต่ ไชยา พรหมา สยาม หัตถสงเคราะห์ และ ณพล เชยกำแหง 3 สส.เพื่อไทย ที่จะตื่นเต้นกับ ครม.สัญจรครั้งแรกที่หนองบัวลำภู วุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ นายก อบจ.หนองบัวลำภู ก็เตรียมต้อนรับ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ที่จะลงมาตรวจสภาพถนนที่เสียหายเพราะน้ำท่วม ทาง อบจ.หนองบัวลำภู ก็จะของบฯมาซ่อมแซมถนนสายดังกล่าว
วุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ เคยลงสมัคร สส.หนองบัวลำภู เมื่อปี 2562 ในนามพรรคภูมิใจไทย แต่แพ้เพื่อไทย จึงหันมาลงสมัครนายก อบจ.ในนามกลุ่มรักษ์หนองบัว เนื่องจาก นพ.ศราวุธ สันตินันตรักษ์ อดีตนายก อบจ.หนองบัวลำภู 2 สมัย และแกนนำกลุ่มรักษ์หนองบัว วางมือทางการเมือง จึงส่งต่อให้วุฒิพงษ์ลงแทน
กลุ่มรักษ์หนองบัว จึงเป็นศูนย์รวมนักการเมืองท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับชาติหลายพรรค ฉะนั้น สนามเลือกตั้งหนองบัวลำภู ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ ที่ ครม.ยกทัพมาสัญจร จึงไม่อาจมองข้ามได้
ที่สำคัญ ครม.สัญจร ตามรอยผลงาน ครม.ทักษิณ ครม.ยิ่งลักษณ์ จึงเป็นโจทย์ที่ ครม.เศรษฐา ต้องสานต่ออนาคตทางการเมืองของพรรค และรักษาเก้าอี้นายกฯให้อยู่กับเพื่อไทยต่อไป