‘ประชาธิปัตย์’ย้ำจุดยืนแก้รธน.-ชงแก้ม.256ตัด สว. ออกใช้เสียงสภา
‘ประชาธิปัตย์’ย้ำจุดยืนแก้รธน.-ชงแก้ม.256ตัด สว. ออกใช้เสียงสภา ยันไม่เตะหมวด 1-2 ย้อนทุกฝ่ายพร้อมผลักดันยกเว้นรัฐบาล
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยเนื่องใน วันรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอร่วมระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ดังนั้น ในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีถือว่ามีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ในส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การระลึกถึงวันสำคัญก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่า สิ่งสำคัญที่มีจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันคือการผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง
ขณะนี้อุปสรรคในการขอแก้รัฐธรรมนูญก็ยังมีอยู่ จึงทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จสู่เป้าหมายได้ พรรคประชาธิปัตย์นั้น มีเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหัวใจสำคัญของการนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น คือการแก้มาตรา 256 เพื่อให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น โดยตัดสัดส่วนของ สว.ให้เหมาะสม แล้วใช้เสียงส่วนใหญ่จากสภา เพราะหากกำหนดให้ สว. เห็นชอบด้วยในวาระที่ 1 และที่ 3 เป็นจำนวน 1ใน 3 ทำให้ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นจำนวนมากถึง 84 คน จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญได้
ดังนั้นการแก้มาตรา 256 จึงมีความสำคัญมากและในส่วนของพรรคหลักการยังเป็นเช่นเดิม และมีหลักการชัดว่าไม่ว่าจะมีการยกร่างใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องไม่แตะ หมวด 1 กับ หมวด 2 ที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ คือ กำหนดให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ทั้งสองหมวดนี้ เป็นจุดยืนพรรคเพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง
นายราเมศ ยังกล่าวอีกว่า ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากสิทธิของประชาชนลดน้อยถอยลงแล้ว ที่กล่าวอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงก็ไม่เป็นความจริง เพราะกระบวนการที่เป็นหลักการพื้นฐานในการป้องกันการทุจริตไม่ได้มีหลักประกันไว้ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดพรรคประชาธิปัตย์ได้มองเห็นถึงปัญหาเหล่านี้มานาน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงเป็นที่มาที่พรรคไม่ได้รับรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการลงประชามติ บังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ พรรคก็ยอมรับกติกา แต่ก็ได้ตั้งความหวังว่าจะมีการแก้ไขในวันข้างหน้า
โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิของประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม สิทธิ์ในที่ดินทำกิน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นการป้องกันและปราบปรามทุจริตจะต้องมีกระบวนการที่ป้องกันการทุจริตจริงๆ ไม่ใช่เปิดช่องให้สมยอมกัน รวมถึงประเด็น อำนาจ ส.ว. ด้วยซึ่งทุกเรื่องล้วนเป็นสาระสำคัญที่จะต้องมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในการตั้งต้นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
นายราเมศกล่าวตอนท้ายว่า ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้น ก็ต้องย้อนถามนายกรัฐมนตรีว่า ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันนั้นความหมายคือ ยกเว้นรัฐบาลที่ยังไม่พร้อมใช่หรือไม่ เพราะคำพูดล้วนแล้วแต่สวนทางกับข้อเท็จจริงที่ประชาชนมองออกมาว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจต่อกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด